×

EIC หั่นคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้เหลือ 2.7% พร้อมมองพิษสงครามรัสเซีย-ยูเครนกดดันเงินเฟ้อพุ่ง 4.9% สูงสุดรอบ 14 ปี

29.03.2022
  • LOADING...
EIC หั่นคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้เหลือ 2.7% พร้อมมองพิษสงครามรัสเซีย-ยูเครนกดดันเงินเฟ้อพุ่ง 4.9% สูงสุดรอบ 14 ปี

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 เติบโตที่ 2.7% จากเดิม 3.2% จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงานและเงินเฟ้อเร่งตัว กระทบกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ส่งผลให้การกลับไปสู่ระดับ GDP รายปีก่อนเกิดโควิดของไทยล่าช้าเป็นครึ่งหลังของปีหน้า

 

ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า ผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเฉลี่ยทั้งปีจะเร่งตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 14 ปี ที่ระดับ 4.9% ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศจะฟื้นตัวในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่ประมาณการไว้เดิม

 

โดยเฉพาะการบริโภคที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบทั้งจากกำลังซื้อของครัวเรือนที่ลดลงตามราคาพลังงานและอาหารที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น และจากการฟื้นตัวของค่าจ้างแรงงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ไม่ทันค่าครองชีพ 

 

สำหรับภาคการส่งออกสินค้าประเมินว่าจะได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนผ่านแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะยุโรปที่ชะลอลงกว่าคาดและปัญหาการชะงักงันของอุปทาน (Supply Disruption) ที่รุนแรงขึ้น ในภาพรวมมูลค่าการส่งออกยังขยายตัวได้ที่ 6.1% ในปีนี้ แต่เป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นตามต้นทุน โดยเฉพาะในหมวดพลังงานมากกว่าการเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณ 

 

ส่วนภาคการท่องเที่ยวมองว่ามาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวของภาครัฐที่ผ่อนคลายขึ้นเป็นลำดับ ประกอบกับการทยอยเปิดการเดินทางของหลายประเทศในแถบเอเชีย จะช่วยชดเชยการชะลอลงของนักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรปที่ถูกกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตลอดจนผลกระทบจากต้นทุนการเดินทางที่เพิ่มขึ้นได้บางส่วน ส่งผลให้ในปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยราว 5.7 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากประมาณการเดิมที่ 5.9 ล้านคน

 

ด้านตลาดแรงงาน การฟื้นตัวของภาคบริการตามทิศทางการเปิดเมืองจะส่งผลให้การจ้างงานในประเทศทยอยฟื้นตัว แต่ตลาดแรงงานไทยยังคงมีความเปราะบางจากชั่วโมงการทำงานที่ลดต่ำลงมาก การไหลกลับของแรงงานไปในภาคเกษตรและแนวโน้มการทำงานอิสระที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้เกิดทั้งปัญหาระยะสั้นจากรายได้จากการทำงานลดต่ำกว่าเดิมค่อนข้างมากและปัญหาระยะยาวจากจำนวนผู้ว่างงานระยะยาวที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการและการปรับทักษะของแรงงานลดลง

 

โดยคาดว่าผู้ประกอบการจะยังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวและปัญหาแรงงานไทยเดินทางกลับภูมิลำเนา ส่งผลให้ธุรกิจโดยเฉพาะในหมวดก่อสร้างและโรงแรมที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมืองใหญ่ประสบปัญหาการหาแรงงานและมีต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมฐานะทางการเงินของธุรกิจ SMEs ให้เปราะบางมากขึ้น จากแนวโน้มดังกล่าวจะทำให้ค่าจ้างจากการทำงานจะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างช้าๆ ไม่เพียงพอต่อการชดเชยค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่รายได้ที่แท้จริง (หักเงินเฟ้อ) ของแรงงานโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครปรับลดลงกว่า 10%

 

“ตัวเลขข้างต้นเป็นสมมติฐานในกรณี Base Case ของเราที่มองว่าสถานการณ์สู้รบในยูเครนจะยุติได้ในราว 3-6 เดือน แต่ในกรณี Worst Case ที่เหตุการณ์สู้รบบานปลายและรัสเซียมีการตอบโต้ด้วยการหยุดส่งพลังงานให้ยุโรปผลกระทบก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น โดย GDP อาจขยายตัวได้เพียง 1.3% และเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นเป็น 6.3%” ยรรยงกล่าว

 

ยรรยงกล่าวอีกว่า ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นตามทิศทางราคาพลังงานโลกจะส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายของครัวเรือนที่ยังคงเผชิญปัญหาแผลเป็นทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านรายได้ครัวเรือนจากตลาดแรงงานที่ซบเซาและภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ภาครัฐจึงยังควรมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบของครัวเรือนโดยเฉพาะในกลุ่มรายได้น้อย 

 

อย่างไรก็ตาม EIC มองว่าการขาดดุลงบประมาณและสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดย EIC มองว่านโยบายการตรึงราคาน้ำมันดีเซลแบบหน้ากระดานเช่นในช่วงที่ผ่านมามีผลเสียที่ไม่ตั้งใจอย่างน้อย 3 มิติ คือ

 

  1. เงินอุดหนุนส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกใช้เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของผู้มีรายได้น้อย เพราะผู้ได้รับประโยชน์หลักคือครัวเรือนที่มีรายได้สูง เนื่องจากเป็นผู้ใช้พลังงานในปริมาณมากกว่า โดยกลุ่มครัวเรือนรายได้สูง 20% แรกได้รับประโยชน์ในเชิงเม็ดเงินจากมาตรการนี้มากถึง 9.6 เท่า เทียบกับกลุ่มรายได้น้อย 20% ล่างสุด

 

  1. การตรึงราคาพลังงานที่ระดับใดระดับหนึ่งนานเกินไปทำให้บัญชีเดินสะพัดขาดดุลมาก เป็นภาระด้านงบประมาณที่สูง ไม่ยั่งยืน และสร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจหากภาครัฐจำเป็นต้องยกเลิกอุดหนุนโดยฉับพลัน ส่งผลให้ราคาพลังงานต้องปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้เศรษฐกิจชะงักงันได้

 

  1. ในระยะยาวการอุดหนุนราคาพลังงานฟอสซิลที่ไม่สะท้อนต้นทุนต่อเนื่องเป็นเวลานานจะส่งผลให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ต่ำและการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลมากเกินไป

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ภาครัฐจึงควรปรับเปลี่ยนมาตรการดังนี้ 

 

  1. การบริหารราคาพลังงานในลักษณะ Managed Float คือการทยอยปรับขึ้นราคาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ฝืนทิศทางของราคาในตลาด เพื่อให้เวลาผู้บริโภคในการปรับตัว

 

  1. เสริมด้วยมาตรการการอุดหนุนเฉพาะจุดแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มธุรกิจขนส่งสาธารณะ เพื่อลดผลกระทบและความเดือดร้อนอย่างตรงจุด

 

  1. การสร้างแรงจูงใจแก่ภาคเอกชนในการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นและยกระดับเสถียรภาพของระบบพลังงานในระยะยาว 

 

สำหรับภาคการเงิน EIC ประเมินว่า แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มสูงขึ้นเกินกรอบนโยบายการเงินที่ 1-3% ในปีนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมที่ 0.5% ตลอดปีนี้ เนื่องจาก 

 

  1. กนง. จะยังให้ความสำคัญกับเป้าหมายการประคับประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางมากกว่าเป้าหมายอื่น

 

  1. เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นส่วนใหญ่ และมีแนวโน้มปรับลดลงในปีหน้า

 

  1. การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันจะเพิ่มภาระการชำระหนี้ให้กับภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs จนอาจทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มสูงขึ้นมากจนกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน 

 

ขณะที่ค่าเงินบาทจะผันผวนในทิศทางอ่อนค่าในช่วงครึ่งปีแรกจากผลกระทบของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักก่อนจะกลับมาแข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อยมาอยู่ในระดับ 32.5-33.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปี จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะปรับตัวดีขึ้นตามภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น

 

ยรรยงระบุว่า ในภาพรวมอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นเร็วและจะยืนอยู่ในระดับสูงตลอดช่วงปีนี้ท่ามกลางข้อจำกัดด้านมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิม จะส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างช้าๆ โดยระดับ GDP รายปีจะยังไม่กลับไปเท่าระดับของปี 2562 จนกระทั่งช่วงครึ่งหลังของปี 2566

 

นอกจากนั้นเศรษฐกิจไทยจะยังเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้แก่

 

  1. ราคาน้ำมันที่อาจเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงยาวนานกว่าคาดจากปัจจัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนอาจทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซาคู่กับเงินเฟ้อสูง (Stagflation) ที่รุนแรงและเนิ่นนานขึ้น

 

  1. การชะงักงันของอุปทานในภาคการผลิตและขนส่ง ทั้งจากนโยบาย Zero Covid ของจีน และมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย อาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอมากกว่าคาด กระทบต่อการส่งออกของไทย

 

  1. การดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางหลักของโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่อาจทำให้ภาวะการเงินโลกตึงตัวและผันผวนมากขึ้น

 

  1. การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศล่าช้าจากผลกระทบของสงครามและการระบาดโควิดรอบใหม่

 

  1. ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่ถูกซ้ำเติมจากผลกระทบด้านค่าครองชีพที่สูงขึ้น จนอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนในวงกว้าง

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X