×

กรมอนามัยจับมือภาคีลดมลพิษทางอากาศ จัดงานวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมลดมลพิษ

01.07.2019
  • LOADING...

วันนี้ (1 ก.ค. 2562) แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2562 ว่า กรมอนามัยร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์, กรมควบคุมมลพิษ, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, สมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย และสมาคมอนามัยแห่งประเทศไทย ได้จัดประชุมวันอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ปี 2562  ซึ่งตรงกับวันที่ 4 กรกฎาคม ภายใต้แนวคิด ‘อากาศดี สุขภาพดี ด้วยพลังภาคีทุกภาคส่วน’ 

 

โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนร่วมการลดมลพิษทางอากาศ เนื่องจากสถานการณ์มลพิษทางอากาศในประเทศไทยปี 2561 ที่พบว่า สถานการณ์คุณภาพอากาศในภาพรวมมีแนวโน้มทรงตัว แต่ยังพบสารมลพิษเกินมาตรฐานในบางตัว โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM10-PM2.5), ก๊าซโอโซน และก๊าซเบนซีน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่น เขตอุตสาหกรรม และพื้นที่มีการเผาในที่โล่งได้แก่ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล, เขตควบคุมมลพิษหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี, เขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด และบริเวณใกล้เคียงจังหวัดระยอง และพื้นที่วิกฤตหมอกควันใน 9 จังหวัดภาคเหนือ

 

นอกจากนี้ สถานการณ์คุณภาพอากาศภายในอาคารจากการใช้เชื้อเพลิงไม่สะอาด เช่น ฟืน ถ่านไม้ และน้ำมันก๊าด เพื่อปรุงอาหาร และสร้างความอบอุ่นแก่ร่างกาย โดยสถานการณ์ในประเทศไทยพบว่า 17.9 % ยังมีการใช้เชื้อเพลิงไม่สะอาดในการปรุงและประกอบอาหาร โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งอาจปล่อยมลพิษที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ 

 

ทั้งนี้ ปัญหาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อสุขภาพเป็นประเด็นที่ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ โดยเฉพาะสถานการณ์มลพิษทางอากาศและสุขภาพ เป็นประเด็นเร่งด่วนในแผนยุทธศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2560-2564 เพื่อป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพ จึงมีความร่วมมือใน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้

 

1. ลดการปล่อยมลพิษที่แหล่งกำเนิด ทางกลไกทางกฎหมายและความร่วมมือแบบสมัครใจ

2. การลดการรับสัมผัสมลพิษทางอากาศ ผ่านการเฝ้าระวัง สื่อสาร แจ้งเตือน และสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสียงผ่านช่องทางต่างๆ

3. การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 

 

รวมถึงการศึกษาวิจัยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญ คือ อัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคอันเนื่องจากมลพิษทางอากาศร้อยละ 10 และบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติของกระทรวงสาธารณสุขระยะ 20 ปี คือ ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน อันจะนำพาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน 

 

“กรมอนามัยจึงจำเป็นต้องวางมาตรการเชิงป้องกันร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาคีด้านสิ่งแวดล้อม, ภาคเกษตร, ภาคขนส่ง, ภาคอุตสาหกรรม, สุขภาพ รวมถึงภาคประชาชน เพื่อช่วยกันลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ และป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวทิ้งท้าย

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X