EGCO คาดผลงานปี 2567 พลิกฟื้นกำไร หลังไม่มีรายพิเศษถ่วง ธุรกิจมีกำไรจากการดำเนินงานต่อเนื่อง มีโรงไฟฟ้าเติมพอร์ตปีนี้อีก 1,000 เมกะวัตต์ ลุ้นรับกำไรพิเศษแบ่งขายโรงไฟฟ้า
เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) เปิดเผยว่า มีขาดทุนสุทธิ 8,384 ล้านบาท สาเหตุหลักจากผลกระทบจากรายการพิเศษขนาดใหญ่จำนวน 16,724 ล้านบาท จากผลกระทบจากการปรับโครงสร้างทางการเงินและการถือหุ้น และการตั้งด้อยค่าจากการก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามแผนของโครงการระหว่างก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งทะเล “หยุนหลิน” ในไต้หวัน
รวมทั้งการตั้งด้อยค่านิยมของโรงไฟฟ้าเคซอน ในประเทศฟิลิปปินส์ จากการสิ้นสุดสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) ของโรงไฟฟ้าเอ็กโก โคเจน และจากการสิ้นสุดเงินอุดหนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ของโรงไฟฟ้าโซลาร์โก
สำหรับโครงการหยุนหลินในไต้หวันซึ่งมีการก่อสร้างที่ล่าช้าจากแผนเดิมประมาณ 2 ปีนับตั้งสถานการณ์โควิดที่แพร่ระบาด ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุม ส่งผลให้ไต้หวันมีมาตรการการควบคุมเข้า-ออกประเทศที่เข้มงวด และปิดประเทศบางช่วง จึงกระทบต่อการเดินทางและการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ก่อสร้างขนาดใหญ่ อีกทั้งมีสภาพภูมิอากาศแบบมรสุมในช่องแคบไต้หวันที่ส่งผลให้มีระยะเวลาที่เหมาะสมแก่การทำงานจำกัด จากสาเหตุทั้งหมดที่กล่าวมาทำให้มีต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้น จึงเป็นที่มาของการตั้งด้อยค่าดังกล่าว
ขณะที่บริษัทได้พยายามเร่งรัดติดตามความก้าวหน้าของโครงการหยุนหลินอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ส่งผลให้ในปี 2566 บริษัทจึงมีการปรับแผนการก่อสร้าง ปรับโครงสร้างทางการเงินและการถือหุ้น เพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปได้
EGCO แถลงทิศทางการดำเนินธุรกิจปี 2567
อย่างไรก็ดี รายการพิเศษดังกล่าวเป็นรายการทางบัญชีที่ไม่ส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสด และไม่กระทบอัตราส่วนทางการเงินตามเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2566 EGCO มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 28,862 ล้านบาท และอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) อยู่ที่ 1.31 เท่า และในปี 2566 ยังมีกำไรจากการดำเนินงาน 8,734 ล้านบาท
ทั้งนี้ คณะกรรมการ (บอร์ด) มีมติอนุมัติเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานงวดครึ่งปีหลังปี 2566 จำนวน 3.25 บาทต่อหุ้น รวมปันผลทั้งปี 2566 จำนวน 6.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราเงินปันผลตอบแทนประมาณ 5%
สำหรับความคืบหน้าของโครงการหยุนหลินปัจจุบันโครงการได้ติดตั้งเสากังหัน (Monopile) แล้วเสร็จรวม 45 ต้น ซึ่งเป็นกังหันลม (Wind Turbine Generator) ที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วทั้งสิ้น 33 ต้น คิดเป็นกำลังผลิตรวม 264 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันมีอัตราการผลิตไฟฟ้า (Capacity Factor) เฉลี่ยของโครงการสูงกว่า 40% ยืนยันศักยภาพในการสร้างรายได้ในอนาคต ปัจจุบันโครงการมีความพร้อมทุกด้านในการผลักดันและเดินหน้าการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงาน โดยมีกำหนดแล้วเสร็จครบ 80 ต้น กำลังผลิตรวม 640 เมกะวัตต์ภายในปี 2567
คาดผลงานปี 2567 ฟื้นมีกำไรสุทธิ
เทพรัตน์กล่าวต่อว่า คาดว่าผลการดำเนินในปี 2567 ของบริษัทจะพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ เนื่องจากปีนี้จะไม่มีผลกระทบจากการบันทึกรายการพิเศษเข้ามาในงบการเงินอีก ทั้งนี้ ปัจจุบัน EGCO มีกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมทั้งหมด 6,996 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งรวมโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว และโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างจากการลงทุนใน 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย, สปป.ลาว, ฟิลิปปินส์, ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย, ไต้หวัน, เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา
อีกทั้งยังมีโอกาสบันทึกกำไรพิเศษจากแผนการแบ่งขายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ของโครงการ APEX ในสหรัฐอเมริกาออกมาบางส่วน ขนาดกำลังการผลิตประมาณ 200-220 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปี 2567 โดยถือเป็นการปรับกลยุทธ์ธุรกิจใหม่ของบริษัทมาเป็นแบบ Hybrid โดยจะมีการลงทุนใหม่ควบคู่ไปกับการพิจาณาโครงการบางส่วนออกไป เพื่อมีรายได้กลับมาจากเดิมที่เน้นการลงทุนเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ นอกเหนือจากกลยุทธ์ดังกล่าวข้างต้น ยังมีแผนลดสัดส่วนการถือหุ้นในโรงไฟฟ้าที่มีการดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งบริษัทถือหุ้นในสัดส่วนที่สูง โดยจะมีการพิจารณาขายหุ้นบางส่วนออกไปเพื่อให้เงินทุนกลับมา และสามารถนำไปใช้ลงทุนต่อได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการกู้ยืมเงิน หรืออาจเลือกใช้วิธีการแลกหุ้น (Share Swap) เพื่อนำไปใช้ชำระแทนสำหรับการลงทุนในโครงการใหม่ เพื่อรับมือสถานการณ์ดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูง โดยวิธีการลงทุนรูปแบบดังกล่าวยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพิจารณา หลังจากที่ผ่านมามีพาร์ตเนอร์ของบริษัทแสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในรูปแบบดังกล่าวด้วยเช่นกัน
เปิดพอร์ตธุรกิจพลังงาน EGCO
นอกจากนี้ คาดว่าในปี 2567 จะมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตจากการรับรู้รายได้เต็มปีจากโครงการที่เข้าลงทุนในปี 2566 ได้แก่ โรงไฟฟ้า RISEC, กลุ่มโรงไฟฟ้า Compass, บริษัทโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค CDI รวมถึงรับรู้รายได้เพิ่มจากการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้า EGCO Cogeneration ส่วนขยายกำลังผลิตสุทธิ 74 เมกะวัตต์ในจังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2567 การทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของโครงการหยุนหลินตลอดจนผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า Paju ES ในเกาหลีใต้ ที่มีแนวโน้มดีอย่างต่อเนื่อง และการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบและการขายโครงการพลังงานหมุนเวียนภายใต้ APEX ในสหรัฐอเมริกา โดยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกาจากสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น และปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว ซึ่งจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน
เล็งทำ M&A ธุรกิจพลังงาน อีก 2-3 โครงการ
สำหรับโอกาสการลงทุนใหม่ในอนาคต คาดว่าบริษัทจะสามารถปิดดีลโครงการใหม่ในรูปแบบการเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการ (M&A) อีก 2-3 โครงการ ภายในปี 2567 ในขณะเดียวกันมีโอกาสสูงมากในการต่อสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวของโรงไฟฟ้าในฟิลิปปินส์ ที่จะหมดสัญญาในเดือนพฤษภาคม 2568 โดยคาดว่าจะทราบผลการเจรจาที่ชัดเจนเร็วๆ นี้
“พอร์ตโรงไฟฟ้าของปัจจุบัน หากแยกตามพลังงานที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจะแบ่งเป็นใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติสัดส่วนประมาณ 60%, ถ่านหินสัดส่วนประมาณ 19% และมาจากพลังงานหมุนเวียนอีกประมาณ 21% ซึ่งตามนโยบายบริษัทจะไม่มีการลงทุนใหม่ในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม เพราะบริษัทมีเป้าหมายระยะยาวที่จะมุ่งไปสู่ Carbon Neutral”
อีกทั้งในปี 2567 บริษัทเตรียมงบลงทุนไว้ที่ 30,000 ล้านบาท มุ่งแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นอีก 1,000 เมกะวัตต์ มุ่งเน้นการลงทุนและเดินเครื่องโรงไฟฟ้าคุณภาพสูงที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง สนับสนุนเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด รวมทั้งการขยายพอร์ตโฟลิโอพลังงานหมุนเวียน