×

กสศ. ร่วมหาทางออก เมื่อโควิด-19 รุกรานการศึกษา เสนอรัฐเยียวยาผลกระทบ ‘ความรู้ที่หายไป’ ของเด็กไทย

โดย THE STANDARD TEAM
28.01.2021
  • LOADING...
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

สรุปประเด็นสำคัญงานเสวนาทางการศึกษา ร่วมหารือเพื่อหาทางออก ‘โรงเรียนต้องปรับตัวอย่างไร เมื่อโควิด-19 รุกรานการศึกษา’ 

 

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ​จัดเสวนาวิชาการ Equity Forum เพื่อร่วมหารือประเด็นสำคัญก่อนเปิดเรียนวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ ยื่นข้อเสนอแก่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดการในหลายประเด็น โดยมีนักการศึกษา นักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมเสวนา

 

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เห็นด้วย ก.พ. กับคำสั่งที่จะให้เปิดภาคเรียนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และมั่นใจโรงเรียนไม่ใช่แหล่งแพร่ระบาด แต่สามารถเป็น State Quarantine ที่ช่วยดูแลป้องกันเด็กออกจากพื้นที่เสี่ยง เนื่องจากมีมาตรการที่เข้มงวด พร้อมกันนี้ยังเสนอรัฐบาลให้ออกนโยบายเยียวยาผลกระทบให้กับนักเรียนและโรงเรียน อาทิ โครงการอย่าง ‘โรงเรียนชนะ’

 

“สภาพปัญหาการถดถอยทางการศึกษาจะส่งผลต่อการเรียนรู้และตลาดแรงงานในอนาคต หากไม่รีบช่วยเหลือจะส่งผลระยะยาวและยากต่อการแก้ไข โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็ก ครูต้องเน้นคุณภาพนักเรียนและคุณภาพการเรียนการสอน ควรช่วยเหลือใน 3 ประเด็น คือ นวัตกรรมช่วยเรื่องการเรียนรู้ อาหารเช้าที่เด็กได้รับผลกระทบ และอาสาสมัครครูในช่วง 45 วันนับจากนี้ ป้องกันไม่ให้คุณภาพการเรียนการสอนในโรงเรียนด้อยลง” 

 

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ยกตัวอย่างสถานการณ์ของประเทศต่างๆ ช่วงการระบาดระลอกใหม่ เด็กทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผลกระทบด้านความรู้ที่หายไป (Learning Loss โดยเฉพาะเด็กไทยที่ปิดเรียน ทำให้เกิดผลกระทบการเรียนรู้และเศรษฐกิจ) 

 

ข้อมูลดัชนีทุนมนุษย์ ธนาคารโลก 2020 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 พบว่า เด็กไทยอายุต่ำกว่า 10 ปี ตัวเลขความยากจนของการเรียนรู้สูงถึง 23% สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ในขณะที่จำนวนปีในการเรียนประมาณ 12.7 ปี แต่เมื่อประเมินจำนวนปีที่ได้รับความรู้จริงเพียง 8.7 ปีเท่านั้น เมื่อต้องปิดเรียนเพราะโควิด-19 อีกย่อมซ้ำเติมการเรียนรู้จนเกิดภาวการณ์เรียนรู้ถดถอย Learning Loss มากขึ้น และเด็กนอกระบบมีโอกาสหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้นด้วย จากการประเมินในทางเศรษฐศาสตร์การหยุดเรียน 4 เดือน จะทำให้ GDP ของไทยในปี 2100 หายไป 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

“ในสหรัฐอเมริกาพบว่า สภาวะ Learning Loss เกิดกับเด็กเล็กมากกว่าเด็กโต รวมถึงกลุ่มเด็กด้อยโอกาส เด็กยากจน หรือเด็กที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ จากการเก็บข้อมูลยังพบว่า ความรู้ด้านคณิตศาสตร์หายไปมากที่สุด รองลงมาคือความรู้ด้านการอ่าน เพราะเมื่อไม่ได้มาโรงเรียน มีปฏิสัมพันธ์กับครูหรือเพื่อน ก็ทำให้ทักษะเหล่านี้ถดถอยไป” 


ในต่างประเทศ นักการศึกษาและครูมองการศึกษาให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น พัฒนาทักษะใหม่ๆ ของครู และให้ความสำคัญกับการลดช่องว่างการเรียนรู้ Learning Gaps ของนักเรียน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของชีวิต สิ่งสำคัญคือครูต้องมีความสามารถในการวัดทักษะของเด็กได้ว่ามีทักษะใดหายไป และจะมีวิธีการฟื้นฟูอย่างไร นี่คือสิ่งที่นักการศึกษาและครูในยุคโควิด-19 ต้องมี 

 

“เมื่อเปิดเทอมแล้ว ครูต้องให้ความสำคัญกับความรู้ที่หายไปและใส่ใจฟื้นฟูสุขภาพกายและสุขภาพจิตของนักเรียน โดยเฉพาะเด็กเล็กและกลุ่มเปราะบาง ด้อยโอกาส น่าจะเป็นกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญเร่งด่วนกว่ากลุ่มอื่นๆ”

 

ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม (เครือข่าย TSQP) เน้นไปที่ประเด็นการออกมาตรการเหมารวมการแก้ปัญหาในตอนนี้ไม่ได้ผล ควรออกแบบการช่วยเหลือให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่ก็มีปัญหาที่ต่างกัน

  
“การระบาดรอบที่แล้วได้เข้าไปช่วยดูการจัดการเรียนการสอนในหลายเรื่อง ​สิ่งสำคัญคือการทำให้เกิดการเรียนรู้ในช่วงที่ต้องหยุดอยู่บ้านด้วยการจัดทำ Learning Box โดยให้ผู้ปกครองช่วยดู แต่ผู้ปกครองก็ไม่สามารถจัดการสอนเหมือนครูได้จึงต้องปรับกิจกรรมให้ซับซ้อนน้อยลง และเปิดให้หาอุปกรณ์ที่อยู่รอบตัวมาทำกิจกรรมได้ การใช้อาสาสมัครจากชุมชนเข้าไปช่วยดูแลก็จำเป็น เพราะคนภายนอกเข้าพื้นที่ไม่ได้”  

 

ดร.นรรธพร แนะควรพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ทบทวนสาระความรู้ที่เด็กต้องเรียน ทักษะในแบบ New Normal คืออะไร รวมถึงการประเมินผลการศึกษาต้องประเมินเพื่อพัฒนาและประเมินตามสภาพจริง และโอกาสที่น่าสนใจคือความร่วมมือของผู้ปกครอง เชื่อว่า การเรียนรู้ที่ดีต้องใช้ชุมชนเป็นฐาน เพราะชุมชนมีความแตกต่างและหลากหลาย รวมถึงประเด็นที่ละเลยไม่ได้คือสภาพจิตใจและสุขภาพของเด็กจากการขาดโภชนาการที่ดี หรือความเครียดจากการขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน หรือความเครียดจากครอบครัวที่มีปัญหา สถาบันการศึกษาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะช่วยเหลือและดูแลอย่างไร  

 

ดร.ศุภโชค ปิยะสันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยไร่สามัคคี จังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะที่ปรึกษาชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร กล่าวถึงประเด็นการจัดการปัญหาในพื้นที่ที่ผ่านมา ยังคงใช้แนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ ให้ครูลงพื้นที่ เน้นการทบทวนบทเรียนเดิม ในขณะที่โรงเรียนบนพื้นที่สูงเน้นทบทวนความรู้ด้านภาษาไทยมากขึ้น และพบปัญหาเรื่องการเรียนรู้ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก พ่อแม่ผู้ปกครองไม่สามารถช่วยลูกทำกิจกรรมใบงาน การเรียนรู้จึงมีอุปสรรค ครูก็ต้องจัดตารางเวลาไปหาเด็กในพื้นที่ที่นัดหมาย

 

“ไม่ควรใช้วิธีการแก้ปัญหาเดียวกันกับทุกโรงเรียน และควรหา Learning Package ให้ครูทำงานง่ายขึ้น ออกแบบเครื่องมือที่สามารถปรับใช้ให้ตรงกับพื้นที่ของตัวเองตามเหมาะสม สิ่งที่ต้องเร่งให้ความรู้กับครูและผู้บริหารโรงเรียนจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างเครื่องมือในการเรียนให้กับผู้เรียน ปรับการเรียนรู้ให้เป็น Active Learning เด็กสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเองได้ จะเป็นโอกาสยกระดับการเรียนรู้ของประเทศไทยและแก้ปัญหาหากเกิดสถานการณ์เช่นนี้ในอนาคต” 

 

รศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ ผอ. สำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี (เครือข่าย TSQP) กล่าวว่า จากการประเมินความพร้อมของผู้เรียนพบว่า สภาวะถดถอยทางการเรียนรู้เกิดขึ้นตลอดเวลา เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นการเรียนรู้แบบ Passive Learning ซึ่งเป็นการถ่ายโอนความรู้ที่ผู้เรียนไม่ได้เรียนผ่านความเข้าใจ แนะวิธีตั้งรับเปลี่ยนการเรียนรู้เป็น Active Learning ดังนั้นการจะวัดความถดถอยในเชิงคอนเทนต์ประเด็นนี้อาจจยังไม่เห็นด้วย

 

“สิ่งที่จะประเมินได้หลังเปิดเรียนครั้งนี้คือทัศนคติและทักษะของนักเรียน เมื่อเด็กซึมซับความเครียดจากครอบครัว ต้องตรวจสอบความพร้อมด้านจิตใจ สิ่งต่อมาคือความสามารถในการเรียนรู้ ทักษะการคิดวิเคราะห์สร้างสรรค์ ทักษะสืบค้นความรู้ ทักษะการเปิดรับสิ่งใหม่ สำหรับเด็กโตอาจจะต้องมีการวัดคะแนนวิชาการประกอบ หากจะวัดให้เกิดประโยชน์ควรจะวัดเพื่อพัฒนา เพื่อดูว่าเด็กขาดเรื่องใดและจะเติมสิ่งเหล่านั้นอย่างไร” 

 

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าโครงการขยายผลและพัฒนาความช่วยเหลือกลุ่มเด็กปฐมวัยและเด็กปฐมวัยนอกระบบในกรุงเทพฯ กสศ. สิ่งที่ต้องเรียนรู้ตั้งแต่วันนี้คือเด็กต้องเน้นทักษะการเรียนรู้ ทักษะความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต แม้แต่ครูและโรงเรียนก็ต้องปรับตัว ออกแบบวิธีการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ที่สำคัญคือการยอมรับความเสี่ยงในทุกพื้นที่และรู้วิธีปฏิบัติตัวและเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตร่วมกันอย่างถูกต้อง

 

“แนวทางคือโรงเรียนในพื้นที่ระดับจังหวัดควรมีสิทธิ์ตัดสินใจ โดยต้องมีขีดความสามารถในการเฝ้าระวังสถานการณ์ของตนเอง เช่น ปรับกลุ่มนักเรียนให้เล็กลง จัดการเรื่องมาตรการของบุคคลภายนอกที่เข้ามาในโรงเรียน หรือจัดการพื้นที่ส่วนรวมให้ปราศจากเชื้อ แต่ถึงอย่างไรในสถานการณ์ตอนนี้เราก็ยังอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงอยู่ดี”   

 

 พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising