×

กสศ. จับมือหอการค้าไทยและ TDRI ลงนามบันทึกข้อตกลงหนุนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หวังแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

โดย THE STANDARD TEAM
22.04.2023
  • LOADING...
นวัตกรรมการศึกษา

เมื่อวันที่ 20 เมษายน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และหอการค้าไทย จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตอบโจทย์การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยการวิจัยพัฒนานวัตกรรมการศึกษา เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการระดมทรัพยากรและความร่วมมือของกลไกระดับพื้นที่ เสริมสร้างประสิทธิภาพในการบริหารการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน 

 

โดยมี ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ., ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ., ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI, สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สราวุฒิ อยู่วิทยา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษา และ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วม ณ สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

 

 

ดร.ประสารกล่าวว่า ด้วยความตระหนักถึงความเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการผลักดันแนวทางการขับเคลื่อนและพัฒนาการศึกษาของประเทศให้สอดคล้องกับภูมิเศรษฐกิจโลก และเทคโนโลยียุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กสศ. ได้กำหนดภารกิจสำคัญในการนำแผนกลยุทธ์ กสศ. (2565-2567) ไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่ยั่งยืน (Sustainable System Change) โดยใช้แนวทางที่ชัดเจนในการพัฒนานโยบายสาธารณะผ่านกระบวนการห่วงโซ่มาตรการเชิงนโยบาย (Policy Value Chain) ซึ่งเริ่มต้นจากการวิจัยพัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีอยู่ในพื้นที่ต่างๆ จนได้รูปแบบและแนวทางการทำงานที่เป็นรูปธรรมก่อนนำไปทดสอบใช้จริงในพื้นที่ จนพบว่าสามารถแก้ปัญหาที่มีอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

อย่างไรก็ตาม แม้นโยบายหรือมาตรการลดความเหลื่อมล้ำต่างๆ ของภาครัฐจะประสบความสำเร็จ แต่ในอนาคตปัญหาต่างๆ ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รูปแบบและแนวทางการทำงานด้านนี้จึงจำเป็นต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา จึงจะประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาตามเป้าหมายที่วางไว้ในระยะยาว จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และหอการค้าไทย เพื่อยกระดับนวัตกรรมการศึกษาเชิงพื้นที่ให้สอดคล้องกับข้อสรุปจากการประชุมนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา All for Education Conference 2022 ที่ กสศ. ได้ร่วมกับ UNESCO และ UNICEF ได้สรุปบทเรียน 7 ตัวเปลี่ยนเกม (7 Game Changers) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปการศึกษาในระดับนานาชาติที่สามารถช่วยให้ประเทศต่างๆ สามารถบรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) ด้วยแนวคิดปวงชนเพื่อการศึกษา (All for Education) ได้แก่ 

 

  1. ระบบข้อมูลและสารสนเทศการศึกษา 
  2. นวัตกรรมการเงินและการคลังเพื่อการศึกษา 
  3. ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน 
  4. การส่งเสริมการกระจายอำนาจเพื่อการจัดการการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-Based Education)
  5. การพัฒนาครูและสถานศึกษา
  6. การพัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคมในระบบการศึกษา 5 ด้าน ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงของสถาบันทางครอบครัว ความพร้อมและความปลอดภัยของสถานศึกษาและครู ความพร้อมและความปลอดภัยในการเดินทาง และความพร้อมของชุมชนท้องถิ่น 7. การผลักดันแนวคิด All for Educationให้การศึกษาเป็นกิจของทุกคน

 

ดร.ประสารกล่าวว่า ความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงาน จะสามารถสร้างกลไกส่งเสริมขีดความสามารถในการระดมทรัพยากรและความร่วมมือของกลไกระดับพื้นที่ เพื่อพัฒนานวัตกรรมในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในมิติต่างๆ ทั้งโอกาสและคุณภาพการเรียนรู้ รวมไปถึงการเสริมสร้างประสิทธิภาพในการบริหารการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน 

 

นอกจากนี้ ยังเชื่อมั่นว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะทำให้เห็นนวัตกรรมการระดมความร่วมมือในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มากกว่าเพียงแค่การระดมทุนที่เป็นตัวเงินเท่านั้น โดยหวังว่าจะได้เห็นประชาชนจากภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่ ได้เข้ามาร่วมกันระดมทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ทุนข้อมูลความรู้ ทุนทางสังคมและเครือข่ายต่างๆ ฯลฯ ที่จะร่วมทำหน้าที่เป็น ‘ตัวคูณเชิงระบบ’ (System Multiplier) ที่จะกระตุ้นในทรัพยากรและนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นในพื้นที่ สามารถส่งผลกระทบเชิงระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

 

“กสศ. หวังจะได้เห็นความร่วมมือที่ริเริ่มโดย 3 หน่วยงานในพื้นที่ 19 จังหวัด เจริญงอกงามไปเป็นโอกาสที่สำคัญของสังคมไทย ที่ประชาชนจากทุกภาคส่วนในทั้ง 77 จังหวัดของประเทศไทยสามารถลุกขึ้นมากำหนดอนาคต

และโจทย์ปฏิรูปการศึกษาของจังหวัดตัวเองได้ด้วยตนเอง และร่วมกันลงมือทำให้สำเร็จได้จริงด้วยทรัพยากรและความร่วมมือของทุกคนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนด้วยตัวเอง ไม่มีใครหวงแหนบ้านเกิดเมืองนอนและลูกหลานของตน รวมทั้งมีความเข้าใจในโอกาสและอุปสรรคของพื้นที่ตนเองได้มากกว่าคนในพื้นที่เอง

 

“ดังนั้นหากความร่วมมือในวันนี้จะสามารถจุดประกายให้ประชาชนในทุกจังหวัดของประเทศไทยได้ลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของวาระการปฏิรูปการศึกษาของบ้านเกิดตัวเองได้แล้ว พวกเราอาจได้เห็นนวัตกรรมการแก้ไขปัญหาสำคัญในหลายๆ ด้านของการศึกษาไทยที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้ในชั่วชีวิตของเรา” ดร.ประสารกล่าว

 

 

ด้านสนั่นกล่าวว่า หอการค้าไทยมีความยินดีอย่างยิ่งในความร่วมมือสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา กับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อยกระดับการศึกษาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งหอการค้าไทยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาการศึกษา หอการค้าไทย เพื่อสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจ และรูปแบบการดำเนินธุรกิจจากนักธุรกิจผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ พร้อมเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนในสถานศึกษาเข้าไปเรียนรู้และฝึกประสบการณ์จริงในสถานประกอบการ เพื่อสร้างพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังมีกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YEC ที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามามีส่วนร่วมในการเชื่อมโยงการทำงาน ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในปัจจุบัน

 นอกจากนี้ภาคเอกชนต้องอาศัยการผลักดันจากรัฐบาลให้มีมาตรการสร้างแรงจูงใจ เช่น สิทธิประโยชน์ด้านภาษี เพื่อให้ภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยมากขึ้น จนนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในมิติต่างๆ ของประเทศได้ต่อไปในอนาคต 

 

สนั่นกล่าวต่อไปว่า จากการศึกษาของ กสศ. ชี้ว่า การลงทุนด้านการศึกษา การพัฒนาทุนมนุษย์ สร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงถึง 7 เท่าเมื่อเทียบกับต้นทุน และยังช่วยให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้สูงในอนาคต จึงขอเชิญชวนภาคธุรกิจเอกชน รวมถึงพลังของเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ทุกจังหวัด ร่วมสนับสนุน Education Sandbox Fund ลงทุนพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อพัฒนากำลังคนในอนาคตของประเทศให้มีศักยภาพ ช่วยยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างอนาคตที่เต็มไปด้วยโอกาสและการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศไทย

 

 

ขณะที่ ดร.สมเกียรติกล่าวว่า แนวคิดสำคัญของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คือการหาแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการปรับการเรียนรู้ให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงได้มีความพยายามสร้างพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการ ศึกษา (กอปศ.) ร่วมกับ TDRI และหน่วยงานในภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP) ในการยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เสนอแก่รัฐบาล ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนให้มีการขยายพื้นที่ดำเนินการจากจุดเริ่มต้นใน 8 จังหวัดสู่ 19 จังหวัดในปัจจุบัน และเพิ่มจังหวัดบุรีรัมย์ขึ้นมาอีกหนึ่งจังหวัด

 

ดร.สมเกียรติกล่าวต่อไปว่า พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจึงเหมือนเป็นสนามปฏิบัติการ (Sandbox) ในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ เพื่อพัฒนาต้นแบบในการทดลองจัดการศึกษาในรูปแบบใหม่ ตั้งแต่การใช้หลักสูตรใหม่ สื่อการเรียนการสอนแบบใหม่ วิธีการเรียนการสอนแบบใหม่ การทดสอบและประเมินผลแบบใหม่ ตลอดจนการบริหารจัดการแบบใหม่ ในระดับโรงเรียนและเขตการศึกษา เพื่อเพิ่มความเป็นอิสระให้แก่สถานศึกษา และกระจายอำนาจให้แก่จังหวัด โดยมีเอกชนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการออกแบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ และมีกระบวนการวิจัยติดตามอย่างเป็นระบบเพื่อถอดบทเรียน และขยายผลเพื่อให้นวัตกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามารถนำไปใช้ขยายผลสู่นโยบายการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ และเชื่อมั่นว่ากระบวนการทำงานที่เกิดขึ้น จะช่วยสร้างเครื่องมือสำคัญในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ต่างๆ อย่างสอดคล้องกับการทำงานของ กสศ. ในอนาคต

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising