×

กสศ. หนุนผลิตกำลังคนสายอาชีพ ด้วยทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง หวังให้หลุดพ้นกับดักความยากจนข้ามรุ่น

โดย THE STANDARD TEAM
17.12.2022
  • LOADING...
กสศ.

วานนี้ (16 ธันวาคม) ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ มูลนิธิเครือข่ายพยาบาลชุมชน และสถาบัน ORYGEN ประเทศออสเตรเลีย 

 

ร่วมจัดประชุมวิชาการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปี 2565 สร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน ด้วยการศึกษาสายอาชีพ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย เกี่ยวกับการพัฒนากำลังคนสายอาชีพเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนด้อยโอกาสได้เรียนต่อสายอาชีพชั้นสูง

 

ร.อ.ท. สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง คือแรงกระเพื่อมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การขยายทุนหลายวิทยาลัย ผลิตกำลังคน 2,500 คนต่อปี เป็นช่องทางสำคัญ เข้าถึงทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ กสศ. ยังช่วยยกระดับทำให้เกิดระบบการแนะแนว สร้างการรับรู้การศึกษาสายอาชีพ เชื่อมต่อกับโรงเรียนมัธยมศึกษา รวมถึงการนำพาเด็กหลุดจากระบบเข้ามาสู่รั้วอาชีวศึกษา ถือเป็นกระบวนการสอดคล้องเป้าหมายรัฐบาล อาชีวะแข็งแกร่งภายใต้การทำงานร่วมกับ กสศ. ประเทศและเศรษฐกิจก็จะขับเคลื่อนไปด้วย 

 

ร.อ.ท. สมพร ยังได้กล่าวขอบคุณ กสศ. ที่เห็นความสำคัญของเยาวชนที่ขาดแคลน ด้อยโอกาส หยิบยื่นโอกาสทางการศึกษา ชาวอาชีวศึกษาถือเป็นคำมั่นสัญญาว่าจะเดินหน้าตามแผนที่กำหนดไว้ร่วมกับ กสศ. เป็นพลังขับเคลื่อนตอบโจทย์ความต้องการของประเทศส่งเสริมสร้างโอกาสทางอาชีพให้ดีที่สุด ไม่เพียงเท่านั้นนอกจากเรียนต่อ มีงานทำแล้ว เด็กอาชีวะต้องพัฒนาสู่ผู้ประกอบการให้ได้เพื่อหลุดพ้นจากความยากจน

 

“สถาบันการศึกษาหลายๆ แห่งต้องการร่วมเป็นเครือข่ายเหมือนเรา แต่ยังทำไม่ได้ วันนี้พ่อไก่แม่ไก่ที่มีความสำคัญจะนำพา ยกระดับขยายผลแนวทางลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไปทั่วประเทศ ถ้าอาชีวะแข็งแกร่ง ประเทศจะได้รับอานิสงส์จากการขับเคลื่อนของ กสศ. ทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ดี” ร.อ.ท. สมพรกล่าว 

 

ร.อ.ท. สมพรกล่าวต่อไปว่า สอศ. ทำงานเป็นพันธมิตรร่วมกับสถานศึกษาอาชีวศึกษา และสายอาชีพทั้งภาครัฐและเอกชนจากทุกสังกัด การขับเคลื่อนนโยบายร่วมกับ กสศ. และภาคีเครือข่าย เพื่อให้เกิดภาพปลายทางใน 2 ด้านสำคัญ คือ 

 

  1. การขยายทุนการศึกษาแก่เยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่กว้างขวางขึ้น เพิ่มเติมจากที่ กสศ. สนับสนุนตัวแบบได้เพียง 1% ต่อรุ่น หรือจำนวน 2,500 ทุนต่อปี ผ่านความร่วมมือหลายภาคส่วนที่มีทรัพยากร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 

 

  1. การส่งเสริมผู้บริหาร ครู และสถานศึกษาอาชีวศึกษาในการดูแลเยาวชนครอบคลุมทุกมิติ ได้แก่ การศึกษา สุขภาพจิตใจ อาชีพ และโอกาสการมีงานทำ ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงนี้ เป็นอีกช่องทางสำคัญในการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนที่ยากจนและด้อยโอกาส ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำทางรายได้และในมิติต่างๆ 

 

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของ กสศ. ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 สร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักศึกษาผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ที่คัดเลือกโดยสถานศึกษาอย่างมีส่วนร่วม มีจำนวนนักศึกษาทุนสะสมทั้งหมด 9,614 คน เป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ 300 กว่าคน สำเร็จการศึกษาแล้ว 3,056 คน 

 

ปัจจุบัน กสศ. เปิดรับสมัครผู้รับทุนการศึกษา ปีการศึกษา 2566 เข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาอาชีวศึกษา วิทยาลัยชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และอื่นๆ ที่เปิดสอนระดับ ปวช. ปวส. อนุปริญญา และ ประกาศนียบัตร 116 แห่ง ใน 44 จังหวัด รวมกว่า 30 สาขา สอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล ตอบโจทย์ความต้องการตลาดแรงงานระดับประเทศและท้องถิ่น เช่น สาขาเครื่องกล สาขาการจัดการโลจิสติกส์ สาขาเทคนิคการผลิต สาขาคอมพิวเตอร์กราฟิก สาขาอุตสาหกรรมเกษตรศาสตร์ และมีงานทำทันทีเมื่อสำเร็จการศึกษา

        

“โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เป็นแฟลกชิปของ กสศ. ที่เป็นส่วนหนึ่งโอกาสทางการศึกษาสำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อย ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 9 ที่ต้องการให้เด็กเยาวชนไทยหลุดจากกับดักความยากจน และกับดักรายได้ปานกลาง เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพราะเยาวชนไทยไม่แพ้ใครในโลก หากเราพัฒนา มุ่งมั่น สนับสนุน ผลักดัน เยาวชนที่ขาดโอกาสไปสู่ทางสายอาชีพ จะช่วยให้เขาหลุดจากกับดักความยากจน ไม่เพียงมีรายได้ปานกลาง แต่สามารถไปสู่รายได้สูงในอนาคต” ดร.ไกรยสกล่าว 

 

นอกจากนี้ กสศ. ยังดำเนินการพัฒนาตัวแบบสถานศึกษานวัตกรรมจำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน วิทยาลัยเทคนิคสิงห์บุรี วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค) วิทยาลัยเทคนิคพังงา ใน 7 สาขาพัฒนาสถานศึกษานวัตกรรม ได้แก่ เทคโนโลยีการบริการฐานวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยีชีวภาพการเกษตรฐานวิทยาศาสตร์, เทคนิคควบคุมและซ่อมบำรุงระบบขนส่งทางราง, อิเล็กทรอนิกส์, เมคคาทรอนิกส์, เตรียมวิศวกรรมศาสตร์ และคอมพิวเตอร์กราฟิก 

 

กระจายในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, เชียงราย, ลำพูน, ตาก, สิงห์บุรี, พระนครศรีอยุธยา และพังงา โดยเป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อพัฒนาสถานศึกษาตัวแบบที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ผ่านการร่วมมือร่วมทุนจากภาคเอกชนและภาครัฐในการพัฒนาสถานศึกษาตัวแบบ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และบริษัท สมบูรณ์แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เป็นต้น 

 

ขณะที่ พรเทพ เจริญผลจันทร์ ผู้จัดการชุมชนสัมพันธ์ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หัวใจสำคัญในการพัฒนาการศึกษาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการแรงงานของประเทศ ต้องเกิดจากความร่วมมือระหว่างเอกชนและสถานศึกษาเป็นเนื้อเดียวกันในอนาคต โดยพัฒนาความร่วมมือในรูปแบบโครงการทวิภาคี ให้มีความเข้มข้นในระดับปฏิบัติร่วมกันมากขึ้น อย่างไรก็ตามรูปแบบการให้ทุนของ กสศ. คือโอกาสในการสร้างความร่วมมือเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านระหว่างสถานประกอบการ และสถานศึกษา เนื่องจาก กสศ. ไม่เพียงให้ทุนกับนักศึกษา แต่ยังให้ทุนกับสถานศึกษาพัฒนาหลักสูตร ร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อผลิตนักศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการได้

 

“บริษัทเบทาโกร อยากได้คนแบบไหนมาทำงานก็หารือกับชุมชนว่าเราต้องการทักษะความต้องการแรงงานแบบไหน แลกเปลี่ยนพูดคุย พัฒนาหลักสูตรร่วมกัน เพื่อให้โอกาสทางการศึกษาให้น้องๆ ในชุมชนมีโอกาสมีงานทำ” พรเทพกล่าว

 

กานต์รวี ทองพูล หัวหน้าสำนักงานศูนย์ฝึกอบรมการรถไฟ รฟท. กล่าวว่า โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ เน้นภาคปฏิบัติจริงจากการเรียนรู้ระบบราง และอาจารย์ผู้สอนก็เป็นเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการของ รฟท.  

 

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมรางในไทยถือว่ามีความเติบโตแบบก้าวกระโดด ทำให้โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟเปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถเรียนรู้อย่างหลากหลาย และสามารถเลือกทำงานในภาคเอกชนอื่นๆ โดยร่วมมือกับภาคเอกชนและเครือข่ายสถานศึกษาในการจัดทำหลักสูตรที่มีคุณภาพ และตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้จริง และเสริมการเรียนรู้ทักษะชีวิต เพื่อให้นักเรียนสามารถปรับตัวในการไปทำงานภายนอกได้ ตอบสนองความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศที่มีมากขึ้น 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising