×

‘สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง’ โครงการสมทบทุนเร่งด่วนแก้วิกฤตในวิกฤตของเด็กยากจนพิเศษที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่ต้อง ‘อดหลายมื้อ กินไม่ดีสักมื้อ’

โดย THE STANDARD TEAM
28.05.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • ก่อนวิกฤตโควิด-19 เด็กกลุ่มยากจนพิเศษก็เป็นเด็กชายขอบที่ได้รับผลกระทบสาหัสจากการขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสทางการศึกษาอยู่แล้ว สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กลับส่งผลกระทบต่อเด็กกลุ่มนี้อีกเท่าตัว ปัญหาที่รุนแรงและเร่งด่วนที่สุดคือ ‘ไม่มีข้าวกิน’
  • กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงจัดตั้งโครงการ ‘สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง’ เร่งให้การช่วยเหลือ จัดสรรงบประมาณสำหรับมื้ออาหาร เพื่อเยียวยากลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษ จำนวน 753,997 คน โดยช่วยเหลือเด็กคนละ 600 บาท จัดอาหารสำหรับ 1 เดือน ให้เด็กได้รับสารอาหารครบถ้วน ถูกหลักโภชนาการ โดยมี อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ อดีตนักวิชาการสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ เป็นที่ปรึกษาด้านโภชนาการ 

ปิดเทอมนานไม่ใช่เรื่องดีสำหรับเด็กบางกลุ่ม… โดยเฉพาะเด็กนักเรียนยากจนพิเศษทั่วประเทศ ที่เดิมทีก็ประสบปัญหาเรื่องความยากจนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเด็กกลุ่มนี้อย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง ระยะเวลา 46 วันกลายเป็นช่วงเวลาปิดเทอมที่แสนยาวนาน จากเดิมที่เคยได้กินอาหารกลางวันที่โรงเรียน ได้ดื่มนมโรงเรียน ซึ่งถือเป็นมื้ออาหารที่ดีและมีโภชนาการครบถ้วนที่สุด กลับต้องอดหลายมื้อและกินไม่ถูกหลักโภชนาการสักมื้อ ความหิวโหยคือผลกระทบระยะสั้น แต่ในระยะยาวหมายถึงพัฒนาการที่ถดถอยจากการขาดโภชนาการที่ดีในช่วงวัยที่เหมาะสม

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงจัดตั้งโครงการ ‘สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง’ เร่งให้การช่วยเหลือ จัดสรรงบประมาณสำหรับมื้ออาหาร เพื่อเยียวยากลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษ จำนวน 753,997 คน โดยช่วยเหลือเด็กคนละ 600 บาท สำหรับมื้ออาหาร โดยมี อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ อดีตนักวิชาการสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ที่ปรึกษากรมอนามัยด้านโภชนาการ และยังเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. มาเป็นที่ปรึกษาพิเศษให้กับโครงการนี้  

 

 

ตลอดระยะเวลาการทำงานด้านโภชนาการกว่า 38 ปี จนถึงปัจจุบันก็ยังคงทำงานด้านนี้อยู่ อาจารย์สง่าเล็งเห็นมาเสมอว่า การศึกษาของเด็กไม่ได้เชื่อมโยงแค่มิติของการเรียนหนังสือเท่านั้น เพราะหากเด็กได้รับโภชนาการไม่ดี สารอาหารไม่ครบ สุขภาพเด็กไม่แข็งแรงเนื่องจากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เด็กย่อมขาดความพร้อมที่จะเรียนหนังสือ

“สำหรับเด็ก ความจำเป็นของอาหารที่ถูกหลักโภชนาการสำคัญกว่าคนทุกวัย เพราะวัยเด็กเป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโต ไม่ใช่เฉพาะตัวสูงใหญ่ ผอมอ้วน แต่การเจริญเติบโตของเด็กคือสมองและสติปัญญา บางคนคิดว่าแค่อิ่มก็จบ แต่ไม่รู้ว่าการอิ่มอาหาร ถ้าได้สารอาหารไม่ครบ การเจริญเติบโตของเด็กจะบกพร่อง เตี้ย ผอม นั่นคือด้านกายภาพที่เห็น แต่ในระยะยาวคือ สมองและสติปัญญา เพราะอาหารจะไปช่วยทำให้เซลล์สมองเจริญเติบโต ช่วยทำให้การพัฒนาสติปัญญาดีขึ้น ถ้าได้รับสารอาหารไม่ครบ เซลล์สมองจะถูกทำร้าย ระหว่างที่ร่างกายกำลังเจริญเติบโต เซลล์สมองจะบาง จะฝ่อ และเกาะเกี่ยวกันไม่ดี”

ร้อยละ 4-6% คือตัวเลขของเด็กไทยทั่วประเทศที่ขาดสารอาหาร สำหรับประเทศที่ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย แต่ทำไมยังมีเด็กขาดสารอาหารอยู่ ในขณะเดียวกัน ปัญหาโภชนาการเกิน หรืออ้วน กลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 14% ทำให้เบนความสำคัญไปโฟกัสกลุ่มนี้ และสรุปไปว่าเด็กไทยมีกิน… แค่กินไม่ถูกต้อง  

 

 

“ตัวเลขที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษอยู่ในกลุ่มเด็ก 2 ล้านคนที่เราต้องให้ความสำคัญก่อน ก็คือกลุ่มเด็กด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบาง กลุ่มชายขอบ ยากจนพิเศษ และกลุ่มเด็กที่จนจริงๆ กว่า 7 แสนคน ที่ กสศ. ดูแล โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ระบาด ยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงกับเด็กหลายด้าน แต่ด้านที่น่าห่วงที่สุดคือด้านโภชนาการ

“การระบาดของโควิด-19 ทำให้เด็กต้องปิดเทอม 4 เดือน ประเด็นนี้ไม่ใช่เพราะเด็กอยู่บ้านนาน แต่เกิดจากพ่อแม่เคยทำงานและตกงาน บวกกับความยากจนเดิมอยู่แล้ว ต้นทุนทางการเงินไม่มี พออยู่บ้านนาน ไม่มีอะไรจะกิน เปิดเทอมมาผมมั่นใจว่าเด็กไม่พร้อมที่จะเรียนหนังสือ สมองเด็กถูกทำร้ายตอน 4 เดือนที่ไม่ได้กินอะไร ย่อมส่งผลต่อการรับรู้แน่นอน เด็กจะเหม่อลอย เหนื่อยล้า ไม่มีศักยภาพ ภูมิต้านทานต่ำ เพราะขาดสารอาหาร นี่คือผลกระทบระยะสั้น ถ้าโควิด-19 ยังไม่หยุดระบาด เด็กกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ เพราะการกินอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ เป็นหวัดง่าย ป่วยบ่อย เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง

“แล้ว กสศ. จะทำอย่างไรให้เด็กเหล่านี้มีภาวะโภชนาการปกติ พร้อมที่จะกลับไปเรียนหนังสือได้ช่วงเปิดเทอม จึงเกิดโครงการเฉพาะกิจนี้ขึ้น เพื่อนำอาหารไปมอบให้กับเด็กยากจนเหล่านี้ แล้วอาหารอะไรที่จะพอประทังชีวิตไปได้จนเปิดเทอมและมีโภชนาการครบ”  

 

 

“โครงการ ‘สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง’  ได้มีการจัดสรรงบช่วยเหลือเด็กยากจนพิเศษไปแล้วคนละ 600 บาท สำหรับอาหาร 1 เดือน โดยเราได้โอนเงินให้โรงเรียนเพื่อเป็นตัวกลางในการจัดการซื้ออาหารตามที่ กสศ. ระบุ นั่นคือ ข้าวสาร 20 กิโลกรัม เพราะข้าวมีพลังงานและคาร์โบไฮเดรต สองคือ ไข่ไก่ 36 ฟอง เพราะเป็นโปรตีนราคาถูก มีกรดอะมิโนที่ไปเสริมเซลล์สมอง ทำให้เนื้อเยื่อเจริญเติบโต นำไปปรุงอาหารได้หลายอย่าง สามคือ ปลากระป๋อง 10 กระป๋อง เนื่องจากปลากระป๋องมีโปรตีนและแคลเซียมมหาศาล และเป็นเมนูที่เก็บได้นาน ดัดแปลงเป็นเมนูอะไรก็ได้

“ต่อมาคือ น้ำมันพืชขวดใหญ่ 1 ขวด เป็นอาหารชนิดที่เด็กต้องได้กิน เพราะน้ำมันกินเข้าไปให้พลังงาน และร่างกายจะนำน้ำมันพืชไปละลายวิตามินเอ ดี อี และเค ซึ่งเป็นวิตามินที่ละลายได้ในไขมัน ถ้าไม่มีไขมันละลาย ร่างกายนำวิตามินเหล่านี้ไปใช้ไม่ได้ เช่น ฟักทองมีวิตามินเอเยอะ แต่กินฟักทองนึ่ง ฟักทองต้ม ไม่มีน้ำมันเลย วิตามินเอในฟักทองร่างกายเอาไปใช้ไม่ได้ ก็เท่ากับกินแล้วเสียของ แต่ถ้าเอาน้ำมันพืชไปผัดฟักทองใส่ไข่ เด็กถึงจะได้รับประโยชน์

“สิ่งสุดท้ายคือ นม เพราะเป็นอาหารที่จำเป็นต่อเด็กมาก มีโปรตีนคุณภาพและมีแคลเซียม ถ้าสถานการณ์ปกติ วันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา เด็กจะต้องได้ดื่มนมโรงเรียนแล้ว เด็กยากจนช่วงปิดเทอมก็ไม่ได้กินนมอยู่แล้ว พอยืดระยะเวลาวันเปิดเทอมออกไป นมที่กำลังจะได้ดื่มกลับไม่ได้ดื่ม ผมจึงนำเรื่องนี้ยื่น ครม. และอนุมัติออกมาว่า ให้ส่งนมโรงเรียนที่เด็กควรจะได้ดื่มตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคมเป็นต้นไปไปที่โรงเรียน และโรงเรียนแจกจ่ายไปที่บ้านเด็ก”

การเร่งให้การช่วยเหลือ จัดสรรงบประมาณสำหรับมื้ออาหาร เพื่อเยียวยากลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษ ถือเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น ต้องทำเลย ไม่ทำไม่ได้ เรื่องน่ากังวลยังอยู่ระหว่างรอยต่อของระยะสั้นไปสู่ระยะกลาง นั่นคือจำนวนเงินทุนช่วยเหลือทำได้เพียงแค่ 1 เดือน หรือ 15 มิถุนายนเท่านั้น ทาง กสศ. จึงต้องระดมทุนต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือระยะสั้นให้ได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน รวมไปถึงการวางรากฐานเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาระยะกลาง นั่นคือการสร้างทักษะความรู้เรื่องโภชนาการให้กับครูและผู้ปกครอง

“เราจะทำอย่างไรให้พ่อแม่ของเด็กและครูมีความรู้และทักษะจัดการให้เด็กได้กินอาหารที่ถูกหลักโภชนาการที่โรงเรียนหนึ่งมื้อตอนกลางวันไม่น่าห่วง เพราะตอนนี้มีเงินสนับสนุนจากรัฐบาลกระจายไปทุกโรงเรียนแล้ว แต่ยังมีข้อกังวลคือ เงินจำนวนดังกล่าวสามารถไปถึงน้องอนุบาลกับประถมศึกษา ยังไปไม่ถึงพี่มัธยมศึกษา 1-3 บางโรงเรียนจึงต้องเกลี่ยเงินของน้องมาให้พี่ได้กินด้วย กลายเป็นคุณภาพอาหารอาจจะดรอปลง ซึ่งเรื่องนี้เรากำลังเสนอ ครม. เพื่อให้เด็กด้อยโอกาสในชั้นมัธยมศึกษาได้เงินค่าอาหารกลางวัน 20 บาทเหมือนกับน้องๆ

“มื้อเช้า มื้อเย็น วันหยุด เด็กกินอาหารที่บ้าน จะทำอย่างไรให้ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับโภชนาการของเด็ก เอาเท่าที่พอจะช่วยได้ ทำพืชผักสวนครัวกินได้ กินไข่ กินปลา ในช่วงระหว่างโควิด-19 หยุดระบาดแล้ว ต้องค่อยๆ เติมความรู้เรื่องโภชนาการ พยายามให้เขาพึ่งพาตัวเองได้” 

 

 

“คำว่าโภชนาการสมวัย จริงๆ เริ่มตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ เด็กเจริญเติบโตตามศักยภาพที่เขาควรจะเป็น สูงตามวัย น้ำหนักตามวัย ส่วนการพัฒนาสติปัญญาและสมองต้องเป็นไปตามศักยภาพ ถ้าเด็กได้รับสารอาหารดี สมองจะพัฒนาได้อย่างดี ช่วงแรกเกิดถึง 2 ขวบ เป็นวัยที่จะตัดสินชี้ชะตาว่าสมองเด็กจะมีพัฒนาการดีหรือไม่ ทั้งด้วยอาหารและการเลี้ยงดู ถ้าเขาได้กินนมแม่จนถึง 2 ขวบ และได้รับสารอาหารตามวัย กินอาหารอย่างถูกต้อง สมองจะเจริญเติบโตเต็มที่ตามศักยภาพ เพราะช่วง 2 ขวบเป็นวัยที่สมองเติบโตเร็วที่สุด หลังจากนั้นก็เจริญเติบโตเร็วเหมือนกันแต่จะช้ากว่าช่วง 2 ขวบ

“ดังนั้นการดูแลเด็กเพื่อให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพ เราต้องให้ความสำคัญด้านโภชนาการ อย่าให้อาหารลูกเพียงแค่อิ่มอาหาร ต้องให้อิ่มทั้งอาหารและสารอาหารด้วย อย่าปล่อยให้เด็กกินขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลมทั้งวัน ต้องให้เขากินอาหารที่เสริมสร้างพัฒนาการ และทำให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ อาหารทุกมื้อ อาหารว่างทุกคำที่ลูกกิน พ่อแม่ต้องสนใจ หมดเวลาที่จะคิดว่าลูกไม่กินผัก เด็กที่ไม่กินผักเขาจะไม่กินผักตอนโต โอกาสจะเป็นมะเร็งสูงมาก”

ธนาคารโลกให้ข้อมูลที่น่าสนใจไว้ว่า ประเทศใดที่รัฐบาลกล้านำเงินมาลงทุนด้านโภชนาการในแม่และเด็ก นั่นจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ เช่น ถ้าลงทุน 1 บาท เมื่อเด็กคนนี้โตขึ้นไป ประเทศจะได้กำไร 13 บาท มองง่ายๆ ถ้าเราลงทุนให้เด็กได้กินดี สมองเขาดี เขาก็ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เศรษฐกิจประเทศชาติเติบโต แต่ถ้าไม่ลงทุน ปล่อยให้เด็กไม่ได้รับสารอาหารเพียงพอ เราก็ได้ผู้ใหญ่ที่ไม่มีศักยภาพนั่นเอง”

 

ภาพจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส 

 

 

คุณเองก็ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอนาคตของชาติได้
“ณ ตอนนี้สิ่งที่เราทุกคนช่วยกันทำได้ดีที่สุดคือ บริจาค เพราะวิกฤตตอนนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนสุด ต้องให้เด็กได้รับโภชนาการสมวัย กสศ. ยังต้องการแรงสนับสนุนและเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือเด็กยากจนอีกมาก ซึ่งในระยะยาวไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเงิน หากบริษัทเอกชนหรือภาคธุรกิจที่มีศักยภาพพอที่จะมาร่วมมือกับ กสศ. เพื่อทำให้เด็กเหล่านี้พึ่งพาตนเองได้ ให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีความรู้เรื่องโภชนาการ นั่นก็เป็นการแก้ปัญหาระยะยาวที่เราหวังจะได้เห็นต่อไปในอนาคต

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ขอเชิญร่วมบริจาค ‘โครงการ #สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง’ เพื่อช่วยเด็กนักเรียนยากจนพิเศษกว่า 750,000 คนทั่วประเทศ ให้อิ่มท้องตามหลักโภชนาการในช่วงปิดเทอมที่ขยายเวลาออกไปจากสถานการณ์โควิด-19

ทุก 300 บาท = อาหาร 15 วันของเด็กนักเรียนยากจนพิเศษ 1 คน ที่จะช่วยเติมเต็มมื้ออาหารให้กับน้องๆ ได้ตลอด 15 วันที่เหลืออยู่จนกว่าจะเปิดเทอมอีกครั้ง

(ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า)
#สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม กับ กสศ.
ผ่านบัญชี ธนาคารกรุงไทย เลขที่ 172-0-30021-6
ชื่อบัญชี ‘กสศ.-มาตรา 6(6) – เงินบริจาค’ หรือบริจาคที่ www.eef.or.th/donate-covid/
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0 2079 5475

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X