กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุ 7 เดือนต่างชาติลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น 17% ขนเงินเข้าไทย 5.8 หมื่นล้านบาท แม้มูลค่าการลงทุนลดลงร้อยละ 20 หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว แต่ญี่ปุ่นยังคงเป็นนักลงทุนอันดับหนึ่ง ตามด้วยสิงคโปร์ จีน ขณะที่เลขา EEC พร้อมลุยต่อ 4 เมกะโปรเจกต์ เฟส 2 ได้แก่ รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, สนามบินอู่ตะเภา, เมืองการบินตะวันออก และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด และรอเสนอรัฐบาลใหม่ขยับเป้าดูดเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศให้ได้ไม่ต่ำกว่า 2.2 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570 ผ่าน 5 คลัสเตอร์ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
ทศพล ทังสุบุตร ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ช่วง 7 เดือนปี 2566 (มกราคม-กรกฎาคม) อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 377 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 58,950 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 3,594 คน
โดยมีชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่
- ญี่ปุ่น 22% เงินลงทุน 19,893 ล้านบาท
- สหรัฐอเมริกา 18% เงินลงทุน 3,044 ล้านบาท
- สิงคโปร์ 16% เงินลงทุน 12,925 ล้านบาท
- จีน 28 ราย 7% เงินลงทุน 11,663 ล้านบาท
- เยอรมนี 4% เงินลงทุน 1,298 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
นอกจากนี้ ยังมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมแรงดันหลุมขุดเจาะปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับการอัดฉีดซีเมนต์ในหลุมแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม องค์ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนดำเนินการขุดสถานีใต้ดิน องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม และองค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการแก้ไขปัญหาในการใช้งานยางล้ออากาศยานด้วย
ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ตามนโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ คือ
บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย บริการบำรุงรักษาหลุมขุดเจาะปิโตรเลียมบนชายฝั่ง
บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ปรับปรุง พัฒนา ทดลองระบบ เชื่อมระบบ และการเปิดใช้งาน ตลอดจนการบริหารจัดการสำหรับโครงการรถไฟฟ้า
บริการซอฟต์แวร์ ประเภท Enterprise Software และ Digital Content
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันปี 2565 พบว่า มูลค่าการลงทุนลดลง 14,674 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 (เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2566 ลงทุน 58,950 ล้านบาท / เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2565 ลงทุน 73,624 ล้านบาท) โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่น เช่นเดียวกับปี 2565
EEC ปูพรมนักลงทุนต่างชาติต่อเนื่อง
ทศพลกล่าวอีกว่า การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC มีมูลค่าการลงทุน 12,348 ล้านบาท คิดเป็น 21% ของเงินลงทุนทั้งหมด
เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น 31 ราย ลงทุน 5,379 ล้านบาท, จีน 12 ราย ลงทุน 893 ล้านบาท, เกาหลีใต้ 5 ราย ลงทุน 287 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ อีก 25 ราย ลงทุน 5,789 ล้านบาท โดยธุรกิจที่มาลงทุนมากสุด ได้แก่
- บริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการบริหารจัดการกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ
- บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การออกแบบเครื่องจักร เครื่องกล เครื่องมือและอุปกรณ์
- บริการรับจ้างผลิตเครื่องจักร และชิ้นส่วนของเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรม
- บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ และ 5. บริการออกแบบแม่พิมพ์โลหะสำหรับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
ด้าน จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า วันนี้การพัฒนาพื้นที่ EEC จะมุ่งยึดหลักการพัฒนาที่สอดรับกับบริบทโลกของอุตสาหกรรมในอนาคต เพื่อดึงดูดและรองรับการลงทุนจากทั่วโลกในพื้นที่เศรษฐกิจนี้ และจะเปิดการเจรจาธุรกิจจากนักลงทุนทั่วโลกด้วยงาน EEC Cluster Fair 2023 ในเดือนกันยายน เพื่อให้ EEC เป็นจุดหมายใหม่แห่งการลงทุนครั้งใหญ่ของประเทศ
รอรัฐบาลใหม่เคาะเป้า EEC เฟส2
ดังนั้น ก้าวแรกที่สำคัญของเป้าหมาย 5 ปีต่อจากนี้ คือเริ่มจากพื้นฐานที่สำคัญ โดยล่าสุด EEC อยู่ระหว่างการทำแผนภาพรวมใน 5 ปีข้างหน้า (ปี 2566-2570) หรือระยะที่ 2 (เฟส 2) 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีเป้าหมายดึงเม็ดเงินลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ด้วยการตั้งเป้าไว้ 2.2 ล้านล้านบาท จากแผนเดิม ระยะ 1 ที่วางไว้ 2 ล้านล้านบาท
“เพิ่มจากเป้าเดิม 1.7 ล้านล้านบาท พร้อมเดินหน้า 4 เมกะโปรเจกต์ ได้แก่ รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, สนามบินอู่ตะเภา, เมืองการบินตะวันออก และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด โดย EEC จะเคาะแผนภาพรวม 5 ปีดังกล่าว รอเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณาต่อไป” จุฬากล่าว
ด้าน วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 คืบหน้าอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นร้อยละ 58.42 เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวของท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด รวมถึงรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มี 3 เฟส แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และช่วงที่ 2 การพัฒนาพื้นที่ธุรกิจด้านพลังงาน (Superstructure) 500 ไร่ ประกอบด้วยท่าเทียบเรือก๊าซ พื้นที่ 200 ไร่ ท่าเรือสินค้าเหลว พื้นที่ 200 ไร่ คลังสินค้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง พื้นที่ 150 ไร่ โดยคาดว่าโครงการช่วงที่ 1 จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2570 แน่นอน