โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) ถือเป็นหนึ่งในเมกะโปรเจกต์ ปลุกการลงทุนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มูลค่า 224,544 ล้านบาท นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่มีการประกาศเชิญชวนผู้ประมูล แต่ด้วยวิกฤตโควิด เศรษฐกิจชะลอ การแก้ไขสัญญาที่ล่าช้า เวลาจึงล่วงเลยมากว่า 7 ปี ถึงวันนี้ก็ยังไม่เกิดการลงทุน
ล่าสุดบอร์ด EEC ยืนยันว่าเดินหน้าแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนรถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน โดยสั่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และเอกชนคู่สัญญาเจรจาร่างสัญญาแก้ไข ก่อนชงเรื่องไปยังอัยการสูงสุด ตั้งเป้าเริ่มก่อสร้างเดือนเมษายน 2568 พร้อมจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ‘นิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้’ รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์ ดิจิทัล การพัฒนาบุคลากรและการศึกษา คาดดึงเม็ดเงินลงทุน 156,000 ล้านบาท จ้างงาน 20,000 คน
EEC ลุยต่อ ยันยึดหลักการเดิม รัฐ-เอกชนร่วมลงทุน (PPP)
รายงานข่าวระบุว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เร่งรัดหารือเอกชนผู้ลงทุน นั่นคือบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ลงนามในสัญญารับหนังสือเริ่มงานก่อสร้าง (NTP) ให้ได้ภายในเดือนมกราคม 2568 ทว่าหากไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ มีอีกแนวทางคือให้ รฟท. ลงมือก่อสร้างระบบรางเอง โดยใช้งบประมาณ 120,000 ล้านบาท แล้วจึงหาเอกชนเข้ามาบริหาร
จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยล่าสุดหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานว่า ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าของการดำเนินการเพื่อแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- BOI เคลียร์ปม ‘รถไฟไฮสปีด’ เชื่อม 3 สนามบิน
- ส่องเมกะโปรเจกต์ EEC ในรัฐบาลเศรษฐา ขอเวลา 4 ปี รถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินและอู่ตะเภา ต้องเกิด
โดยได้หารือร่วมกันเพิ่มเติมระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และ รฟท. เพื่อยืนยันว่าการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟไฮสปีด ซึ่งยังคงเป็นไปตามหลักการเดิมของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP)
และได้มอบหมายให้ รฟท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามข้อ 21 ของประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (EEC Track) ซึ่งเป็นไปตามที่ได้หารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติการเสนอเรื่องต่อ ครม. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว ดังนั้นการดำเนินการต่อไป รฟท. และเอกชนคู่สัญญาจะเจรจาร่างสัญญาแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารสัญญา คณะกรรมการกำกับดูแล และนำเสนอร่างสัญญาแก้ไขเสนอต่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา
หลังจากนั้น รฟท. จะเสนอร่างสัญญาแก้ไขที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดมายัง สกพอ. เพื่อเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบในการแก้ไข โดย รฟท. และเอกชนคู่สัญญาจะลงนามร่างสัญญาฉบับแก้ไขที่ ครม. เห็นชอบ
และขั้นตอนสุดท้าย รฟท. จะสามารถออกหนังสือแจ้งให้เอกชนคู่สัญญาเริ่มงานก่อสร้างโครงการได้ภายในเดือนเมษายน 2568
ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ ‘นิคมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้’ รับอุตสาหกรรมเป้าหมาย
จุฬากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังเห็นชอบการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ ซึ่งใช้เนื้อที่ประมาณ 1,172 ไร่ บริเวณตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับการขยายตัวและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การบินและโลจิสติกส์ ดิจิทัล การพัฒนาบุคลากรและการศึกษา โดยคาดว่าจะมีการลงทุนในพื้นที่ราว 156,000 ล้านบาท
รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศโดยการใช้ชิ้นส่วนและอุปกรณ์จากผู้ผลิตภายในประเทศ (Local Content) ในสัดส่วนถึง 90% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตได้ภายในพื้นที่โครงการ สร้างโอกาสด้านอาชีพผ่านการจ้างงานอีกประมาณ 20,000 คน และสร้างโอกาสทางธุรกิจต่อเนื่องให้แก่ชุมชนในพื้นที่ เช่น ร้านค้า โรงแรม หอพัก ฯลฯ ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศ
ด้าน พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยว่า การแก้ไขสัญญาจะมีการสานต่อไปยังต้นสังกัด คือกระทรวงคมนาคม ในการทบทวนกฎหมาย อย่างไรก็ตาม รถไฟไฮสปีดเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักของภาคตะวันออก ขณะเดียวกันนักลงทุนเก่าและใหม่จะมีการลงทุนในบริเวณดังกล่าวเยอะ ซึ่งแปลว่ารถไฟจะเป็นเรื่องหลักในการลงทุน ส่วนในเชิงเศรษฐศาสตร์รูปแบบการลงทุนจะยึดหลักเดิม
เมื่อถามถึงการขยายเขตโครงการ EEC ไปยังจังหวัดปราจีนบุรี พิชัยกล่าวว่า ในแง่ของคนในพื้นที่ บางส่วนเมื่อเห็นนักลงทุนมาเยอะก็อยากขยายพื้นที่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือ โดยภายหลัง ครม. อนุมัติกรอบงบปี 2569 จะให้หน่วยงานราชการเสนอคำของบประมาณให้คณะกรรมการพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
ย้อนรอย ‘โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน’
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีการประกาศเชิญชวนผู้ประมูล แต่ด้วยวิกฤตโควิด เศรษฐกิจชะลอ การแก้ไขสัญญา จึงล่าช้ามากว่า 7 ปี ถึงวันนี้ก็ยังไม่เกิดการลงทุน โดยบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ถือเป็นบริษัทเอกชนผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) รายแรก ที่ได้รับคัดเลือกจากรัฐบาลให้พัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงในรูปแบบสัญญาการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) โดยมีระยะเวลาสัญญา 50 ปี มีมูลค่ากว่า 224,544 ล้านบาท
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น โดยมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท รวมถึงการจ้างงานตลอดช่วงระยะเวลาการก่อสร้างสูงถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปี
ภาพ: Pat18241 / Getty Images