คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ EEC โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าโครงการรวม 290,000 ล้านบาท
สำหรับโครงการเมืองการบินภาคตะวันออกบนเนื้อที่ 6,500 ไร่ บริเวณสนามบินอู่ตะเภา มี 6 กิจกรรม คือ
- อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3
- ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน
- ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน
- เขตประกอบการค้าเสรี และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
- ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์
- ศูนย์ฝึกอบรมการบิน
ส่วนประโยชน์ที่คาดว่ารัฐจะได้ ด้านการเงิน (ค่าเช่าที่ดิน ส่วนแบ่งรายได้) มูลค่าปัจจุบัน 305,555 ล้านบาท เป็นเงินรวม 1,326,000 ล้านบาท ใน 50 ปี ได้ภาษีอากรเพิ่มมากกว่า 62,000 ล้านบาท ไม่รับรวมรายได้ภาษีทางอ้อมกับธุรกิจเชื่อมโยงนอกเมืองการบินภาคตะวันออก
นอกจากนี้ยังเกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก เพิ่มเทคโนโลยีและพัฒนาทักษะแรงงานด้านธุรกิจการบินและธุรกิจเชื่อมโยง ภายหลังสิ้นสุดสัญญา ทรัพย์สินทั้งหมดตกเป็นของรัฐ
สำหรับความสำคัญของเมืองการบินภาคตะวันออกนั้นวางยุทธศาสตร์ไว้ 3 ด้าน คือ เป็นสนามบินกรุงเทพฯ แห่งที่ 3 เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมาย โดยเฉพาะการเป็น ศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและ Logistics & Aviation ของ EEC
รวมถึงเป็นศูนย์กลางของมหานครการบินภาคตะวันออก ที่จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมืองประมาณ 30 กิโลเมตรโดยรอบสนามบิน
ด้านการคัดเลือกเอกชนร่วมทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ดำเนินการโดยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โดยบรรลุข้อตกลงการเจรจากับเอกชนร่วมลงทุน โดยรับทราบข้อเสนอซองที่ 4 (ข้อเสนออื่นๆ) ของกลุ่มกิจการร่วมค้า BBS และไม่นำมาเป็นส่วนหนึ่งของร่างสัญญาร่วมทุน เนื่องจากไม่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขการคัดเลือก และดำเนินการจัดส่งร่างสัญญาร่วมทุนให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาแล้วเสร็จแล้ว โดยคาดว่าจะสามารถลงนามกับกลุ่มกิจการร่วมค้า BBS ได้ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้
สำหรับกลุ่มกิจการร่วมค้า BBS ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียนิ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยเสนอ Narita International Airport Corporation เป็นผู้รับจ้างในการบริหารสนามบิน
คณิศกล่าวว่า สำหรับผลประโยชน์ร่วมของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมประสานงานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เพื่อให้มีการทำงานอย่างบูรณาการเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดเชื่อมโยงแผนงานการก่อสร้าง และแผนการเปิดบริการให้สอดคล้องหรือพร้อมกันได้
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
รายงาน: ภัทราภรณ์ เกียรตินันท์
เรียบเรียง: จำเนียร พรทวีทรัพย์
ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ได้ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum