×

EEC เคลียร์ปมแบงก์เบรกปล่อยกู้โครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ชี้ขั้นตอนการหาสินเชื่อแล้วเสร็จราวเดือนพฤศจิกายนปีหน้า

26.10.2021
  • LOADING...
EEC

EEC เผยสถาบันการเงินเริ่มปล่อยกู้เอกชนเดินหน้ารถไฟเชื่อม 3 สนามบิน พฤศจิกายน 2565 พร้อมกำชับ รฟท. ลงนามคู่สัญญา แก้ปัญหาแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ขาดทุน ย้ำไม่ให้กระทบประชาชนผู้โดยสาร

 

คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ EEC ได้รายงานความคืบหน้าการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินว่า ภายหลังมีกระแสข่าวว่าสถาบันการเงินไม่อนุมัติสินเชื่อให้กับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ของกลุ่มซีพี เพื่อดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่เอกชนต้องได้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพราะสัญญาร่วมลงทุนกำหนดว่าให้เอกชนคู่สัญญาทำสัญญาสินเชื่อโครงการกับสถาบันการเงิน ภายใน 240 วันนับจากวันที่ รฟท. ออกหนังสือแจ้งให้เริ่ม (NTP) ดังนั้นขั้นตอนการหาสินเชื่อจะแล้วเสร็จประมาณเดือนพฤศจิกายน 2565

 

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ส่งมอบพื้นที่พร้อมก่อสร้างของโครงการช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภาให้ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (เอกชนคู่สัญญา) แล้วร้อยละ 98.11 ระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร คิดเป็นพื้นที่ 3,513 ไร่ 1 งาน 3 ตารางวา และเอกชนคู่สัญญาได้ทยอยเข้าเตรียมการก่อสร้างแล้วตั้งแต่ปลายปี 2563 และ รฟท. จะส่งมอบพื้นที่ที่เหลืออีกร้อยละ 1.89 ภายในเดือนมกราคม 2565 และเมื่อเอกชนคู่สัญญาตรวจรับพื้นที่แล้วเสร็จ รฟท. จะออกหนังสือ NTP อย่างเป็นทางการ คาดว่าจะเสร็จราวเดือนมีนาคม 2565

 

ทั้งนี้ในส่วนของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ทาง รฟท. รับภาระขาดทุนมาโดยตลอด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ทำให้ผู้โดยสารลดลงจากประมาณ 7-8 หมื่นคนต่อวัน เหลือเพียง 1-2 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่คาดการณ์มาก่อน และเห็นว่าต้องให้มีการถ่ายโอนการดำเนินการให้เอกชนตามกำหนด จึงไม่จัดเตรียมงบประมาณไว้ล่วงหน้า 

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 รฟท. และเอกชนคู่สัญญาจึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อให้บริหารสัญญาร่วมลงทุนในการแก้ไขปัญหาโครงการ เพื่อให้เอกชนเข้ารับดำเนินการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และให้มีบริการได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้หลักการที่ กพอ. ให้นโยบายว่าให้หาทางแก้ไขโดยไม่ให้กระทบต่อประชาชนผู้โดยสาร

 

“เอกชนเข้ารับดำเนินการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ นับจากวันที่ 24 ตุลาคม 2564 ตามกำหนดการที่วางไว้ เอกชนคู่สัญญารับผิดชอบค่าใช้จ่ายรวมถึงบุคลากรปฏิบัติงานทั้งหมด รับผิดชอบความเสี่ยงทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงานที่ได้รับมอบหมาย และการดำเนินการอื่นใด เพื่อทำให้การเดินรถไฟและซ่อมบำรุงรักษาระบบแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เป็นไปตามมาตรฐานดัชนีชี้วัด หรือ KPI ที่ รฟท. กำหนด ซึ่งก่อนการเข้ารับดำเนินการเอกชนได้ลงทุนไปแล้วกว่า 1,100 ล้านบาท เช่น การปรับปรุงระบบและบริการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ การฝึกอบรมพนักงานปฏิบัติการ เป็นต้น”

 

ทั้งนี้ รฟท. ยังเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสาร ไม่โอนรายได้ให้เอกชนในทันที แต่จะโอนให้เมื่อแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จ โดยจะให้เอกชนนำค่าโดยสารดังกล่าวไปหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น หากกำไรต้องส่งคืน รฟท. ดังนั้น รฟท. จึงไม่ต้องรับภาระขาดทุนจากแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ อีกต่อไป คิดเป็นประมาณ 600 ล้านบาทในปี 2564

 

คณิศกล่าวว่าในวันที่ลงนามบันทึกข้อตกลง เอกชนคู่สัญญาได้ชำระเงินจำนวน 1,067.11 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10 สิทธิร่วมลงทุนในแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จำนวน 10,671.09 ล้านบาท ให้แก่ รฟท. เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะดำเนินการอย่างเคร่งครัดตามบันทึกข้อตกลง มีระยะเวลา 3 เดือน อีกทั้งเอกชนยังเสนอการลงทุนจัดหาขบวนรถไฟฟ้าเพิ่มเติมในการพัฒนาแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยรัฐไม่เสียประโยชน์และเอกชนได้รับความเป็นธรรม

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X