×

นายกฯ โชว์ผลงานสร้างระบบหลักประกันโอกาสการศึกษาผ่าน กสศ. ช่วยเด็กยากจน 3.5 ล้านคน ไม่ให้หลุดออกนอกระบบ

โดย THE STANDARD TEAM
17.01.2023
  • LOADING...

วันนี้ (17 มกราคม) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้โพสต์เฟซบุ๊กตอนหนึ่งระบุว่า “ประเด็นหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับผม นั่นคือเรื่องการศึกษา ซึ่งตั้งแต่ผมได้เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้มุ่งมั่นดำเนินนโยบายลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษามาตลอด ด้วยการดูแลนักเรียน-นักศึกษาผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ด้อยโอกาส ผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)”

 

โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ มีผลการดำเนินงานสำคัญ ดังนี้

 

  1. สร้างระบบหลักประกันโอกาสการศึกษา เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนกว่า 3.5 ล้านคน ไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา อีกทั้งมีระบบส่งต่อให้ได้รับการศึกษาสูงกว่าภาคบังคับจนถึงอุดมศึกษาหรือสายอาชีพ ซึ่งจะเป็นการขจัดวงจรความยากจนข้ามรุ่นให้หมดสิ้นไป

 

  1. ช่วยเด็กและเยาวชนนอกระบบกว่า 40,000 คน ให้ได้กลับเข้าสู่การเรียนรู้ การพัฒนาทักษะชีวิต และเสริมสร้างทักษะอาชีพ ที่ตอบโจทย์ชีวิตตามศักยภาพและความถนัดเป็นรายบุคคล เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ทุกคน โดยมีงานทำเป็นหลักแหล่ง มีอาชีพที่มั่นคง ลดภาวะการพึ่งพิง และสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้

 

  1. เชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนที่เข้าศึกษาต่อ ผ่านระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS) ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่พบว่าเด็กที่ได้รับความช่วยเหลือจากการคัดกรองนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษของ กสศ. นี้ เมื่อปีการศึกษา 2561 ยังคงได้รับการศึกษาต่อเนื่อง และยืนยันสิทธิ์ผ่านระบบ TCAS ในปีการศึกษา 2565 จำนวน 20,018 คน กระจายอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 75 แห่ง ทั่วประเทศ

 

 

“สิ่งที่น่าสนใจคือรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ได้จัดทำแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ และประเมินว่านักศึกษาทั้ง 20,018 คนนี้เมื่อเรียนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จะเกิดประโยชน์เฉพาะตัวในทันที คือการมีอาชีพและสร้างรายได้เลี้ยงชีพ-เลี้ยงครอบครัว ซึ่งจะต่อยอดไปสู่ประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ โดยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นถึง 66,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 3.3 ล้านบาทต่อคน เกิดโอกาสหารายได้ที่สูงขึ้นกว่าการสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายอย่างมาก” พล.อ. ประยุทธ์ระบุ

 

ซึ่งถ้าหากจะคำนวณต้นทุนในการศึกษาจนสำเร็จระดับปริญญาตรีโดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 8,200 ล้านบาท หรือคิดเป็น 410,000 บาทต่อคน แต่ได้ผลตอบแทนเชิงเศรษฐกิจมากกว่า 7 เท่า ซึ่งนับว่าสูงมาก เทียบเคียงได้กับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้า

 

“แต่ที่ผมเห็นว่าสำคัญกว่านั้นคือความคุ้มค่าในเชิงสังคม เพราะนอกจากจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ขจัดมรดกความยากจนข้ามรุ่นแล้ว ยังเสริมสร้างสมรรถนะทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้สูงขึ้น ตอบโจทย์การพัฒนาในอนาคตอีกด้วย นี่คือสิ่งที่ผมมุ่งมั่นผลักดันนโยบายต่างๆ มาตลอด ทั้งหมดก็เพื่ออนาคตที่ดีของลูกหลานของเราครับ”

 

 

ขณะที่ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า โครงการเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข หรือทุนเสมอภาค เป็นหนึ่งในมาตรการของรัฐบาลผ่านการทำงานของ กสศ. ความก้าวหน้าสำคัญที่ผ่านมาตั้งแต่ในปีการศึกษา 2561 จนถึงปัจจุบัน จากภาพรวมของสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และความคุ้มค่าในการลงทุนที่ตอบโจทย์แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และหมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต

 

คณะกรรมการบริหาร กสศ. จึงได้เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแผนการใช้เงินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงินงบประมาณจำนวน 7,985,786,100 บาท เพื่อลดผลกระทบทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย กสศ. ได้เตรียมแผนเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนทุนเสมอภาคให้กับนักเรียนยากจนพิเศษ 1.3 ล้านคน เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพประชาชนและอัตราเงินเฟ้อต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising