×

สถาบันการศึกษาหาเงินเก่ง: ดีหรือไม่ดี?

30.09.2021
  • LOADING...
สถาบันการศึกษาหาเงินเก่ง: ดีหรือไม่ดี?

ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ใครที่ผ่านแถวสยามสแควร์และสามย่านคงเห็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่แถวนั้นไปเยอะมาก ล่าสุดมีการประมูลการบริหารจัดการพื้นที่บริเวณโรงหนังสกาลา โดยมีค่าตอบแทนสูงลิ่วถึงกว่า 6 พันล้านบาท ซึ่งเจ้าของพื้นที่ทั้งหมดที่พูดมาก็คือมหาวิทยาลัยกลางเมืองที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทยนั่นเอง

 

หลายคนอาจตั้งคำถามว่ามหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนตัวเองไปเป็นนักพัฒนาอสังหาฯ แล้วหรือ ถึงต้องหาประโยชน์จากที่ดินตัวเองขนาดนี้ คำตอบผมว่าน่าจะเป็นการสร้างมูลค่าจากสิ่งที่ตัวเองมี (ที่ดิน) เพื่อนำรายได้มาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของมหาวิทยาลัย สร้างตึกเรียนใหม่ๆ ซื้ออุปกรณ์ สนับสนุนงานวิจัยต่างๆ รวมถึงจ้างนักวิชาการที่มีคุณภาพมาเป็นบุคลากร เพื่อส่งเสริมคุณภาพและยกระดับการศึกษา เพราะลำพังค่าเล่าเรียนที่ได้ไม่น่าจะเพียงพอต่อการพัฒนาสิ่งต่างๆ อย่างมีคุณภาพได้หรอกครับในโลกยุคนี้ โดยท้ายสุดแล้ว ผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือผู้ที่ผ่านการศึกษาจากที่นี่และออกไปขับดันเศรษฐกิจและสังคมไทยมากกว่า

 

กรณีนี้ยังนับว่าเป็นมูลค่าที่น้อยมากนะครับเมื่อเทียบกับ ‘เงินบริจาค’ ที่มหาวิทยาลัยดังๆ ระดับโลกอย่างในสหรัฐฯ เค้าได้กัน จากสถิติเค้าบอกว่าในปี 2019 มีผู้ใจบุญบริจาคเงินให้กับสถาบันการศึกษาในสหรัฐอเมริกาเป็นมูลค่าเกือบ ‘50,000 ล้านดอลลาร์’ หรือกว่า 1.5 ล้านล้านบาท (มากกว่า GDP ของกว่า 108 ประเทศ!) ยกตัวอย่างเช่นมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ทุกคนทราบดีว่าเป็นมหาวิทยาลัยระดับต้นๆ ของโลก มีการทำแคมเปญระดมทุนในช่วงปี 2013-2018 แค่ 5 ปี ระดมทุนได้ถึง 9.6 พันล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 3 แสนล้านบาทเลยทีเดียว แล้วคิดดูว่าฮาร์วาร์ดมีมาแล้วกี่ปี จะมีเงินที่ได้รับบริจาคเยอะแค่ไหน ก็ไม่มากไม่มายครับ ตัวเลขเค้าบอกว่าประมาณ 42,000 ล้านดอลลาร์แค่นั้น (มากกว่าที่มหาวิทยาลัยท็อป 10 ของอังกฤษได้รับรวมกันเสียอีก)

 

เงินที่ระดมทุนมาได้ แต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีการจัดตั้งหน่วยงานเป็นบริษัทขึ้นมาเพื่อบริหารเงินดังกล่าว อย่างในกรณีของฮาร์วาร์ด เค้าตั้งชื่อว่า Harvard Management Company (HMC) ซึ่งทุกปีจะใช้เงินประมาณ 1-2 พันล้านดอลลาร์ ในการดำเนินการต่างๆ ตั้งแต่จ้างศาสตราจารย์เก่งๆ จัดซื้อหนังสือดีๆ สำหรับห้องสมุด สร้างตึกใหม่ สนับสนุนงานวิจัย สร้างห้องแล็บ รวมทั้งพวกเงินทุนช่วยเหลือนักเรียนต่างๆ ส่วนเงินบริจาคที่เหลือยังไม่ได้ใช้ก็ต้องทำประโยชน์ สร้างรายได้ขึ้นมาเพื่อชดเชยรายจ่ายดังกล่าว ดังนั้นบริษัทนี้ก็จะนำเงินไปลงทุนเพื่อให้เกิดผลตอบแทน ก็เหมือนมีคนบริหารกองทุนที่ต้องหมุนเวียนเงิน หาทางสร้างผลกำไรตอบแทน เพื่อที่เงินที่ระดมทุนจะได้ต่อยอดได้ยาวๆ

 

อย่างที่ฮาร์วาร์ดก็พยายามเอาเงินไปสร้างรายได้ โดยบางส่วนเอาไปลงทุนกับธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิล (ก๊าซธรรมชาติ, ถ่านหิน และน้ำมัน) ที่ได้รับผลตอบแทนสูง แต่ก็โดนแรงกดดันจากศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันที่ให้ความสำคัญเรื่องของสิ่งแวดล้อมมาหลายปีว่าควรยกเลิกเสีย เพราะฮาร์วาร์ดจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างมลภาวะให้โลกเรา จนล่าสุด ฮาร์วาร์ดถึงกับต้องออกแถลงการณ์ว่าจะไม่นำเงินบริจาคไปลงทุนในธุรกิจประเภทนี้อีก สอดคล้องกับที่ทางมหาวิทยาลัยเองก็ไม่เคยรับเงินบริจาคโดยตรงจากสายธุรกิจประเภทนี้อยู่แล้ว ก็น่าชื่นชมที่มหาวิทยาลัยกลายเป็นตัวอย่างที่ดีสมใจศิษย์ผู้รักโลก 

 

ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจเมื่อหันกลับมามองโมเดลของการสร้างรายได้เพื่อยกระดับสถาบันการศึกษาของไทย อาจจะยังไม่ต้องคิดเรื่องนั้นมากครับ ผมว่าประเทศเราเจอปัญหาที่ใหญ่กว่าคือเรื่องการนำเด็กเข้าระบบการศึกษาและป้องกันไม่ให้หลุดออกไปให้มากที่สุด ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่งบทั้งภาครัฐและเอกชนถูกทุ่มสนับสนุนเรื่องนี้ เช่นการให้ทุนการศึกษามากกว่าที่จะโฟกัสกับการพัฒนาและยกระดับตัวสถาบันให้มีคุณภาพดีขึ้น ส่วนพวกสถาบันที่จะเริ่มมองเรื่องการพัฒนาคุณภาพและสภาพแวดล้อมทางการศึกษาก็จะเป็นกลุ่มที่ตอบสนองความต้องการของสังคมพีระมิดยอดบน ที่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียนแพงๆ เสียมากกว่า สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมทางด้านการศึกษาที่มีความมั่งคั่งเป็นปัจจัย ยิ่งมีเงินจ่ายให้เรียนในที่ดีๆ สถาบันเหล่านั้นก็ยิ่งสามารถเพิ่มคุณภาพการเรียนการสอนได้มากขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นจุดเริ่มต้นของความไม่เท่าเทียมในสังคมไทยทวีคูณในอนาคตต่อๆ ไป

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X