วันนี้ (16 มิถุนายน) ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ อิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้าพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. ว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทางสำนักงาน กกต. ได้เสนอข้อมูลการประกาศรับรองผล ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลเบื้องต้น แต่เห็นว่าการรับรองผลจะต้องมีข้อมูลประกอบมากกว่านี้ เพราะฉะนั้นกระบวนการพิจารณาเรื่องการประกาศรับรองผล ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จะมีการประชุมต่อในสัปดาห์หน้า รวมทั้งการประกาศรับรองผล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อด้วย
โดยยืนยันว่าการประกาศรับรองผลจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ที่กำหนดให้ต้องประกาศไม่เกิน 60 วัน ทั้งนี้จะช้าหรือเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่าข้อมูลที่จะเข้าสู่การพิจารณานั้นครบถ้วนสมบูรณ์แล้วหรือไม่ ทั้งนี้ข้อมูลที่ได้นั้นมาจากผู้อำนวยการ กกต. จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามว่ามีว่าที่ ส.ส. ท่านใดเข้าข่ายหรือไม่ ซึ่งกระบวนการนี้ใกล้จะแล้วเสร็จ ถ้าสัปดาห์หน้ามีข้อมูลเพียงพอก็สามารถที่จะประกาศรับรองผลให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 95 แต่ถ้าข้อมูลครบถ้วนก็จะสามารถประกาศให้ได้ครบร้อยละ 100 ยืนยันว่าจะประกาศผลให้เร็วกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2562
เมื่อถามว่ากรณีที่มีเอกสารหลุด และพบว่ามีจำนวน 71 ส.ส. ที่พบเรื่องร้องเรียน อิทธิพรกล่าวว่า เป็นเอกสารที่สำนักงานเสนอข้อมูลต่อที่ประชุม กกต. เพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งเป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ข้อมูลหลัก และยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะไม่ประกาศรับรองผลให้กับ 71 ส.ส. อิทธิพรกล่าวว่า ยังไม่อยากพูดเช่นนั้น เพราะเมื่อดูข้อมูลคำร้องจะสามารถพูดได้ว่าสำนวนที่ร้องเป็นประเภทใด ถ้าเกี่ยวข้องทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม กกต. ต้องพิจารณาว่าจะมีมติให้ดำเนินการอย่างไร หรือจะให้ดำเนินการสืบสวนต่อไปก่อน
ส่วนการพิจารณาใบเหลืองหรือใบส้มจะมีระยะเวลาดำเนินการอย่างไร อิทธิพรกล่าวว่า หากมีใบเหลืองหรือใบส้มจะต้องดำเนินการก่อนประกาศก่อนรับรองผล ส.ส. ส่วนจะแจกให้กับใครหรือไม่แจกนั้นจะต้องดูที่กระบวนการสืบสวนไต่สวน ซึ่งข้อมูลมาจาก กกต.จังหวัด หรือส่วนกลางเสร็จเรียบร้อยแล้ว และเสนอผ่านเลขาธิการ กกต. เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กกต. ซึ่งไม่สามารถพูดได้ว่ากระบวนการจะเป็นอย่างไรต่อไป ยืนยันว่าในระยะเวลาที่เหลืออยู่ก่อนครบกรอบ 60 วัน หาก กกต. ต้องสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ก็สามารถที่จะทำได้ เพราะระยะเวลามีเพียงพอและกฎหมายเปิดช่องย่นระยะเวลาเพื่อดำเนินการบางอย่าง ซึ่งขณะนี้สำนวนคำร้องเรียนคัดค้านการเลือกตั้ง กกต. ยังไม่ได้มีการเริ่มพิจารณา
เมื่อถามว่ากรณีที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล และหัวหน้าพรรค ถูกร้องเรียนให้ตรวจสอบการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จะประกาศผลพิจารณารับรองไปก่อนหรือไม่นั้น อิทธิพรกล่าวว่า กรณีดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการโดย กกต. ได้มีมติตั้งคณะกรรมการไต่สวนขึ้นมาตรวจสอบ ซึ่งจะดำเนินการโดยเป็นไปตามระเบียบการสืบสวนไต่สวน โดยกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการดำเนินการไว้ชัดเจน ย้ำว่าต้องให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย และต้องยึดถือกระบวนการตามขั้นตอนต่างๆ อย่างเคร่งครัด ส่วนจะต้องแยกระหว่างการประกาศรับรองผลกับการสืบสวนไต่สวนหรือไม่นั้น ยืนยันว่าไม่เกี่ยวเพราะ กกต. คำนึงถึงสาเหตุสำคัญคือการเลือกตั้งมีความสุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่
ส่วนกรณีบริษัทไอทีวี ล่าสุดออกแถลงการณ์เป็นเอกสารคำชี้แจงโดยมีทั้งเอกสารลงบันทึกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นและคลิปวิดีโอการประชุมผู้ถือหุ้นที่ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ รวมถึงเอกสารที่ยื่นให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะผู้จัดการมรดกจะมีผลต่อการพิจารณาของ กกต. หรือไม่ อิทธิพรกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนตามอำนาจการตรวจสอบของคณะกรรมการการสืบสวนไต่สวน ซึ่งได้ทำหน้าที่ตามขั้นตอนจะมีการเรียกพยานหรือเอกสารได้ โดย กกต. จะไม่ก้าวก่ายหรือแทรกแซงการทำงาน โดยขั้นตอนของคณะกรรมการฯ มีหน้าที่ให้ดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วภายใน 20 วัน หากไม่ทันสามารถขอขยายระยะเวลาได้ครั้งละ 15 วัน ดังนั้นเรื่องนี้จะทำโดยเร็วไม่ได้ เพราะจะขัดต่อกระบวนการของกฎหมายที่กำหนด
เมื่อถามอีกว่า มีการเรียกร้องให้ กกต. ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 เพื่อให้ทันต่อการโหวตนายกรัฐมนตรี อิทธิพรกล่าวว่า เรื่องนี้พูดตอนนี้ไม่ได้ เพราะยังไม่ผ่านขั้นตอนการพิจารณา หรือการนำเสนอของใคร ทุกอย่าง กกต. ต้องตัดสินโดยมติในที่ประชุม เมื่อยังไม่มีเรื่องเข้ามาอาจจะไม่เหมาะสมถ้าหากพูดเรื่องนี้ไปก่อน
เมื่อถามย้ำว่า เรื่องนี้จะต้องให้มีผู้ร้องเรียนยื่นเรื่องเข้ามาก่อนหรือไม่ อิทธิพรกล่าวว่า ถ้าตามกฎหมายไม่จำเป็น เมื่อถามเพิ่มเติมว่า สามารถนำข้อมูลในชั้นของคณะกรรมการสืบสวนมายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 82 ได้หรือไม่ อิทธิพรกล่าวว่า ตามทฤษฎีข้อมูลหลักฐานผลการตรวจสอบวินิจฉัยของคณะกรรมการสืบสวนเป็นอย่างไรจะต้องเสนอมาตามลำดับ เมื่อมาถึง กกต. จะต้องพิจารณาว่าข้อมูลเพียงพอ หรือว่าจะต้องดำเนินการอะไรเพิ่มเติม หรือสามารถตัดสินได้เลย
เมื่อถามอีกว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะสามารถพิจารณาได้ทันก่อนการโหวตนายกรัฐมนตรีเพื่อป้องกันปัญหา ประธาน กกต. กล่าวว่า คิดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเรื่องเข้าสู่กระบวนการ ถ้าเทียบกับระเบียบสืบสวนไต่สวนก็เหมือนประมวลวิธีพิจารณาความอาญา หากไปเร่งก็จะไม่เป็นธรรม