×

ก.ล.ต. เล็งขันน็อตแก้เกณฑ์เข้มป้องกันปัญหาซ้ำรอย STARK พร้อมจับมือหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งเดินหน้ารวมหลักฐานสอบทางกฎหมาย

20.06.2023
  • LOADING...
ก.ล.ต.

สำนักงาน ก.ล.ต. เร่งจับมือ 3 หน่วยงาน ทั้ง DSI-บก.ปอศ.-ปปง. เดินหน้ารวบรวมหลักฐานสอบปัญหา STARK เพื่อดำเนินการทางกฎหมาย เล็งขันน็อตแก้เกณฑ์เข้มเพิ่มป้องกันปัญหาซ้ำรอย

 

จอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า หลังจากกรณีเกิดปัญหาของ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK สำนักงาน ก.ล.ต. จะมีการพิจารณาศึกษาทบทวนปรับแก้ไขกฎเกณฑ์ รวมถึงมาตรการที่มีความเกี่ยวข้องให้มีความเข้มงวดขึ้น 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 


 

“เรื่องของกฎเกณฑ์หรือมาตรการการกำกับคงต้องไปดูในรายละเอียดอีกครั้งว่ามีเกณฑ์อันไหนที่หลวมไป สำนัก ก.ล.ต. ก็อาจจะไปขันน็อตเพิ่มเติมให้แน่นขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

 

สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินการกรณีของ STARK สำนัก ก.ล.ต. อยู่ระหว่างเร่งการทำงานทั้งการรวบรวมหลักฐานซึ่งต้องใช้เวลาเพื่อดำเนินการทางกฎหมาย รวมทั้งมีการประสานความร่วมมือการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องทั้งหมด กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ด้วย แต่คงยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดของข้อมูลได้ในขณะนี้

 

ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ขอย้ำเตือนผู้ลงทุนพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับงบการเงินและผลการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit) ของ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น ด้วยความระมัดระวังเพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจลงทุนในหุ้น STARK ในช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดให้ซื้อขายได้ชั่วคราวระหว่างวันที่ 1-30 มิถุนายนนี้ หลังจากเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 และเปิดเผยข้อมูลผลการตรวจสอบ Special Audit ระยะแรก พร้อมขอขยายระยะเวลาการเปิดเผยผลการตรวจสอบ Special Audit ทั้งหมดออกไปอีก 30 วัน 

 

เนื่องจากผลการตรวจสอบ Special Audit ที่กล่าวข้างต้นยังไม่ครอบคลุมขอบเขตการตรวจสอบตามที่ ก.ล.ต. สั่งการไว้ทั้งหมด ซึ่ง STARK ได้มีหนังสือลงวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการตรวจสอบ Special Audit เป็นวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 เพราะยังมีข้อมูลที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม 

 

ด้านแหล่งข่าวบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า จากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นของ STARK จากการหารือภายในบริษัท เตรียมจะเสนอแนวทางในการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นซ้ำรอยปัญหาที่คล้ายกับ STARK ขึ้นอีกในอนาคต กับหน่วยงานกำกับดูแลทั้ง สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ใน 2 แนวทางดังนี้

 

  1. เสนอให้พิจารณาทบทวนการใช้ข้อมูลของ CG Rating ซึ่งจัดทำโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors: IOD) ด้วยการสนับสนุนของตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ว่ายังสามารถใช้วัดระดับบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) สามารถเชื่อถือได้หรือไม่ เนื่องจากก่อนเกิดปัญหา STARK เคยมี CG Rating อยู่ในระดับที่สูง มีคะแนนประเมินที่อยู่ระดับที่ค่อนข้างดี แต่ก็ยังมีปัญหาทุจริตภายในและมีการแต่งงบการเงินเกิดขึ้น โดยอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องมืออื่นๆ หรือเพิ่มเติมเครื่องมืออื่นๆ ในการวัดระดับบรรษัทภิบาลของ บจ.

 

  1. เสนอให้เพิ่มมาตรฐานในด้านความโปร่งใสของผู้สอบบัญชีและมาตรฐานของงบการเงินปัจจุบันมีมาตรฐานเพียงพออยู่หรือไม่ เพราะปัญหาของ STARK ทำให้มีข้อสงสัยในประเด็นมาตรฐานของการทำงานของผู้สอบบัญชี ดังนั้นจึงมีข้อเสนอแนะว่าควรมีการเพิ่มความเข้มงวดของมาตรฐานของการทำงานของผู้สอบบัญชี โดยเพิ่มจำนวนผู้สอบในการจัดทำงบการเงินจากเดิมที่ใช้ 1 รายเพิ่มเป็น 2 ราย เพื่อเป็นการตรวจสอบยันความถูกต้อง (Cross Check) ของข้อมูล

 

“CG Rating ของ STARK ที่ผ่านมามีคะแนนสูงกว่า บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย ด้วยซ้ำ แต่ก็ยังเกิดปัญหาขึ้น มองว่ามาตรการดูแลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ตอนนี้เป็นการกำกับที่ปลายทางทั้งหมด หลังเกิดปัญหาแล้ว เช่น การ Force Market การติด Cash Balance หรือการขึ้นเครื่องหมายเตือนซึ่งมีเหตุการณ์เกิดขึ้นไปแล้ว เราจึงมีแนวคิดในการเสนอหาแนวทางการป้องกันเคสที่เกิดขึ้นอีกเหมือนกับ STARK ในอนาคต”

 

ขณะที่ สาห์รัช ชัฏสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.ทิสโก้ เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า กองทุนรวมของ บลจ.ทิสโก้ ที่ผ่านมาไม่เคยมีการลงทุนในหุ้นกู้ของ STARK และหุ้นของ STARK เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนกรอบนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมของ บลจ.ทิสโก้ ที่มีการกำหนดนโยบายมาไว้นานแล้ว ดังนั้นจึงไม่ผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

สำหรับนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ บลจ.ทิสโก้ จะลงทุนตราสารหนี้ที่มีเครดิตเรตติ้งที่ +A ขึ้นไป และไม่มีการลงทุนใน High Yield Bond เพราะมองว่ามีความเสี่ยงการลงทุนที่สูง ขณะที่การเลือกหุ้นลงทุนจะลงทุนเฉพาะในกลุ่ม SET50 กับ SET100 แต่จะต้องมีทีมผู้จัดการกองทุนคัดกรองหุ้นที่จะเข้าลงทุนอีกชั้น ซึ่งต้องเข้าเงื่อนไขและนโยบายการลงทุนที่กำหนดไว้ภายในด้วย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising