×

จะสัมผัสสารเคมีตัวร้ายไปทำไม หากเราซื้อของมาเพื่อ ‘ดูแลตัวเอง’ ข้อคิดจาก Ecostore สู่ผู้บริโภค

05.11.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • สบู่ แชมพู ครีมนวดผม โลชัน คือสินค้าที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน ที่เต็มไปด้วยสารเคมีหลายประเภทอาจกำลังทำร้ายเราอยู่ ก่อนจะไปทำลายแหล่งน้ำตามธรรมชาติต่อ แล้วทำไมเรายังเลือกวิธีบริโภคแบบนี้อยู่ นี่คือข้อสงสัยของผู้ประกอบการชาวนิวซีแลนด์เมื่อเกือบ 25 ปีก่อน ก่อนที่เขาจะ ‘คิดต่าง’ สร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีกับทั้งตัวเองและสิ่งแวดล้อม
  • ปัจจุบัน Ecostore กลายเป็นบริษัทที่สร้างรายได้ประมาณ 40 ล้านเหรียญนิวซีแลนด์ต่อปี (ประมาณ 840 ล้านบาท) เติบโตในอัตราไม่ต่ำกว่าสองหลักในแต่ละปี เป็นผลิตภัณฑ์ ‘Eco’ แถวหน้าในนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย รวมทั้งขายในจีน, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, มาเลเซีย รวมทั้งในบ้านเรา
  • มัลคอล์ม แรนด์ส ผู้ก่อตั้ง Ecostore มองว่า สินค้า Eco ไม่ควรต้อง ‘ยาก’ คือ ต้องเข้าถึงได้ง่ายโดยไม่ต้องให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมอะไรมาก ต้องมีคุณภาพเท่ากันหรือดีกว่าสินค้ากระแสหลักที่พวกเขาใช้อยู่ ต้องไม่เข้าถึงยากด้วยราคาที่สูงกว่าหรือหาซื้อได้แต่ในร้านค้าเฉพาะทาง และไม่มีรูปลักษณ์ที่ดูฮิปปี้จนเกินไป เพื่อคนหมู่มากในสังคมซื้อไปใช้ได้

ตั้งแต่เช้าจนเข้านอน ร่างกายของผู้บริโภคอย่างเราสัมผัสผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่เต็มไปด้วยสารเคมีสารพัดชนิดที่เราไม่รู้ที่มา

 

ถึงแม้ทุกคนจะเลือกใช้สบู่ แชมพู ครีมนวดผม โลชัน และสินค้าอีกมากมายเพื่อดูแลตัวเอง แต่สารเคมีหลายประเภทอาจกำลังทำร้ายเราอยู่ ก่อนจะไปทำลายแหล่งน้ำตามธรรมชาติต่อ แล้วทำไมเรายังเลือกวิธีบริโภคแบบนี้อยู่ นี่คือข้อสงสัยของผู้ประกอบการที่แสนจะฮิปปี้คนหนึ่งในนิวซีแลนด์เมื่อเกือบ 25 ปีก่อน ก่อนที่เขาจะ ‘คิดต่าง’ สร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีกับทั้งตัวเองและสิ่งแวดล้อมที่กลายมาเป็น Ecostore ที่ส่งขายไปทั่วโลก

 

มัลคอล์ม แรนด์ส และ เมลาเนีย แรนด์ส คู่สามีภรรยาเคยเป็น NGO ด้านศิลปะเพื่อการพัฒนา ก่อนร่วมก่อตั้งชุมชนเกษตรยั่งยืนแบบ Permaculture* แห่งแรกของนิวซีแลนด์เมื่อปี 1987

 

 

พื้นที่จำนวน 158 เอเคอร์ของพวกเขาอยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติที่เป็นป่าสวยงามและชายหาด ทุกอย่างที่ชุมชนเพาะปลูก นอกจากจะเป็นการเกษตรแบบออร์แกนิกแล้ว ยังใส่ใจถึงผลกระทบองค์รวมต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนใช้น้ำที่ไหลมาจากความบริสุทธิ์ของธรรมชาติป่า ก่อนจะไหลลงทะเล

 

วันหนึ่งมัลคอล์มตั้งคำถามว่า น้ำที่ชุมชนใช้จะยังสะอาดพอหรือมีสารเจือปนไหมเมื่อไหลผ่านไป

 

เขาพบว่า แชมพู สบู่ น้ำยาล้างจาน และผงซักฟอกที่เราใช้อยู่มีสารเคมีหลายประเภทที่ไม่ดีต่อร่างกาย เช่น ทำให้น้ำมันในผิวน้อยลง ฆ่าแบคทีเรียตัวดี เกิดภูมิแพ้ หรือสารพิษถูกดูดซับผ่านผิวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเยื่อ นอกจากทำร้ายผู้บริโภคแล้ว ยังทำให้น้ำเสีย การตลาดที่โหมกระหน่ำกว่าครึ่งศตวรรษสอนให้เราเข้าใจผิดว่าสบู่ที่ดีต้องมีฟอง หรือแชมพูที่ดีต้องทำให้ผมหอมฟุ้ง

 

เพื่อดูแลครอบครัวและแหล่งน้ำของชุมชน มัลคอล์มและภรรยาจึงเริ่มทำผลิตภัณฑ์จากสารธรรมชาติใช้เอง เขาพบว่าผื่นผิวหนังของเขาดีขึ้น และอาการภูมิแพ้ก็บรรเทาลง เมื่อใช้เองแล้วพบว่าดี มัลคอล์มและเมลานีจึงเริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น สบู่ แชมพู และน้ำยาล้างจานทางไปรษณีย์ และพบว่ามีผู้บริโภคจำนวนมากที่ต้องการสินค้า Eco บริษัท Ecostore ถือกำเนิดขึ้นในปี 1993

 

 

ด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีก 4 ปีต่อมา พวกเขาจึงตั้งร้าน Ecostore ในโอ๊กแลนด์ เมืองที่ประชากรมากที่สุดในประเทศ ซึ่งร้านแฟลกชิปแห่งนี้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัททั้งแบบขวด แบบขายส่งเป็นแกลลอน รวมทั้งแบบรีฟิล ที่ให้ลูกค้าเอาขวดกลับมาเติมน้ำยาได้ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน

 

ปัจจุบัน Ecostore กลายเป็นบริษัทที่สร้างรายได้ประมาณ 40 ล้านเหรียญนิวซีแลนด์ต่อปี (ประมาณ 840 ล้านบาท) เติบโตในอัตราไม่ต่ำกว่าสองหลักในแต่ละปี เป็นผลิตภัณฑ์ Eco แถวหน้าในนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย รวมทั้งขายในจีน, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, มาเลเซีย รวมทั้งในบ้านเรา

 

 

บริษัทแบ่งสินค้าออกเป็น 6 ประเภทหลัก ได้แก่ 1. ดูแลร่างกาย เช่น สบู่อาบน้ำและล้างมือ 2. ดูแลผม เช่น ยาสระผมและครีมนวด 3. ดูแลช่องปาก เช่น ยาสีฟัน แปรงสีฟัน 4. ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก เช่น แชมพู สบู่ เบบี้ออยล์ 5. ดูแลผิว เช่น ครีมบำรุงผิวหน้าและคลีนเซอร์ และ 6. ผลิตภัณฑ์ซักล้าง เช่น น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก

 

 

Ecostore มีโรงงานผลิตและส่วนวิจัยและพัฒนาสูตรต่างๆ เอง แต่กระนั้นก็ยังผลิตสินค้าบางตัวที่ลูกค้าอยากได้ไม่ได้ เพราะสินค้าเหล่านั้นยังต้องอาศัยสารเคมีตัวร้ายที่บริษัทไม่อยากใช้ เช่น สารระงับกลิ่นกาย ที่ยังหาสารยับยั้งเหงื่อที่ดีต่อผู้ใช้ไม่ได้ ซึ่งถ้าบริษัทหาสารเคมีที่ปลอดภัยจริงๆ ไม่ได้ ก็จะไม่ผลิตสินค้าเหล่านั้นออกมาขาย

 

มัลคอล์มมองว่า สินค้า Eco ไม่ควรต้อง ‘ยาก’ คือต้องเข้าถึงได้ง่ายโดยไม่ต้องให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมอะไรมาก ต้องมีคุณภาพเท่ากันหรือดีกว่าสินค้ากระแสหลักที่พวกเขาใช้อยู่ ต้องไม่เข้าถึงยากด้วยราคาที่สูงกว่าหรือหาซื้อได้แต่ในร้านค้าเฉพาะทาง และไม่มีรูปลักษณ์ที่ดูฮิปปี้จนเกินไป เพื่อคนหมู่มากในสังคมซื้อไปใช้ได้และสร้างผลกระทบต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมได้ในวงกว้าง

ก่อนจะเอาผลิตภัณฑ์ Ecostore เข้าจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต มัลคอล์มผู้ไม่เคยเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตมา 10 ปีบอกว่า เมื่อดูที่ชั้นวาง เขารู้สึกแสบตาด้วยความฉูดฉาดและลวดลายของบรรจุภัณฑ์ที่พยายามล่อตาล่อใจผู้บริโภค แต่เขาเลือกทำบรรจุภัณฑ์ของ Ecostore ด้วยโทนสีเรียบๆ มีกราฟิกที่สบายตาและอ่อนโยน เพื่อสะท้อนบุคลิกของแบรนด์และสร้างความโดดเด่น

 

 

ถึงแม้ว่า Ecostore จะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสารสกัดจากธรรมชาติ ไม่ผสมสารเคมีตัวร้าย ไม่ทดลองในสัตว์ และไม่ทำลายแหล่งน้ำ แต่อีกปัญหาที่กวนใจมัลคอล์มมาตลอดคือ บรรจุภัณฑ์จากพลาสติก มัลคอล์มและทีมเฝ้ารอเทคโนโลยีที่จะจัดการเรื่องนี้ จนกระทั่งบริษัทเริ่มนำพลาสติกที่ผลิตจากอ้อยเข้ามาใช้กับขวดผลิตภัณฑ์ทั้งหมดได้เป็นเจ้าแรกของโลก ในระหว่างการปลูกอ้อยเพื่อผลิตพลาสติก ต้นอ้อยทำหน้าที่ดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้แทนที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ปิโตรเคมีผลิตพลาสติกแบบเดิม แถมพลาสติกที่ได้จากอ้อยยังนำไปรีไซเคิลได้ 100%

 

อีกหนึ่งทางเลือกที่บริษัททำมากว่า 20 ปีแล้วคือ ให้บริการเติมน้ำยา ที่ลูกค้านำบรรจุภัณฑ์เดิมกลับมาเติมได้ เช่น สบู่เหลว แชมพู น้ำยาล้างจาน เพื่อลดขยะจากบรรจุภัณฑ์ที่ร้าน Ecostore และพันธมิตรเกือบ 50 แห่งทั่วนิวซีแลนด์ และร้าน Ecostore หลายแห่งยังมีการขายของชำที่ไม่ใส่ถุงพลาสติก แต่ลูกค้านำบรรจุภัณฑ์มาใส่เอง เช่น ใบชา เครื่องเทศ สปาเกตตี คุกกี้ ข้าวสาร ถั่ว และอื่นๆ

 

หลังจากบริหาร Ecostore มากว่า 20 ปี มัลคอล์มและเมลานีตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดในบริษัทไปในปี 2016 เพื่อให้ผู้ถือหุ้นและผู้บริหารชุดใหม่รับช่วงขยายธุรกิจไปยังตลาดนานาชาติ มัลคอล์มให้สัมภาษณ์ว่า เป้าหมายสำคัญในชีวิตของเขาคือการแก้ไขปัญหาสังคมและหรือสิ่งแวดล้อม ธุรกิจ Ecostore เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งระหว่างการเดินทางเพื่อไปถึงเป้าหมายนั้น และสร้างเงินกลับมาอุดหนุนมูลนิธิ Fairground Foundation ของเขาเอง

 

หลังจากขายหุ้นไป เขายังเป็นตัวแทนของแบรนด์อยู่ และยังดูแลเรื่องจริยธรรมของ Ecostore แต่จะใช้เวลามากขึ้นกับงานมูลนิธิที่ค้นหาโอกาสและลงทุนในกิจการที่สร้างทั้งรายได้และแก้ไขปัญหาในสังคมไปพร้อมๆ กันได้

 

เมื่อผู้เขียนได้พบกับมัลคอล์มในเดือนตุลาคม 2561 ที่นิวซีแลนด์ เขาได้ให้ข้อคิดไว้ว่า ธุรกิจที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจะประสบความสำเร็จได้ ตัวเลขการเงินก็ต้องสำเร็จด้วย

 

 

ธุรกิจที่ ‘คิดต่าง’ และเป็นตลาดเฉพาะ ก็เป็นต้นแบบให้ธุรกิจอื่นๆ เปลี่ยนได้ แต่ต้องประสบความสำเร็จให้ได้ก่อน เพื่อให้คนอื่นหันมาทำตามและเห็นว่าเราทำได้ เพื่อให้ ‘Eco’ กลายเป็นความปกติที่ทุกคนเข้าถึงได้

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

FYI
  • * Permaculture หมายถึงการทำการเกษตรแบบยั่งยืน โดยเน้นการทำงานร่วมกับธรรมชาติ โดยพิจารณาถึงหน้าที่และผลกระทบโดยรวมของฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ ดิน น้ำ ไปจนถึงผู้เพาะปลูกที่มีกลไกการอาศัยเกื้อกูล ปฏิสัมพันธ์กันอย่างเป็นระบบและเน้นการรักษาสมดุล ซึ่งจะตรงข้ามกับแนวคิดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ในปัจจุบันแนวคิด Permaculture ได้ขยายไปยังวิถีชีวิตแบบยั่งยืน การออกแบบ ระบบเศรษฐกิจ ฯลฯ
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising