×

‘พายุเศรษฐกิจ’ ยังไม่สงบ อย่าดีใจกับตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2

26.08.2021
  • LOADING...
พายุเศรษฐกิจ

ผมเพิ่งมีเวลามาดูจริงจัง ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ที่สภาพัฒน์แถลงไปเมื่อกลางเดือนนี้ ตอนนั้นจำได้แค่ว่าเศรษฐกิจไตรมาส 2 ขยายตัวร้อยละ 7.5 จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่คาดการณ์ทั้งปี สภาพัฒน์มองไว้ประมาณร้อยละ 1 ซึ่งตัวเลขร้อยละ 7.5 สูงกว่าคาดการณ์ของ ธปท. รอบเดือนมิถุนายน ตอนที่มองเศรษฐกิจทั้งปีโตได้ร้อยละ 1.8 อีก ทำให้อัตราการขยายตัวที่ปรับฤดูกาลแล้วของไตรมาส 2 เป็นบวก หักปากกาทุกสำนักโดยถ้วนหน้า

 

ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 จะถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ว่าเป็นการขยายตัวครั้งแรกตั้งแต่โควิดเริ่มระบาดในไตรมาสแรกของปีที่แล้ว จริงๆ แล้ว การขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนเป็นเรื่องที่คาดกันไว้ล่วงหน้า เนื่องจากในไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว เศรษฐกิจไทยหดตัวลึกถึงร้อยละ 12.1 คือถ้าไตรมาส 2 ปีนี้ไม่เห็นการขยายตัวเป็นบวกก็คงเป็นหายนะทางเศรษฐกิจแล้ว

 

สิ่งที่ทุกสำนักจับตามองคือ เศรษฐกิจไตรมาส 2 จะเป็นบวกได้มากน้อยแค่ไหน หลักๆ แล้ว อัตราการขยายตัวที่สูงเกินคาดของเศรษฐกิจในไตรมาส 2 มาจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวสูง ต้องบอกว่าเราโชคดีมากๆ ที่เศรษฐกิจโลกปีนี้ขยายตัวดีมาก ไม่เหมือนปีก่อนๆ ที่เศรษฐกิจโลกมักรับบทเป็นผู้ร้ายที่ฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย 

 

โดยถ้านับเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน แม้จะยังขยายตัวเป็นบวกจากระยะเดียวกันปีก่อน แต่อัตราการขยายตัวจากไตรมาสก่อนที่ปรับฤดูกาลแล้วของทั้งสองตัวติดลบติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 เท่ากับว่าการใช้จ่ายภาคเอกชนในประเทศกลับไปสู่ ‘ภาวะถดถอยซ้ำสอง’ แล้ว

 

ด้วยความที่เศรษฐกิจโลกเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ผมเลยอยากทราบว่าประเทศเพื่อนบ้านของเราเป็นอย่างไรกันบ้าง โดยเฉพาะสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่นักลงทุนเรียกรวมกับไทยว่าเป็นประเทศ ASEAN-5 พบว่า มี 2 ประเทศ คือ สิงคโปร์และอินโดนีเซีย ที่อัตราการขยายตัวในไตรมาส 2 ของปีนี้สูงกว่าอัตราการหดตัวในปีที่แล้ว

 

ส่วนอีก 2 ประเทศ คือ มาเลเซีย ขยายตัวต่ำกว่าที่หดตัวในปีที่แล้วเล็กน้อย ขณะที่ฟิลิปปินส์ แม้จะขยายตัวสูงแต่ส่วนต่างของตัวเลขปีนี้กับปีที่แล้วดูแย่กว่าไทยเล็กน้อย

 

 

ประเทศที่น่าสนใจ คือ มาเลเซีย ซึ่งใน 4 ประเทศใกล้กับไทยมากที่สุดในแง่ของโครงสร้างเศรษฐกิจและระดับของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ปรากฏว่าทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนของเขาขยายตัวได้ดีทีเดียว เรามักใช้การระบาดของโควิดระลอกใหม่ในการอธิบายการใช้จ่ายภาคเอกชนของเราที่ถดถอยในไตรมาส 2 แต่หากไปดูจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ต่อจำนวนประชากรทั้งหมดจะพบว่าสถานการณ์โควิดในมาเลเซียดูจะแย่กว่าไทยพอสมควร อีกทั้งการล็อกดาวน์ของเขาก็เข้มกว่าเรามาก คำถามคือทำไมการใช้จ่ายในประเทศของเขาฟื้นได้ดีกว่าเรา

 

ถ้าไปอ่านบทวิเคราะห์เศรษฐกิจของมาเลเซียจะพบว่านักวิเคราะห์ให้สองเหตุผลที่ทำให้การใช้จ่ายภาคเอกชนในประเทศของมาเลเซียยังไปได้ดี 

 

ประการแรก นักวิเคราะห์ชี้ว่าผู้บริโภคและธุรกิจมาเลเซียปรับตัวได้ดี เนื่องจากเขาผ่านการระบาดหนักๆ มารอบหนึ่งแล้ว จุดนี้จะต่างกับไทยที่เราคุมการระบาดในสองรอบแรกได้ดีมาก เราเลยเหมือนปลาช็อกน้ำ ทั้งๆ ที่ถ้าดูจากกราฟ การระบาดในไตรมาส 2 ยังไม่ถือว่ารุนแรงมาก ของจริงคือไตรมาส 3 ซึ่งเป็นสาเหตุหลักว่าทำไมสภาพัฒน์ปรับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีลงแม้ตัวเลขไตรมาส 2 จะออกมาดีกว่าที่ทุกสำนักคาด

 

ประการที่สอง นักวิเคราะห์ชี้ไปที่อัตราการฉีดวัคซีนของมาเลเซียที่เป็นรองเพียงสิงคโปร์และสูงกว่าไทยประมาณสองเท่า เรื่องวัคซีนนี้เป็นผลจากนโยบายแทงม้าตัวเดียวของการจัดหาวัคซีนของเราในช่วงแรก ซึ่งไปเจอแจ็กพอตว่าบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ที่เราคาดหวังให้เป็นผู้ผลิตวัคซีน AstraZeneca เป็นวัคซีนหลักของประเทศ ผลิตได้ต่ำกว่าเป้ามาก

 

ถ้าตอนนั้นเรามีการกระจายความเสี่ยงในการหาวัคซีน เราก็น่าจะสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ได้ดีกว่านี้ จริงอยู่ว่าหลายประเทศที่ฉีดวัคซีนเกือบครบแล้วยังมีการติดเชื้อใหม่จำนวนมาก แต่ทั้งตัวเลขสัดส่วนผู้เสียชีวิตและตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ก็ฟ้องชัดเจนว่าดีกว่าประเทศที่ฉีดวัคซีนได้น้อย นับว่ายังดีที่ตอนหลังรัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม เข้าทำนองว่า มาช้ายังดีกว่าไม่มา

 

ถ้าเราทุ่มทุนตั้งแต่ตอนแรก ความจำเป็นในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบก็จะไม่สูงเท่านี้ ตัวเลขหลุมทางเศรษฐกิจที่เราต้องถมเพิ่มเติมคงไม่ถึง 1 ล้านล้านบาท ตามที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์

 

มองไปข้างหน้า การที่รัฐบาลยอมให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้เองน่าจะเร่งอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศได้ ผนวกกับแนวโน้มผู้ติดเชื้อใหม่ในปัจจุบันที่โน้มลดลง มีความเป็นไปได้สูงว่าช่วงที่เลวร้ายที่สุดในมิติของตัวเลขสาธารณสุขน่าจะผ่านพ้นไปแล้ว

 

อย่างไรก็ดี ในมิติของตัวเลขเศรษฐกิจ ถ้าเรายึดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งปีนี้ที่สภาพัฒน์ให้ไว้ที่ 0.7-1.2% เนื่องจากเรามีตัวเลขจริงของการขยายตัวของเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกแล้ว เราสามารถคำนวณตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังที่สภาพัฒน์คาดการณ์ได้ ซึ่งเท่ากับ -1% ถึง 0% ซึ่งหมายความว่าสภาพัฒน์มองว่าแม้ในกรณีที่ดีที่สุด แรงส่งของเศรษฐกิจโลกก็ไม่สามารถดึงให้เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังขยายตัวเป็นบวกได้ และในกรณีที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าตัวเลขขั้นต่ำของสภาพัฒน์ ก็มีความเป็นไปได้ที่ไตรมาส 2 อาจจะเป็นเพียงไตรมาสเดียวที่เราจะเห็นอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นบวกในปีนี้

 

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising