×

‘เศรษฐกิจกำลังฟื้น ไม่ได้แปลว่าคนไม่ลำบาก’ ผู้ว่าฯ​ แบงก์ชาติกล่าว ตัวเลขเศรษฐกิจภาพรวมซ่อนความทุกข์ยากลำบากของคนไว้ไม่น้อย

05.07.2024
  • LOADING...
เศรษฐกิจกำลังฟื้น ผู้ว่า​แบงก์ชาติ

ผู้ว่าแบงก์ชาติกล่าว ‘เศรษฐกิจกำลังฟื้น ไม่ใช่คนไม่ลำบาก’ เผยศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจไทยปัจจุบันอยู่ที่ 3% ชี้หากไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ยากจะกลับไปโตได้ 4-5% ตามที่รัฐบาลตั้งเป้า ห่วงขยับกรอบเงินเฟ้อจ่อกระทบตลาด ย้ำเงินเฟ้อต่ำไม่เป็นปัญหา

 

วันที่ 4 กรกฎาคม ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน ‘Meet the Press: ผู้ว่าการพบสื่อมวลชน’ โดยระบุว่า ธปท. ประเมินว่า ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (Potential GDP Growth) ในปี 2566-2567 อยู่ที่ราว 3% และหากไม่มีการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ เศรษฐกิจไทยก็ยากที่จะกลับไปโตได้สูงถึง 4-5%

 

“ศักยภาพเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ราว 3% หมายความว่า การที่ ธปท. บอกว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ได้หมายความว่าจะฟื้นไป 4-5% แต่ถ้าอยากให้เศรษฐกิจโตมากกว่า 3% จะต้องทำเชิงโครงสร้าง การลงทุนเทคโนโลยีใหม่ เป็นต้น แต่หากจะไปกระตุ้นเศรษฐกิจชั่วคราว สุดท้ายเศรษฐกิจก็จะกลับมาโตที่ราว 3% อยู่ดี”

 

ทั้งนี้ หากอิงจากแบบจำลองของ ธปท. พบว่า ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ทุน จำนวนและคุณภาพแรงงาน ผลิตภาพการผลิต โดยระดับศักยภาพที่ราว 3% นับว่าลดลงจากช่วง 10 ปีก่อนเกิดโควิด ซึ่งอยู่ที่ราว 3-3.5%

 

 

ตัวเลขซ่อนความทุกข์-ยากลำบากของผู้คนไม่น้อย 

 

ดร.เศรษฐพุฒิ อธิบายอีกว่า “ต้องเรียนว่า ตอนที่เราพูดว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ ผมต้องยืนยันว่าไม่ได้หมายความว่าคนไม่ได้ลำบากนะ เราทราบดีว่าตัวเลขเหล่านั้นเป็นตัวเลขภาพรวม เป็นตัวเลขเชิงเดี่ยว แต่ซ่อนความทุกข์และความลำบากของคนไม่น้อย”

 

พร้อมทั้งกล่าวว่า “แม้ภาพรวมค่าเฉลี่ยของเศรษฐกิจจะโต แต่หลายคนไม่ได้รู้สึกว่าเศรษฐกิจดี เนื่องจากแม้รายได้อาจเพิ่มขึ้น แต่ของก็แพงขึ้น ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทย แต่เห็นทั่วโลก แต่ประเทศไทยยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ซึ่งสร้างภาระกับผู้คน

 

ยังมีประชาชนเดือดร้อนจากปัญหา ‘หลุมรายได้’ 

 

ดร.เศรษฐพุฒิ ได้หยิบยกตัวเลขการฟื้นตัวของรายได้ลูกจ้างนอกภาคเกษตร ผู้ประกอบอาชีพอิสระและเงินเฟ้อเปรียบเทียบกัน โดยพบว่า แม้ปัจจุบันรายได้ของลูกจ้างและผู้ประกอบอาชีพอิสระจะฟื้นตัวก่อนช่วงโควิดแล้ว แต่ความเป็นจริงความยากลำบากของประชาชนยังถูกซ่อนอยู่ เนื่องจากมีหลุมรายได้มหาศาลระหว่างทาง กล่าวคือรายได้ที่ควรจะได้หายไประหว่างช่วงเวลาดังกล่าว

 

 

ธปท. ห่วงเงินเฟ้อกระทบค่าครองชีพประชาชน

 

ดร.เศรษฐพุฒิ อธิบายต่อว่า อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำในปัจจุบันไม่ได้ความว่าราคาของถูกลง เพราะเมื่อราคาสินค้าต่างๆ ขึ้นไปแล้วมักจะไม่ลง 

 

“แม้ตัวเลขจากกระทรวงพาณิชย์บอกว่า อัตราเงินเฟ้อลดลง แต่ค่าครองชีพราคาของสินค้าต่างๆ ในประเทศกลับเพิ่มขึ้น ‘ไม่น้อย’ ตัวอย่างเช่น ราคาแก๊สโซฮอล์ 95 ต่อลิตร ปัจจุบันเพิ่มขึ้นจาก 5 ปีก่อนกว่า 40% ราคาไข่ไก่เพิ่มขึ้นจาก 4 บาทเป็น 5 บาท หรือเพิ่มราว 25%

 

ดังนั้น เงินเฟ้อที่เราทุกคนประสบ ในแง่ของค่าครองชีพ ไม่มีใครจะมองว่าต่ำเกินไป เราจึงต้องใส่ใจเงินเฟ้อ เนื่องจากเมื่อเงินเฟ้อขึ้น ราคาของขึ้นไปแล้วมันจะไม่ลง”

 

 

ดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันยัง ‘เหมาะสม’ ยึดหลัก Outlook Dependent

 

ดร.เศรษฐพุฒิ ยืนยันว่า ดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันยัง ‘เหมาะสม’ กับแนวโน้ม (Outlook) ปัจจุบัน แต่ถ้า Outlook ทั้งเงินเฟ้อ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หรือเสถียรภาพทางการเงินเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ กนง. ก็พร้อมจะปรับ เราไม่ได้มีการปิดประตู เนื่องจากตอนนี้ความเสี่ยง ความไม่แน่นอนทั่วโลกมีมหาศาล

 

“การพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายยึดหลัก Outlook Dependent และมองไปข้างหน้า เนื่องจากนโยบายที่ตัดสินใจวันนี้จะมีผลในระยะข้างหน้า โดยจากการประเมินเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้าของ ธปท. มองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเลยจะค่อยๆ ทยอยฟื้นกลับเข้าสู่ศักยภาพที่ประมาณ 3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อรายไตรมาสก็จะกลับเข้าสู่กรอบเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้”

 

ชี้ขยับกรอบเงินเฟ้อจ่อกระทบตลาด ย้ำเงินเฟ้อต่ำไม่เป็นปัญหา

 

ดร.เศรษฐพุฒิ ตอบประเด็นเรื่องที่กระทรวงการคลังเสนอให้มีการปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อว่า ตามกระบวนการแล้ว การหารือเรื่องกรอบเงินเฟ้อจะเป็นการตกลงร่วมกัน (ระหว่าง ธปท. และกระทรวงการคลัง) ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของทุกปี ส่วนตัวผมคิดว่า ตอนนี้เป็นช่วงที่เราต้องหารือกัน และผมได้เห็นข้อเสนอจากทางกระทรวงการคลังที่ได้ออกมาพูดในเวทีต่างๆ แล้ว

 

พร้อมอธิบายว่า กรอบเงินเฟ้อมีไว้เพื่อยึดเหนี่ยวคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคต  และการปรับกรอบต้องชั่งน้ำหนักหลายอย่าง ในหลายประเทศตอนนี้เงินเฟ้อไม่ได้อยู่ในกรอบ แต่จนถึงตอนนี้แทบไม่มีประเทศไหนเลยจะปรับกรอบ

 

เนื่องจากการขยับกรอบเงินเฟ้ออาจจะกระทบกับความน่าเชื่อถือ (Credibility) และการคาดการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตลาด ต้นทุนการกู้ยืม และผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ‘ทันที’

 

“เงินเฟ้อต่ำไม่ได้เป็นปัญหา ถ้าไม่ได้นำไปสู่ภาวะเงินฝืด โดยภาวะเงินฝืดหมายถึง อัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง ราคาสินค้าลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจ การบริโภค และอุปสงค์ในประเทศลดลง ทำให้คาดการณ์เงินเฟ้อลดลงตาม เป็นวงจรอุบาทว์ แต่ว่าภาวะเงินเฟ้อต่ำของไทยไม่ได้ส่อไปทางเงินฝืด การบริโภคปีนี้ก็ยังโตต่อเนื่องอยู่” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X