สมาคมนักเศรษฐศาสตร์ธุรกิจแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ The National Association for Business Economists (NABE) เปิดเผยรายงานผลการสำรวจความเห็นของสมาชิกนักเศรษฐศาสตร์ในสหรัฐฯ เกี่ยวกับแนวโน้มทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจของชาติมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกในปีนี้ พบว่า น่าจะเติบโตได้น้อยลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา โดยเป็นผลจากวิกฤตการระบาดของโควิดที่ยังไม่คลี่คลาย
คณะนักเศรษฐศาสตร์ที่เข้าร่วมการสำรวจในครั้งนี้ของสมาคมได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้จะสามารถขยายตัวได้ที่ 5.6% โดยแม้จะยังเป็นตัวเลขการเติบโตที่ค่อนข้างสูง แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ปรับลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อนในช่วงเดือนพฤษภาคมที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะโตได้ที่ 6.7%
ขณะเดียวกันนักเศรษฐศาสตร์ยังได้ตัดลดคาดการณ์การเติบโตในไตรมาสที่ 3 จาก 6.6% มาอยู่ที่ 4%
การตัดสินใจหั่นคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของเหล่านักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของโควิดที่ยังคงน่าวิตกกังวล ซึ่งการที่ยังไม่สามารถยุติการระบาดของโควิดในวงกว้างได้ ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวในหลายกิจการ โดยเฉพาะส่วนของการเดินทางและการท่องเที่ยว รวมถึงกระทบต่อการเปิดสำนักงานออฟฟิศเพื่อให้คนกลับมาทำงาน
ขณะเดียวกันนักเศรษฐศาสตร์ยังเตือนให้เตรียมพร้อมเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ หลังราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายปีนี้ โดยคาดว่าราคาสินค้าผู้บริโภคจะพุ่งสูงขึ้นแตะ 5.1% ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ครั้งก่อนเมื่อเดือนพฤษภาคมซึ่งอยู่ที่ 2.8%
อย่างไรก็ตาม ข่าวดีที่พอจะทำให้หายใจได้คล่องบ้างก็คือการที่นักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้มีความเห็นสอดคล้องกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่มองว่า ปัญหาเงินเฟ้อเป็นภาวะเพียงชั่วคราวอันเป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในช่วงการปรับตัวและฟื้นตัวจากวิกฤตการระบาดของโควิด โดยทางสมาคมฯ คาดการณ์ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.4% ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีหน้า (ปี 2022)
ความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ที่มีต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ Fed ที่เพิ่งจะปรับลดคาดการณ์การเติบโตของประเทศในปีนี้ลงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยสถานีโทรทัศน์ CNN ได้รวบรวมความเห็นนักวิเคราะห์เพื่อคาดการณ์ทิศทางและแนวโน้มความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น Wall Street ในรอบสัปดาห์นี้ พบว่า สิ่งที่นักลงทุนจับตาอยู่ในเวลานี้ก็คือ การตัดสินใจของรัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการอภิปรายอย่างดุเดือดเกี่ยวกับแผนงบประมาณประจำปี โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน การดูแลสุขภาพ และการศึกษา ซึ่งสภาคองเกรสสหรัฐฯ มีกำหนดเส้นตายที่จะต้องอนุมัติรับรองเพื่อจัดสรรงบประมาณให้แก่รัฐบาลในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
ทั้งนี้ เงินงบประมาณปัจจุบันของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ จะหมดอายุในเวลาเที่ยงคืนของวันศุกร์นี้ (1 ตุลาคม) ซึ่งหากสภาคองเกรสไม่ตัดสินใจดำเนินการในเร็วๆ นี้ อาจทำให้หน่วยงานรัฐต้องมีการชัตดาวน์บางส่วน ทำให้บริการสาธารณะบางอย่างต้องยุติการให้บริการชั่วคราว
รายงานระบุว่า ทางวุฒิสภามีกำหนดจะจัดให้มีการลงคะแนนตามขั้นตอนในวันจันทร์เกี่ยวกับกฎหมายที่จะให้รัฐบาลเปิดจนถึงวันที่ 3 ธันวาคม ทว่า แผนขยายเพดานหนี้สาธารณะจนถึงสิ้นปี 2022 นั้น หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าอาจจะล้มเหลว
เพดานหนี้ของสหรัฐฯ จะถึงกำหนดเส้นตายในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้ และนับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่นักลงทุนวิตกกังวลมากที่สุดอยู่ในเวลานี้ โดยหากไม่มีการขยายเพดานหนี้ในเร็ววัน สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า เป็นหายนะรุนแรงที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่อาจเลี่ยงภาวะถดถอย (Recession) ได้
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทาง Moody’s Analytics เพิ่งออกโรงเตือนว่า ถ้าสหรัฐฯ ผิดนัดชำระหนี้และยังไม่อาจหาข้อยุติได้ในเร็ววัน รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ก็จำเป็นจะต้องออกกฎหมายตัดลดการใช้จ่าย ‘แบบรุนแรง’ ซึ่งถือเป็น ‘หายนะ’ สำหรับเศรษฐกิจ ที่คาดว่าจะทำให้มีคนตกงานเกือบ 6 ล้านคน ดันอัตราว่างงานพุ่งแตะระดับ 9% ขณะที่หุ้นในตลาดจะร่วงลงถึง 1 ใน 3 และทำให้ความมั่งคั่งของครัวเรือนสหรัฐฯ หายไปประมาณ 15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
อ้างอิง: