×

นักเศรษฐศาสตร์หวั่น ‘โอไมครอน’ ฉุดเศรษฐกิจโลกชะลอ กระทบส่งออก-ท่องเที่ยวไทย ด้านสภาอุตฯ-หอการค้า หนุนเดินหน้าเปิดประเทศต่อ

03.12.2021
  • LOADING...
เศรษฐกิจโลก

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินว่า ในระยะสั้นการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ ‘โอไมครอน’ ที่เริ่มมีผู้ติดเชื้อถูกตรวจพบมากขึ้นในหลายประเทศขณะนี้ อาจมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในแง่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง ทำให้การใช้จ่ายในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ชะลอตัว

 

“หลายประเทศเริ่มมีมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศแล้ว แม้จะไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ แต่เชื่อว่าคนจะเริ่มระมัดระวังมากขึ้น การใช้จ่ายและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ในช่วงเทศกาลปลายปีมีโอกาสจะหดตัวลงชั่วคราว จนกว่าจะมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนของโอไมครอนออกมา” อมรเทพ กล่าว

 

อมรเทพ ระบุว่า สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลในเวลานี้คือ หากเกิดการระบาดที่รุนแรง รัฐบาลในประเทศต่างๆ ต้องนำมาตรการล็อกดาวน์มาใช้อีก จะทำให้ภาคการผลิตมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและอุปทานการผลิตในปัจจุบันให้รุนแรงขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบลุกลามไปถึงเงินเฟ้อ

 

อย่างไรก็ดี จากสมมติฐานของสำนักวิจัยซีไอเอ็มบี ไทย ยังเชื่อว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโอไมครอนจะไม่รุนแรงจนนำไปสู่การล็อกดาวน์ โดยรูปแบบการระบาดน่าจะมีความใกล้เคียงกับสายพันธุ์เดลตา แต่การที่อัตราการฉีดวัคซีนในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้น และบริษัทผู้ผลิตวัคซีนมีการศึกษาเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของไวรัสที่มากขึ้น ทำให้ผลกระทบอาจไม่รุนแรงเท่าครั้งที่ผ่านมา

 

“ผลกระทบอาจจะเกิดกับกลุ่มประเทศที่ยังมีการฉีดวัคซีนไม่มาก ของไทยเราตอนนี้เข็ม 1 อยู่ที่ 70% เข็ม 2 อยู่ที่ 60% ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี แต่ทั้งนี้คงต้องติดตามดูข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องประสิทธิภาพในการป้องกันของวัคซีนและอัตราการเสียชีวิต จึงจะประเมินภาพที่ชัดเจนได้มากขึ้น” อมรเทพ กล่าว

 

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย อมรเทพ กล่าวว่า โครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยมีการพึ่งพาต่างประเทศค่อนข้างมากทั้งจากการส่งออกและท่องเที่ยว ดังนั้นหากเศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัวลงเศรษฐกิจไทยย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย 

 

อย่างไรก็ตาม จากสมมติฐานที่มองว่าการระบาดในรอบนี้จะคล้ายกับรอบของเดลตาที่เชื้อแพร่เร็วและไม่รุนแรง ทำให้เชื่อว่าสถานการณ์แพร่ระบาดน่าจะถูกจำกัดได้ภายใน 3 เดือน

 

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research กล่าวว่า ขณะนี้มี 3 ประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายกำลังติดตามจากการระบาดของโอไมครอน 

 

  1. เชื้อตัวนี้แพร่เร็วกว่าเดิมหรือไม่ 
  2. จะทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลงหรือไม่
  3. ความรุนแรงของโรคจะทำให้อัตราการเสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นหรือไม่

 

“ประเด็นที่ 3 เรื่องความรุนแรงของโรคจะสำคัญที่สุด เพราะถ้าติดง่ายขึ้น แพร่กระจายเร็วขึ้น แต่ไม่รุนแรงถึงต้องเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะไม่กังวลมากนัก กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะดำเนินต่อไปได้ แต่ถ้ารุนแรงจนทำให้โรงพยาบาลเต็มก็เชื่อว่าล็อกดาวน์น่าจะกลับมาแน่ๆ” พิพัฒน์ กล่าว

 

พิพัฒน์ กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลสำหรับไทยคือการกลายพันธุ์ของโอไมครอนจะทำให้ความกังวลในการเดินทางระหว่างประเทศยังมีอยู่ต่อไป ซึ่งอาจส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวล่าช้าออกไปอีกได้ ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า

 

“การเกิดขึ้นของโอไมครอนเหมือนเป็นเครื่องเตือนว่าวิกฤตโควิดยังไม่จบ เรายังต้องระมัดระวัง และในอนาคตก็มีโอกาสที่เชื้อกลายพันธุ์อื่นๆ จะเกิดขึ้นได้อีกไล่ไปจนถึงโอเมก้า แต่มองในแง่ดีคือตอนนี้โลกเรามีความพร้อมมากกว่า 1 ปีที่แล้ว มีเทคโนโลยีที่ดีขึ้นและวัคซีนตัวใหม่สำหรับโอไมครอนก็น่าจะออกมาได้ภายใน 100-120 วัน” พิพัฒน์ กล่าว

 

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. อยู่ระหว่างติดตามความคืบหน้าเรื่องการแพร่ระบาดของโอไมครอนอย่างใกล้ชิด โดยคาดว่าภายใน 2-3 สัปดาห์จะมีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับความรุนแรงของเชื้อตัวนี้ออกมา 

 

ทั้งนี้โดยส่วนตัวไม่สนับสนุนให้ไทยเร่งรีบนำมาตรการทางสาธารณสุขที่เข้มงวดออกมาบังคับใช้จนกว่าจะมีข้อมูลที่ชัดเจน เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 

 

“ตอนนี้เรามีประสบการณ์มากขึ้น ทำให้เราน่าจะควบคุมได้ การปิดประเทศหรือล็อกดาวน์จะกระทบเศรษฐกิจมาก เพราะ GDP เราพึ่งพาท่องเที่ยวเยอะ ถ้าเป็นการเดินทางด้วยเครื่องบินผมเชื่อว่าเราดูแลได้ คัดกรองได้ แต่ที่น่าห่วงคือการเดินทางเข้ามาตามแนวชายแดน” สุพันธุ์ กล่าว

 

สุพันธุ์ เสนอแนะว่า ภาครัฐควรหาวิธีทำให้แรงงานต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้ามาทำงานที่ยังอยู่ใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดินทั้งหมด เพื่อให้ง่ายต่อการคัดกรอง ซึ่งเรื่องนี้จะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตได้ด้วย

 

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อโอไมครอนเป็นสิ่งที่ประเทศไทยไม่ควรประมาท แต่ก็ไม่ควรวิตกจนเกินไป เนื่องจากข้อมูลล่าสุดที่เปิดเผยโดยแพทย์ในสหรัฐฯ ก็พบว่าผู้ติดเชื้อที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็มแล้ว ไม่มีอาการที่รุนแรง ซึ่งถือเป็นสัญญาณบวก

 

“เราต้องไม่วิตกมากเกินไป การใช้จ่ายของคนในประเทศตอนนี้ยังคึกคักอยู่ แต่กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติคงได้รับผลกระทบทางจิตวิทยาทำให้จำนวนลดลงบ้าง เศรษฐกิจปีนี้คงยังไม่มีผลกระทบอะไร แต่ในปีหน้าภาพยังไม่ชัดเจน คงต้องรอความชัดเจนเรื่องความรุนแรงของเชื้อโอไมครอนและต้องดูว่าประเทศที่เป็นตลาดหลักการส่งออกของเราจะกระทบหรือเปล่า” ประธานสภาหอการค้าฯ กล่าว

 

สนั่น ยังมองว่า แม้บางประเทศจะเริ่มจำกัดการเดินทางของชาวต่างชาติแล้วในเวลานี้ แต่ไทยควรเดินหน้าเปิดประเทศและใช้มาตรการผ่อนคลายต่อไปเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว เนื่องจากเท่าที่ติดตามดูพบว่า ไทยมีมาตรการรับมือที่รวดเร็วและทันท่วงที เช่น มีการสั่งห้ามการเดินทางจาก 8 ประเทศกลุ่มเสี่ยง โดยยังเชื่อว่าไทยยังมีมาตรการและระบบสาธารณสุขที่รับมือได้ 

 

 


ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

Twitter: twitter.com/standard_wealth

Instagram: instagram.com/thestandardwealth

Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X