×

นักเศรษฐศาสตร์ หนุนรัฐกู้เงินเพิ่ม 7 แสนล้าน เยียวยาเศรษฐกิจ ยอมรับรอบนี้หนักจริง แต่การใช้เงินต้องมียุทธศาสตร์ที่ดี

19.05.2021
  • LOADING...
เงินเยียวยาเศรษฐกิจ

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มีรายงานข่าวจากสื่อหลายสำนักที่ยืนยันตรงกันว่า ครม. ได้พิจารณาอนุมัติร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 7 แสนล้านบาท ที่เสนอโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งปัจจุบันร่าง พ.ร.ก. ฉบับนี้อยู่ระหว่างรอการลงพระปรมาภิไธย 

 

โดยวัตถุประสงค์ของการออกร่าง พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มเติมอีก 7 แสนล้านบาทนี้ มีแผนนำไปใช้งานด้านสาธารณสุข 3 หมื่นล้านบาท เยียวยาประชาชน 4 แสนล้านบาท และใช้สำหรับแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมอีก 2.7 แสนล้านบาท ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่ภาครัฐจะกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อมาเยียวยาเศรษฐกิจ และดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนจากโรคโควิด-19 เพียงแต่การใช้งบประมาณดังกล่าวจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

 

เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ถ้าดูสถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้ถือว่ายังไม่ดีขึ้นเลย หากยังเป็นแบบนี้ต่อเนื่องอีก 2-3 เดือนจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจให้หนักมากขึ้น ประกอบกับงบประมาณในการดูแลเศรษฐกิจจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เมื่อปีที่ผ่านมาก็กำลังจะหมดลง อีกทั้งยังสามารถใช้ได้ถึงเพียงสิ้นปีงบประมาณนี้ (กันยายน 2564) เท่านั้น ดังนั้นการที่รัฐบาลจะออก พ.ร.ก. เงินกู้ระลอกใหม่อีก 7 แสนล้านบาท จึงถือเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่อาจเลวร้ายลงหรือยังไม่ดีขึ้น

 

“การระบาดยังไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไร ดังนั้นการที่ภาครัฐเตรียมเงินเอาไว้สำหรับดูแลเศรษฐกิจ ดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนจึงน่าจะเป็นเรื่องดี ส่วนจะใช้แค่ไหน ใช้เท่าไรคงอยู่ที่หน้างาน”

 

สำหรับเรื่องความเป็นห่วงต่อวินัยการคลังนั้น เชาว์กล่าวว่า ปีงบประมาณนี้ยังไม่น่ากังวลนัก เพราะเชื่อว่าตัวเลขสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP คงไม่ทะลุระดับวินัยการคลังที่ 60% ที่ห่วงคือปีงบประมาณ 2565 เพราะอย่างไรก็คงเกินกว่าระดับ 60% ส่วนจะขึ้นไปมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับการก่อหนี้และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

 

“คิดว่าอย่างไรระดับหนี้ก็คงเกิน 60% เฉพาะปีนี้ก็น่าจะขึ้นมาใกล้ 58-59% ยังไม่รวมกับที่เราขาดดุลงบประมาณอีกราว 4% ซึ่งต้องก่อหนี้เพิ่มถ้าบวกเข้าไปอีกก็น่าจะเกินแล้ว ดังนั้นถ้าต้องก่อหนี้เพิ่มอีก 7 แสนล้านบาท ก็ต้องเกินแน่ๆ แต่ก็ต้องขึ้นกับว่าจะกู้ตอนไหน กู้มากเท่าไร และยังต้องขึ้นกับว่าเศรษฐกิจด้วยว่าจะฟื้นตัวได้เร็วมากน้อยแค่ไหน”

 

สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า เห็นด้วยกับภาครัฐที่จะออก พรก.เงินกู้เพิ่มเติมอีก 7 แสนล้านบาท เพื่อใช้ดูแลเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางและยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 เพียงแต่การนำเงินกู้ส่วนนี้มาใช้ภาครัฐจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ที่ดี เพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า

 

“ถ้าดูจากสถานการณ์การระบาดในระลอกที่ 3 เราประเมินว่ายอดผู้ติดเชื้อรายใหม่อาจจะลากยาวและกว่าจะลงมาต่ำกว่า 100 คนต่อวันได้ คงเป็นช่วงเดือนสิงหาคมไปแล้ว แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ซึ่งทางวิจัยกรุงศรีเองก็เพิ่งปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงอีกรอบ จากคาดการณ์เดิมที่มองเติบโต 2.2% ก็ปรับลงมาเหลือเติบโตเพียง 2%”

 

สมประวิณ กล่าวว่า สิ่งที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ขณะนี้มี 2 ส่วนหลัก คือ การส่งออกและการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งการส่งออกคงต้องขึ้นกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกถือเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม แต่การใช้จ่ายของภาครัฐเราสามารถควบคุมได้ โดยเศรษฐกิจไทยในเวลานี้มีความจำเป็นต้องเยียวยาเพิ่มเติม

 

นอกจากนี้ เขายังกล่าวด้วยว่า การจะควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด รวมไปถึงการผลักดันเศรษฐกิจให้ดีขึ้น รัฐบาลควรต้องทำ 3 เรื่องพร้อมกัน คือ 

 

  1. เร่งการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด และการฉีดวัคซีนก็ควรต้องมียุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้เร็วและมากที่สุด 

 

  1. การหยุดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งอาจต้องรวมไปถึงการระงับการเดินทางไปมาระหว่างกัน และปิดสถานที่เสี่ยงสำคัญๆ เพิ่มเติม เพียงแต่ต้องทำควบคู่กับข้อที่ 3 ด้วย 

 

  1. ภาครัฐต้องจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรคนี้

 

“เห็นด้วยที่รัฐบาลจะกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อมาดูแลเศรษฐกิจ และส่วนตัวก็เห็นว่าวงเงินที่กู้เพิ่มยังน้อยไป จริงๆ อยากให้ทั้ง 7 แสนล้านบาทที่จะกู้เพิ่มนี้ใช้สำหรับการเยียวยาเท่านั้น และหลังควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้แล้ว ควรจะต้องมีงบประมาณอีกก้อนหนึ่งต้องเป็นก้อนที่ใหญ่เพื่อฟื้นฟู หรือใช้สำหรับการปรับตัวเข้าสู่โลกหลังยุคโควิด-19 เพราะถ้าเราดูประเทศอื่นๆ เขาให้ความสำคัญและทุ่มเงินไปกับเรื่องเหล่านี้ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป หรือแม้แต่ญี่ปุ่นที่เพิ่งจะประกาศแผนออกมาเมื่อไม่นานนี้”

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising