×

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์องค์กรชั้นนำเห็นพ้อง เศรษฐกิจโลก 2021 เติบโตต่อได้ ต้องปฏิรูปแบบบูรณาการ

27.01.2021
  • LOADING...
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์องค์กรชั้นนำเห็นพ้อง เศรษฐกิจโลก 2021 เติบโตต่อได้ ต้องปฏิรูปแบบบูรณาการ

ผลสำรวจความคิดเห็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำทั่วโลก (Chief Economists Outlook 2021) จัดทำโดย World Economic Forum ฉบับล่าสุด (มกราคม 2021) ได้ข้อสรุปว่า ในปี 2021 ปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายเพื่อผลักดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จะมีส่วนผสมที่ซับซ้อนขึ้น โดยประเมินว่าจะมีการปฏิรูปทั้งมิติของความเจริญรุ่งเรือง ผู้คน โลก (สิ่งแวดล้อม) และการปกครอง

 

มิติของความเจริญรุ่งเรือง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า GDP ทั่วโลกเริ่มฉายภาพให้เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดีกว่าการคาดการณ์ครั้งก่อน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อราว 2-3 เดือนที่แล้ว สาเหตุหลักมาจากข่าวการพัฒนาวัคซีนที่เริ่มมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยประเทศจีนเป็นประเทศเดียวที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ในปี 2020

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อประเมินผ่านการแสดงผลโดยรวมแบบใหม่ กลับได้ภาพสะท้อนว่า GDP เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือสร้างการก้าวกระโดดครั้งใหม่ไปสู่บริบททางเศรษฐกิจที่ดีกว่าเดิมได้

 

มิติของผู้คน การแพร่ระบาดทำให้เกิดความบอบช้ำจากการสูญเสียชีวิต และการดำรงชีวิตในระดับโลก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่รู้สึกว่า โครงสร้างทางสังคมในประเทศของตนล้วนเสื่อมโทรมลงอย่างมากในช่วงปี 2020

 

ผู้คนส่วนใหญ่ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ด้วยความเร็วที่น่าประทับใจ โดยแต่ละบุคคลมีความต้องการในการปรับตัวเข้ากับโลกใหม่ของการทำงานอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัจจัยเร่งอย่างโรคระบาดนั่นเอง 

 

ข้อดีของบริบทใหม่คือ ทำให้การทำงานต่างๆ มีความยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ก็ยังมีสิ่งท้าทายคือ ทำให้เกิดการแข่งขันจากผู้เล่นรายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เพราะข้อจำกัดเรื่องระยะทางที่ห่างไกลถูกขจัดออกไป

 

การฟื้นตัวของภาคธุรกิจแบบ K-Shape มีความเป็นไปได้ที่ชัดเจนขึ้น เว้นแต่รัฐบาลแต่ละประเทศจะเข้ามาบริหารจัดการ หรือสร้างนโยบายเกี่ยวกับการสร้างงานที่ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงออกกฎหมายปฏิรูปครั้งใหญ่ด้านความปลอดภัยทางสังคม

 

ทั้งนี้ ระหว่างประเทศที่มีรายได้สูงและรายได้ต่ำ ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไป ซึ่งอธิบายได้ด้วยตัว K โดยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอาจไม่เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำ หากไม่มีการสนับสนุนทางเศรษฐกิจที่มากกว่านี้

 

มิติของสิ่งแวดล้อม หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์มองว่า โลกของเรากำลังมีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ และความเสี่ยงนี้ได้ขึ้นเป็นวาระสำคัญของหลายรัฐบาล ของหลายประเทศแล้ว โดยความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมจะเริ่มมีผลกับการตัดสินใจด้านนโยบายมากขึ้น และอาจจะมากกว่าปัจจัยด้านอื่นๆ ด้วยซ้ำ เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และนโยบายการเงิน

 

การตระหนักรู้ด้านภัยต่อสิ่งแวดล้อมจะมีมากขึ้น โดยหลังจากสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่องยาวนาน ตอนนี้เริ่มเกิดคำถามขึ้นว่า แล้วสำหรับภัยพิบัติทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้คนควรเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือควรมีแบบแผนการปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าว

 

นอกจากนี้ ยังมีคำถามเกี่ยวกับการลดการปล่อยคาร์บอนฯ ให้เป็น 0 หรือ Net Zero Goals และการปฏิวัติทางเทคโนโลยี (Digitalization) ว่ามีขอบเขตที่ขัดแข้งกันอย่างไรบ้าง 

 

มิติรัฐบาล (องค์กรด้านการปกครอง) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์มองว่าการเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาด ทำให้ภาคการปกครองที่ถูกละเลย และลดทอนอำนาจกลับมามีบทบทบาทอีกครั้ง ทั้งองค์กรด้านการปกครองที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทั้งระดับชาติและระดับโลก 

 

ความไว้วางใจในรัฐบาลระดับประเทศเป็นปัจจัยสำคัญในการปฏิบัติตามมาตรการโควิด-19 และในที่สุดก็ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออัตราการติดเชื้อและการสูญเสียชีวิต เช่นเดียวกัน ความไว้วางใจสถาบันระดับโลกจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้น หากมาตรการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจประสบความสำเร็จ

 

การสร้างความไว้วางใจขึ้นใหม่จะเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ยากที่สุดหลังการแพร่ระบาด โดยเฉพาะในกรณีที่ความไว้วางใจในรัฐบาลถูกทำลายลง ในทางกลับกัน สถาบันพหุภาคีมีแนวโน้มที่จะเกิดการปฏิรูป และการฟื้นฟูอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นในปี 2021 เมื่อผู้เล่นที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งคือประเทศสหรัฐอเมริกากลับเข้ามามีส่วนร่วม

 

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ มองเห็นความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดสำหรับปี 2021 คือการกลายพันธุ์ของไวรัส ซึ่งจะกระทบทิศทางการควบคุมการแพร่ระบาด และนำไปสู่การล็อกดาวน์ประเทศครั้งใหม่ นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่า มาตรการกระตุ้นทางการคลังจะยุติเร็วเกินไปอีกด้วย

 

ภายใต้การนำของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ จะนำมาซึ่งความสามารถในการจัดการกับความท้าทายในประเทศ ทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เช่น การจ้างงาน สุขภาพ การศึกษา และการอยู่ร่วมกันในสังคม ตลอดจนการมีส่วนร่วมในความร่วมมือระหว่างประเทศในการกระจายวัคซีนทั่วโลก การบรรเทาหนี้สำหรับประเทศที่มีรายได้น้อย และการตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 

 

โดยที่ผ่านมา ได้เห็นแรงผลักดันในประเด็นสำคัญหลายประการของนโยบายทางเศรษฐกิจ เช่น นโยบายการคลังและการเงิน การต่อต้านการผูกขาด ทั้งนี้ เพื่อกำหนดทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงรุกมากขึ้น

 

ในปีนี้แม้ว่าความท้าทายจะมีมาก แต่โอกาสที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงก็มีมากมายเช่นกัน

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising