อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย คาดว่า ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปของเดือนมกราคมที่ออกมาสูงถึง 3.23% น่าจะยังไม่ถือเป็นจุดพีคของสถานการณ์เงินเฟ้อในรอบนี้ เนื่องจากปัจจัยสำคัญทั้งราคาพลังงานและราคาอาหารสดยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง โดยคาดว่าเงินเฟ้อไทยมีโอกาสจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 3-3.5% ยาวไปจนถึงช่วงไตรมาส 3 ก่อนที่จะทยอยปรับลดลงในช่วงปลายปี
“เงินเฟ้อน่าจะอยู่ในระดับสูงแถวๆ 3% ไปจนถึงครึ่งปีแรกหรือไตรมาส 3 ก่อนที่จะลดลงในช่วงไตรมาส 4 จากฐานที่สูงของปีก่อน และสถานการณ์ด้านราคาพลังงานและราคาอาหารสดที่น่าจะคลี่คลายได้ในช่วงนั้น ทำให้เรายังมองตัวเลขเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีที่ 2%” อมรเทพกล่าว
อมรเทพกล่าวว่า ทั้งราคาพลังงานและอาหารสดที่ปรับขึ้นในเวลานี้ล้วนเกิดจากปัจจัยในฝั่งอุปทาน ขณะที่ราคาสินค้าและบริการที่บ่งชี้ถึงอุปสงค์ในประเทศ เช่น เสื้อผ้า ค่าเช่าบ้าน ยังไม่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งภาวะที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแอและไม่พร้อมสำหรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อ
“การขึ้นดอกเบี้ยจะได้ผลดีกับเงินเฟ้อที่เกิดจากอุปสงค์ ขณะที่เงินเฟ้อในเวลานี้เกิดจากฝั่งอุปทาน มาตรการที่เหมาะจะนำมาใช้จึงเป็นมาตรการทางการคลังที่ช่วยประคองค่าครองชีพมากกว่า คงต้องรอดูว่าโครงการคนละครึ่งที่ออกมาในเดือนกุมภาพันธ์จะมีแรงส่งแค่ไหน” อมรเทพกล่าว
อมรเทพกล่าวอีกว่า แม้เงินเฟ้อจะมีแนวโน้มเร่งตัวในระยะสั้น แต่ยังเชื่อว่าในระยะยาวเงินเฟ้อจะกลับมาอยู่ในระดับต่ำแถวๆ 1% อีกครั้ง ดังนั้นสิ่งที่น่ากังวล คือ ราคาสินค้าค้าปลีกที่ถูกปรับขึ้นไปแล้ว อย่างเช่นอาหารจานเดียว จะปรับลดลงมาหรือไม่เมื่อราคาวัตถุดิบปรับลดลงมาในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องดูแล
ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมกราคมที่ออกมาที่ระดับ 3.23% ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่ตลาดได้มองกันเอาไว้ที่ 2.4% แต่ถือเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ หากพิจารณาจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นไปแตะ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาเนื้อสัตว์ในประเทศที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น
“หากดูจากท่าทีของกลุ่ม OPEC ที่ไม่น่าจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน ในขณะที่อุปสงค์กำลังเร่งตัวขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ราคาเนื้อหมูก็น่าจะอยู่ในระดับสูงตลอดทั้งปี ก็มีความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อไทยในไตรมาสแรกจะยืนอยู่ในระดับที่สูงกว่า 3% หรืออาจมีช่วงที่ขึ้นไปแตะ 4% ได้ หากราคาน้ำมันปรับเพิ่มสูงขึ้นอีกจากแรงกดดันเรื่องรัสเซียและยูเครน” ณัฐพรกล่าว
ณัฐพรกล่าวว่า กลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อค่อนข้างมากคือผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นถึง 20% ดังนั้นการออกมาตรการดูแลของภาครัฐจึงควรเน้นให้ความช่วยเหลือไปที่คนกลุ่มนี้
ณัฐพรกล่าวอีกว่า แรงกดดันเงินเฟ้อในหลายๆ ด้านที่เพิ่มสูงขึ้นในเวลานี้ อาจทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยต้องทบทวนกรอบตัวเลขเงินเฟ้อไทยในปี 2565 ที่ก่อนหน้านี้มองไว้ที่ 1.6-2.1% เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่เงินเฟ้อจะสูงเกินกว่ากรอบบนที่คาดการณ์เอาไว้
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP