×

กูรูแนะจับตา ‘สงครามเศรษฐกิจ’ เกมบีบรัสเซีย ที่อาจดึงทั้งโลกเข้าสู่วิกฤต

06.03.2022
  • LOADING...
สงครามเศรษฐกิจ

ดูเหมือนว่าสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะถูกพัฒนาเป็น ‘สงครามเศรษฐกิจ’ ไปเป็นที่เรียบร้อย และเกมนี้ทำท่าว่า ‘รัสเซีย’ จะกลายเป็นผู้พ่ายแพ้อย่างยับเยิน 

 

แม้ว่าในเกมสงครามจริง ขุมกำลังของ ‘รัสเซีย’ จะเหนือกว่า ‘ยูเครน’ อยู่มาก แต่ในเกมเศรษฐกิจแล้ว ‘รัสเซีย’ กำลังเพลี่ยงพล้ำอย่างหนัก โดยเฉพาะหลังจากถูกทั่วโลกที่รุม ‘คว่ำบาตร’ ทางเศรษฐกิจ

 

ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียอ่อนค่าลงแล้วกว่า 40% นับตั้งแต่วันที่รัสเซียส่งทหารเข้าสู่ดินแดนของยูเครน ในขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นรัสเซียร่วงลงไปกว่า 20% จนรัฐบาลรัสเซียต้องสั่งปิดทำการไปตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมระยะเวลา 5 วันทำการติดต่อกัน

 

ขณะเดียวกันธนาคารสำคัญหลายแห่งของรัสเซียยังถูกตัดออกจากระบบ SWIFT โดย Sberbank ธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของรัสเซีย ต้องประกาศถอนธุรกิจในยุโรปทั้งหมด หลังเผชิญภาวะกระแสเงินสดไหลออกจำนวนมาก จนทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ออกมาเตือนถึงภาวะที่เสี่ยงจะ ‘ล้มละลาย’

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ธนาคารกลางรัสเซีย (CBR) ต้องตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก 9.5% เป็น 20% ในคราวเดียว เพื่อประคองเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศ

 

ล่าสุดสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรได้สั่งห้ามเครื่องบินรัสเซียผ่านน่านฟ้าของตัวเอง ขณะที่ธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่จากหลายประเทศก็ได้ร่วมแสดงจุดยืนต่อต้านรัสเซียด้วยการถอนการลงทุนและยุติการให้บริการในแดนหมีขาวเป็นการชั่วคราว

 

3 ประเด็นต้องจับตาจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

 

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนในเวลานี้ได้กลายเป็นสงครามทางเศรษฐกิจไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้สถานการณ์หลังจากนี้ต้องติดตามใน 3 ประเด็นหลัก คือ

 

  1. ยูเครนจะรับมือการโจมตีของรัสเซียได้ยาวนานแค่ไหน ซึ่งสถานการณ์ในตอนนี้แม้รัสเซียจะเข้าโจมตียูเครนอย่างหนัก แต่รัสเซียเองก็เผชิญแรงกดดันจากนานาประเทศที่รุมคว่ำบาตร ทำให้ วาลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย ไม่มีทางเลือก ต้องเร่งยึดยูเครนให้ได้โดยเร็วที่สุดเพื่อเปิดฉากเจรจา เพราะตอนนี้สงครามเศรษฐกิจรุนแรงมาก เศรษฐกิจรัสเซียปีนี้อาจหดตัวหนัก 15-20%

 

  1. ต้องติดตามดูว่าชาติตะวันตกกล้าหรือไม่ที่จะตัดกล่องดวงใจของรัสเซีย คือ คว่ำบาตรพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซที่มาจากรัสเซียอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งถ้าทำแบบนี้จริงเศรษฐกิจรัสเซียจะเสียหายหนักมาก แต่การคว่ำบาตรดังกล่าวก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาติตะวันตกด้วยเช่นกัน เพราะกลุ่มประเทศยุโรปพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียจำนวนมาก

 

  1. รัสเซียจะมีวิธีรับมือกับการคว่ำบาตรของนานาประเทศได้มากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงปัญหาการเมืองในประเทศที่เริ่มจะกลายมาเป็นแรงกดดันต่อตัวปูตินเองด้วย เพราะการคว่ำบาตรจากนานาประเทศทั่วโลกเริ่มส่งผลกระทบต่อคนรัสเซียในเวลานี้ เท่ากับว่าปูตินกำลังเผชิญแรงกดดันจากทั้งในและนอกประเทศ

 

พิพัฒน์เชื่อว่า การคว่ำบาตรหากลามไปสู่ในด้านพลังงาน อาจทำให้เศรษฐกิจโลกเผชิญปัญหาได้ เพราะรัสเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันและก๊าซที่เกือบจะใหญ่สุดของโลก ถ้าซัพพลายส่วนนี้ถูกตัดออกไป ความไม่สมดุลด้านพลังงานจะเกิดขึ้นทันที ราคาน้ำมันจะถีบตัวสูงขึ้น เศรษฐกิจโลกก็คงเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างแน่นอน โดยในฝั่งของสหรัฐฯ GDP อาจหายไปถึง 2% 

 

GDP รัสเซียเสี่ยงถดถอยรุนแรง

 

Anders Åslund นักเศรษฐศาสตร์ชาวสวีเดน ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกของ Atlantic Council ระบุว่า ระดับของการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียในเวลานี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน และเมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขต่างๆ ของมาตรการเหล่านี้ มีความเป็นไปได้สูงว่ารัสเซียจะต้องเผชิญกับวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่รุนแรงกว่าวิกฤตการเงินของรัสเซียในปี 1998 

 

“ยังไม่มีทางออกที่จบได้สวยสำหรับรัสเซียในตอนนี้ ตลาดทุนรัสเซียได้รับความเสียหายรุนแรงไปแล้ว ซึ่งยากที่กลับมาสู่จุดเดิมได้หากไม่เกิดการปฏิรูปครั้งใหญ่” Åslund กล่าว

 

ขณะที่ Clemens Grafe หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs กล่าวว่า ธนาคารกลางของรัสเซียไม่สามารถพึ่งพาเงินสำรองประเทศเพื่อลดความผันผวนของค่าเงินรูเบิลได้อีกแล้ว สิ่งที่ยังทำได้ขณะนี้คือการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปเรื่อยๆ และใช้มาตรการนอกตลาด

 

ทั้งนี้ Goldman Sachs ประเมินว่าเงินเฟ้อของรัสเซียในปีนี้จะพุ่งขึ้นไปถึง 17% จากคาดการณ์เดิมที่ 5% ขณะที่การบริโภคในประเทศหดตัวลงราว 10% โดย GDP ของรัสเซียจะพลิกกลับมาติดลบที่ 7% จากที่เคยคาดว่าจะขยายตัวได้ 2% ในปีนี้

 

“แม้ว่าการส่งออกของรัสเซียในตอนนี้จะยังไม่ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรมากนัก แต่เราก็เชื่อว่าตัวเลขส่งออกรัสเซียในปีนี้จะหดตัวราว 5% จากปัญหาด้านการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือในทะเลดำ” Grafe กล่าว

 

สอดคล้องกับความเห็นของ Liam Peach นักเศรษฐศาสตร์จากสำนักวิจัย Capital Economics ที่คาดว่า ในกรณีฐาน ผลจากมาตรการคว่ำบาตรจะทำให้ GDP รัสเซียในปีนี้หดตัวที่ 5% จากเดิมที่มองว่าจะขยายตัวที่ 2.5% ขณะที่เงินเฟ้อมีโอกาสพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 15% 

 

อย่างไรก็ดี Peach ประเมินว่า ในกรณีเลวร้ายที่การคว่ำบาตรของนานาชาติครอบคลุมไปถึงการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคิดเป็น 50% ของการส่งออก หรือ 1 ใน 3 ของรายได้ของรัฐบาลรัสเซียด้วยนั้น ผลกระทบต่อ GDP จะรุนแรงขึ้นไปอีก 

 

จีนคือที่พึ่งสุดท้ายของรัสเซีย

 

Steven Bell หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก BMO Global Asset Management เชื่อว่า ภายใต้ภาวะที่รัสเซียถูกรุมคว่ำบาตรจากพันธมิตรชาติตะวันตก จะทำให้จีนก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญมากขึ้นต่อรัสเซีย ในฐานะการเป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่ที่ยังพึ่งพาได้

 

“รัสเซียได้โยกเงินสำรองจำนวนมากมาเป็นเงินสกุลหยวน และได้สลับระบบการชำระเงินมาอยู่กับธนาคารจีน ทำให้จีนถือเป็นกุญแจสำคัญของรัสเซียในการประคองเศรษฐกิจภายใต้ภาวะวิกฤต” Bell กล่าว

 

Grafe ระบุว่า ข้อจำกัดสำคัญสำหรับรัสเซียคือการไม่สามารถใช้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพื่อรับประกันเงินรูเบิลได้ แต่รัสเซียน่าจะเลือกใช้วิธีเปลี่ยนสกุลเงินอ้างอิงของรูเบิลจากดอลลาร์สหรัฐเป็นหยวนจีนเพื่อแก้ปัญหา

 

“วิธีนี้จะช่วยให้ CBR และกระทรวงการคลังรัสเซียเปลี่ยนเงินออมส่วนเกินจากการขายน้ำมันที่สูงขึ้นไปเป็นสินทรัพย์ต่างประเทศได้” เขากล่าว

 

ล่าสุดธนาคารกลางจีนได้ออกมาระบุแล้วว่า จีนจะไม่เข้าร่วมมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของจีนก็จะเรียกการโจมตียูเครนของรัสเซียว่าเป็นการรุกราน

 

อย่างไรก็ตาม การสร้างตลาดข้ามสกุลเงินกันจะต้องได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากรัฐบาลจีนด้วย ซึ่ง Goldman Sachs มองว่าจีนคงไม่ต้องการเสี่ยงที่จะถูกหางเลขจากมาตรการคว่ำบาตรจากตะวันตกในข้อหาให้ความช่วยเหลือรัสเซียไปด้วย 

 

ไม่ใช่เพียงรัสเซียที่เจ็บตัว

 

แม้รัสเซียจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่าจากสงครามเศรษฐกิจในครั้งนี้ แต่ก็ใช่ว่ากลุ่มชาติตะวันตกจะไม่ได้รับบาดเจ็บเลย เพราะรัสเซียถือเป็นผู้ส่งออกพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ข้าวโพด ธัญพืช เหล็ก และสินแร่สำคัญอย่างพาลาเดียมรายใหญ่ของโลก 

 

มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะส่งผลให้ราคาของสินค้าเหล่านี้ในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าคงกระทบเงินเฟ้อโลกในภาพรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิดของหลายประเทศต้องสะดุดลง

 

กลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบมากคือกลุ่มประเทศยุโรป ที่นำเข้าพลังงานจากรัสเซียในสัดส่วนถึง 1 ใน 3 อีกทั้งยังมีการลงทุนและการค้าที่เกี่ยวพันกับรัสเซียค่อนข้างมาก ขณะที่ประเทศที่มีการค้าทางตรงกับรัสเซียไม่มากก็ยังได้รับผลกระทบจากความผันผวนในตลาดการเงินอยู่ดี

 

Paul Sankey ผู้เชี่ยวชาญด้านราคาน้ำมัน เชื่อว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะพุ่งขึ้นไปอยู่ในกรอบ 120-150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จนว่าสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนจะคลี่คลาย

 

ขณะที่ Glenn Koepke ผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษาด้านซัพพลายเชน FourKites เชื่อว่า อัตราค่าขนส่งสินค้าทางเรือและทางอากาศมีโอกาสจะเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว จากการประกาศปิดน่านฟ้าและน่านน้ำของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะทำให้เรือและเครื่องบินต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางและใช้เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น

 

“ค่าขนส่งสินค้าทางเรือมีโอกาสอาจจะพุ่งขึ้นจาก 10,000 เป็น 30,000 ดอลลาร์ต่อตู้คอนเทนเนอร์ ขณะที่ค่าขนส่งทางอากาศจะเพิ่มขึ้นสูงกว่านี้อีก เพราะรัสเซียเพิ่งจะสั่งปิดน่านฟ้าไม่ให้เครื่องบินจาก 36 ประเทศบินผ่าน” Koepke กล่าว

 

ผลกระทบต่อไทย

 

กระทรวงพาณิชย์ได้ประเมินผลกระทบทางตรงจากปัญหาวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่จะมีต่อการค้า การส่งออก และนำเข้าของไทย ว่าคงมีไม่มาก เนื่องจากการส่งออกจากไทยไปรัสเซียมีสัดส่วนแค่ 0.38% ขณะที่ยูเครนมีสัดส่วนเพียง 0.04% ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ไม่มาก โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบจะจำกัดอยู่ในกลุ่มยางรถยนต์ อาหารแปรรูป อัญมณี และเครื่องสำอาง 

 

อย่างไรก็ดี ผลกระทบทางอ้อมอาจมีเรื่องราคาพลังงานหรือราคาเหล็กที่ต้องนำเข้ามาผลิตสินค้าต่อเนื่อง เช่น กระป๋องหรือการก่อสร้าง รวมถึงผลกระทบต่อราคาธัญพืชที่นำเข้าเพื่อทำอาหารสัตว์ เช่น ข้าวสาลี และข้าวโพด เพราะรัสเซีย-ยูเครนเป็นผู้ผลิตและส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก ซึ่งประเด็นนี้อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศเร่งตัวขึ้น

 

สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า สิ่งที่ไทยควรจับตาดูจากวิกฤตในครั้งนี้คือ ผลกระทบทางอ้อมที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย ชะลอตัวลงในช่วงไตรมาสแรกของปี และอาจต้องเผชิญปัญหาสะดุดในภาคการผลิต

 

“ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้นจะส่งผลให้เงินเฟ้อโลกเร่งตัวเร็วกว่าที่คาด ซึ่งจะกระทบต่อประเทศที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวจากโควิดได้ช้า ซึ่งรวมถึงไทยที่ยังไม่อยู่ในสถานะพร้อมจะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจะซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย ทำให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างเปราะบางมากขึ้น” สมประวิณกล่าว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X