×

เบื้องหลังแพ็กเกจฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ของ EU การเจรจามาราธอนกับบททดสอบความเป็นเอกภาพของยุโรป

29.07.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ในการประชุมครั้งนี้มีการพิจารณางบประมาณสำคัญสองส่วนคือ งบประมาณ 7 ปี (2021-2027) ซึ่งเป็นงบปกติที่ต้องพิจารณาตามรอบ กับงบประมาณ ‘Next Generation EU’ ซึ่งเป็นงบประมาณพิเศษเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากวิกฤตโควิด-19 ซึ่งอย่างหลังวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโรนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นบททดสอบความเป็นเอกภาพของ EU ครั้งสำคัญ
  • จากการเจรจามาราธอน 4 วัน 4 คืน เป็นกระจกสะท้อนว่า สมาชิก EU ไม่ได้มีความเห็นตรงกันเสมอไป อย่างในกรณีของงบช่วยเหลือแบบให้เปล่าและเงินกู้นั้น จะได้เห็นว่า EU มีการแบ่งฝ่ายเป็นยุโรปเหนือ-ยุโรปใต้ ซึ่งเห็นต่างเรื่องวินัยทางการเงิน และระหว่างยุโรปตะวันตก-ยุโรปตะวันออก ซึ่งเห็นต่างในประเด็นสิทธิมนุษยชน
  • โจทย์ใหญ่ในเวลานี้คือการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการหารายได้เพื่อมาชำระหนี้ และต้องติดตามกันว่าแพ็กเกจนี้จะต้องใช้เวลาเท่าไรเพื่อผ่านสภายุโรป ท่ามกลางสถานการณ์ความเร่งด่วนที่หลายฝ่ายอาจรอไม่ไหวแล้ว และต้องการเงินช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด

หนึ่งในข่าวใหญ่ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นการเจรจาแพ็กเกจฟื้นฟูเศรษฐกิจขนาดมหึมาของสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-21 กรกฎาคม ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดยถือเป็นครั้งแรกที่ผู้นำ EU ทั้ง 27 ประเทศได้มาพบปะเจอหน้ากันนับตั้งแต่เริ่มมีการล็อกดาวน์เมื่อเดือนมีนาคม แต่เป็นการเจรจามาราธอนที่ทุกฝ่ายต้องลุ้นกันตัวโก่ง 

 

ในการประชุมครั้งนี้มีการพิจารณางบประมาณสำคัญสองส่วนคือ งบประมาณ 7 ปี (2021-2027) ซึ่งเป็นงบปกติที่ต้องพิจารณาตามรอบ กับงบประมาณ ‘Next Generation EU’ ซึ่งเป็นงบประมาณพิเศษเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากวิกฤตโควิด-19 

 

ที่ประชุมได้ข้อสรุปอนุมัติงบประมาณ 7 ปีในวงเงิน 1.074 ล้านล้านยูโร และงบประมาณ Next Generation EU วงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร ซึ่งอย่างหลังนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นบททดสอบความเป็นเอกภาพของ EU ครั้งสำคัญ

 

 

งบประมาณ Next Generation EU กระจกสะท้อนความสามัคคี/ความแตกแยกของ EU

การเจรจางบประมาณ Next Generation EU เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะต้องก้าวข้ามถึงสามด่านกว่าจะตกลงกันได้

 

ด่านที่หนึ่งคือ จะกู้ร่วมหรือไม่

มีการถกเถียงกันระหว่างสองค่ายหลักคือ ระหว่างยุโรปใต้กับยุโรปเหนือ กลุ่มยุโรปใต้ เช่น อิตาลีและสเปน ซึ่งพื้นฐานเศรษฐกิจไม่ดีและถูกกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 ต้องการให้ EU กู้เงินเพื่อนำมาช่วยเหลือประเทศสมาชิก ในขณะที่กลุ่มยุโรปเหนือ หรือ ‘Frugal Four’ ประกอบด้วย เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย สวีเดน และเดนมาร์ก ซึ่งมีเศรษฐกิจค่อนข้างดีและไม่ต้องการแบกรับภาระหนี้ คัดค้านแนวคิดเรื่องการก่อหนี้ร่วม ต่อมาเยอรมนีและฝรั่งเศส สองแรงขับเคลื่อนหลักของ EU ได้โอนเอียงในทิศทางสนับสนุนการกู้ร่วม จนสามารถโน้มน้าวกลุ่ม Frugal Four ให้ยอมรับแนวคิดนี้ได้ นับเป็นครั้งแรกที่คณะกรรมาธิการยุโรป (องค์การบริหารของ EU) จะกู้เงินจากตลาดทุนในนามของ EU 

 

 

ด่านที่สองคือ จะจัดสรรเงินก้อนนี้อย่างไร

เมื่อสรุปได้แล้วว่าจะกู้เงินจำนวน 7.5 แสนล้านยูโร ต่อมาก็ต้องมาถกเถียงกันว่าเงินก้อนนี้จะให้เปล่า หรือปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ประเทศสมาชิก แน่นอนว่ากลุ่มประเทศผู้รับประโยชน์หลักก็จะต้องการเงินแบบให้เปล่า ในขณะที่ประเทศที่ไม่เดือดร้อนก็ต้องอยากให้เป็นเงินกู้ 

 

ในเบื้องต้นสรุปได้ว่าจะเป็นการผสมระหว่างเงินให้เปล่ากับเงินกู้ ซึ่งเยอรมนีและฝรั่งเศสเสนอให้แบ่งเป็นเงินให้เปล่า 5 แสนล้านยูโร และเงินกู้ 2.5 แสนล้านยูโร แต่กลุ่ม Frugal Four ยังไม่พอใจ และเจรจาปรับลดจนกระทั่งได้ข้อสรุปว่า เป็นเงินให้เปล่า 3.9 แสนล้านยูโร และเงินกู้ 3.6 แสนล้านยูโร

 

ด่านที่สามคือ จะมีข้อแม้อะไรบ้าง

ประการแรก กลุ่ม Frugal Four ยืนยันว่างบประมาณ Next Generation EU จะต้องนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูจากวิกฤตโควิด-19 เท่านั้น ส่วนประการที่สอง กลุ่มยุโรปตะวันตกต้องการตั้งเงื่อนไขว่า ประเทศสมาชิกที่ไม่เคารพหลักนิติธรรมจะถูกจำกัดสิทธิในการเข้าถึงงบประมาณของ EU

 

ข้อเรียกร้องของกลุ่ม Frugal Four ได้รับการตอบสนอง โดยประเทศสมาชิก EU จะสามารถบล็อกการจัดสรรงบประมาณระยะต่อไปได้ หากเห็นว่าประเทศที่ได้รับเงินไม่ได้นำไปใช้ตามแผนการฟื้นฟูที่ได้สัญญาไว้ แต่ข้อเรียกร้องของกลุ่มยุโรปตะวันตกถูกคัดค้านอย่างหนักจากประเทศยุโรปตะวันออกอย่างฮังการีและโปแลนด์ ซึ่งมักถูกจับตามองในประเด็นสิทธิมนุษยชนจนไม่สามารถหาข้อสรุปได้

 

จากการเจรจามาราธอนครั้งนี้เป็นที่ประจักษ์ว่า สมาชิก EU ไม่ได้มีความเห็นตรงกันเสมอไป อย่างในกรณีนี้ก็ได้เห็นว่า EU แบ่งเป็นยุโรปเหนือ-ยุโรปใต้ ซึ่งเห็นต่างเรื่องวินัยทางการเงิน และระหว่างยุโรปตะวันตก-ยุโรปตะวันออก ซึ่งเห็นต่างในประเด็นสิทธิมนุษยชน

 

อย่างไรก็ดี ความเพียรพยายามตลอด 4 วัน 4 คืนจนกระทั่งหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ตอกย้ำว่า EU ยังคงเป็นการรวมกลุ่มที่มีเอกภาพเพียงพอที่สามารถขับเคลื่อนวาระสำคัญให้เดินหน้าต่อไป

 

EU วางแผนเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมและดิจิทัลเพื่อเพิ่มรายได้

ในเมื่อต้องกู้เงินแล้ว EU ก็ต้องคิดว่าจะหาเงินมาชำระหนี้ก้อนใหญ่นี้อย่างไร แน่นอนว่าประเทศสมาชิกคงไม่ต้องการจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติม ดังนั้น EU จึงได้วางแผนการจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ โดยเฉพาะภาษีด้านสิ่งแวดล้อมและภาษีดิจิทัล ดังนี้ 

 

ระยะที่ 1 EU จะเริ่มเก็บภาษีขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้จากประเทศสมาชิก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564

 

ระยะที่ 2 EU จะออกมาตรการภาษีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment: CBA) และภาษีดิจิทัล ภายในวันที่ 1 มกราคม 2023 ทั้งนี้มาตรการ CBA มีนัยคือการเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าที่ EU มองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง 

 

ระยะที่ 3 EU จะปฏิรูประบบซื้อขายสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (EU Emissions Trading System: EU ETS) โดยอาจขยายให้ครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมการบินและการเดินเรือ ซึ่งหมายความว่าสายการบินหรือเรือพาณิชย์ที่เดินทางเข้า-ออก EU อาจมีต้นทุนเพิ่มในอนาคต 

 

ระยะที่ 4 EU จะหาแนวทางการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติม เช่น ภาษีธุรกรรมทางการเงิน

 

เธียร์รี เบรตัน ผู้บริหารระดับสูงของ EU ซึ่งรับผิดชอบด้านตลาดภายใน โพสต์บนทวิตเตอร์ภายหลังผลการประชุมผู้นำ EU ว่า “EU จะไม่เก็บภาษีเพิ่มจากชาว EU แต่จะเก็บภาษีเพิ่มกับสินค้าที่เข้ามาใน EU” 

 

อย่างไรก็ดี มีการเขียนต่อในทวิตเตอร์กันว่า ประเด็นนี้จะทำให้ประเทศคู่ค้า (ผู้ส่งออกไปยัง EU) ห่วงกังวลหรือไม่ และจะทำให้ผู้บริโภคใน EU เองต้องซื้อสินค้าแพงขึ้นหรือไม่ 

 

สภายุโรปคือด่านต่อไปของแพ็กเกจฟื้นฟู

ตามกฎระเบียบของ EU เมื่อผู้นำ EU เห็นชอบแพ็กเกจฟื้นฟูแล้ว ก็จะต้องเสนอขอความเห็นชอบจากสภายุโรปก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งสภายุโรปได้เรียกประชุมทันทีภายหลังการประชุมของผู้นำ EU เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ยังมีหลายประเด็นที่สภายุโรปแสดงความห่วงกังวล โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเคารพหลักนิติธรรม ซึ่งสภายุโรปประสงค์ให้เป็นเงื่อนไขในการเข้าถึงงบประมาณ EU นอกจากนี้ ส.ส. ยุโรปหลายคนต้องการเห็นงบประมาณด้านสาธารณสุขและการวิจัยมากขึ้น และต้องการความชัดเจนเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการหารายได้ของ EU เพื่อมาชำระหนี้

 

กว่าข้อเสนอแพ็กเกจ Next Generation EU จำนวน 7.5 แสนล้านยูโรของคณะกรรมาธิการยุโรปจะผ่านที่ประชุมผู้นำ EU ได้ก็ต้องใช้เวลาเจรจามาราธอน 4 วัน 4 คืน หรือกว่า 90 ชั่วโมง ถือเป็นการประชุมผู้นำที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของ EU จากนี้ไปเราคงต้องติดตามกันว่าแพ็กเกจนี้จะต้องใช้เวลาเท่าไรเพื่อผ่านสภายุโรป ท่ามกลางสถานการณ์ความเร่งด่วนที่หลายฝ่ายอาจรอไม่ไหวแล้ว และต้องการเงินช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด

 

* บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสะท้อนหรือสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising