ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ Geoeconomics 2025: Mapping the Future of Economic Power เปิดแผนที่อำนาจเศรษฐกิจปี 2025 ในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024: BRAVE NEW WORLD เศรษฐกิจไทย ไล่กวดโลกใหม่ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
โดยปานปรีย์แบ่งปันและแลกเปลี่ยนมุมมองด้านภูมิเศรษฐศาสตร์ (Geoeconomics) ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบัน รวมทั้งเสนอแนวทางการรับมือและการเตรียมพร้อม เพื่อกำหนดทิศทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2025 ที่ใกล้จะมาถึง
ทีมงาน THE STANDARD ถอดความสปีชนี้แบบคำต่อคำ
ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งโรคระบาด ปัญหา Global Warming รวมทั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งใน Geoeconomics ความตึงเครียดของสองมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีนก็สร้างผลกระทบภาพรวมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการค้า การลงทุน หรือเทคโนโลยี ที่มีผลกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงส่งผลให้เราต้องมาเข้าใจสิ่งนี้ นั่นคือแผนที่อำนาจเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน
เริ่มกันที่จีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจฝั่งเอเชียที่เชื่อมต่อกับประเทศอื่นในหลายมิติ ทั้งด้านการเมืองอย่าง BRICS และโครงการต่างๆ เช่น Belt and Road Initiative เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความมั่นคง ซึ่งนโยบาย BRICS ก็ค่อนข้างจะมีความชัดเจนในการลดการพึ่งพาจากชาติตะวันตก ในปีนี้เจ้าภาพการประชุมอย่างรัสเซียถึงกับมีข้อเสนอ De-dollarization กับกลุ่มประเทศสมาชิก เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับตนเอง
จะเห็นว่าประเทศที่ประชากรมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกต่างอยู่ใน BRICS เป็นจำนวนมาก และไทยกำลังสมัครเข้าเป็นสมาชิกในนั้น ในแง่ความสัมพันธ์กับไทย จีนยังเป็นคู่ค้าสำคัญของเรา และประเทศในอาเซียนตามข้อตกลง RCEP ที่ทำให้การค้าหมุนเวียนของเราในอาเซียนมีสภาพคล่องสูงมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น จีนยังพยายามขยายอำนาจทางเศรษฐกิจผ่านโครงการ Belt and Road Initiative โดยการสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งเพื่อเติบโตในภูมิภาค
แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่ง Belt and Road Initiative อาจเป็นการสร้างภาระหนี้ให้กับประเทศในระยะยาวด้วย โดยหากมีภาระหนี้กับจีน ประเทศนั้นๆ จะต้องสำรองหยวนมากขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นคือ De-dollarization รวมถึงอำนวยความสะดวกให้กับจีนที่เป็นโรงงานของโลกในการส่งสินค้าสู่ตลาดโลกอย่างรวดเร็ว
พอหันกลับมามองสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมหาอำนาจขั้วเดิมก็ปรับตัวสู้กับการเติบโตและการขยายอิทธิพลของจีนในฐานะผู้นำระเบียบโลก หรือ World Order อย่างเข้มข้นไม่แพ้กัน
นอกจากสหรัฐฯ จะรวมกลุ่มกับ OECD ที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมในหมู่ประเทศสมาชิกของตนแล้ว โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญที่มากขึ้นของกลุ่มประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกและอินเดีย จึงริเริ่มกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ นั่นก็คือ IPEF หรือ Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity เพื่อสร้างความได้เปรียบในภูมิภาคที่สำคัญนี้ โดยเฉพาะขณะที่ผมดำรงตำแหน่ง ผมพูดคุยและสื่อสารกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ จึงเข้าใจได้ว่าทำไมพื้นที่แห่งนี้จึงมีความสำคัญมาก
ผมอยากให้ทุกท่านลองมองโลกอีกด้านหนึ่งของแผนที่ หากจีนอยู่ซ้าย สหรัฐฯ อยู่ขวา IPEF คือจุดยุทธศาสตร์สำคัญทั้งทางด้านธุรกิจและความมั่นคง โดยล้อมรอบจีนในเกือบทุกด้าน เราจึงต้องวางตัวบนเวทีโลกให้เหมาะสม เนื่องด้วยอำนาจของทั้งสองด้านต่างมีเราเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ ที่ผมต้องพูดแบบนี้ เพราะจากประสบการณ์ของผม ก่อนหน้านี้โลกของเรามองเศรษฐกิจเหนือการเมือง ในยุคหนึ่งที่จีนเริ่มเปิดประเทศเพราะรู้ว่าการค้านั้นสำคัญ ทุกประเทศต่างเปิดรับและยอมรับเข้า WTO ถึงแม้ว่าจีนจะยังคงมีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ก็ตาม
แต่เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาจะใช้ Geoeconomics นำ Geopolitics เช่น กลับมาทำสงครามการค้า โดยตั้งกำแพงภาษีเพื่อกีดกันสินค้าจากบางประเทศ ลามไปถึงมาตรการสกัดกั้นบริษัททุนเทคโนโลยีขั้นสูงจากจีน โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ หน่วยประมวลผลควอนตัม และปัญญาประดิษฐ์ หรือที่เราเรียกว่า AI จากโลกยุคใหม่ที่เคยเป็น Free Trade หรือการค้าเสรี เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก จาก Globalization จึงกลับกลายเป็น Deglobalization มากขึ้นทุกวัน
จากภาพนี้กลุ่มประเทศ OECD เป็นสีน้ำเงิน และ BRICS เป็นสีแดง ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่มีการทับซ้อนของประเทศเลย นี่คือฉากทัศน์ของโลกในปัจจุบัน และถ้ามองตามข้อตกลงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า การลงทุน การไหลเวียนของเงินทุน หรือการพัฒนาเทคโนโลยีและพันธมิตรต่างๆ ที่ทับซ้อนกันอยู่ สีเหล่านั้นจะเหลื่อมกันในบางพื้นที่ และเราเป็นหนึ่งในนั้น ท่ามกลางข้อเสนอจากทุกฝ่าย สิ่งสำคัญที่เราต้องมองคือแล้วไทยควรทำอย่างไร
เรื่องที่จะนำเสนอนี้เป็นมุมมองส่วนตัวของผม ในฐานะคนที่ทำงานด้านเศรษฐกิจและเคยดำรงตำแหน่งในด้านการต่างประเทศมาก่อน จึงขอพูดเรื่องนี้ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใดในปัจจุบัน
ส่วนตัวผมมองว่าเราควรบริหารความสัมพันธ์อย่างมียุทธศาสตร์ นั่นคือสิ่งที่ผมยึดมาตลอดการทำงานตลอด 8 เดือน และมองไปในอนาคตข้างหน้าด้วย ที่การบริหารงานภาคเศรษฐกิจจะมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เราเรียกว่า Strategic Neutrality หรือการวางตัวเป็นกลางอย่างมีกลยุทธ์ ถ้าเป็นกลางเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องขยับคุยกับใครก็เป็นกลางได้ แต่ความได้เปรียบทางการค้าหรือโอกาสต่างๆ ก็อาจหายไป เพราะชาติอื่นมองว่าเราไม่ชัดเจน ยิ่งในยุคที่มีความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศ การที่เราสามารถรับโอกาสได้จากทุกฝ่าย ค้าขายได้กับทุกทาง จะทำให้เรามีความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน เพราะในปัจจุบันเศรษฐกิจไทยขยายตัวในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน หากต้องการจะเติบโต เราจำเป็นจะต้องมีการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีกมาก รวมทั้งเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันกับตลาดโลกไปพร้อมๆ กัน
เราต้องเปิดโอกาสให้มากที่สุดทั้งระดับประเทศและภาคเอกชน เพราะแต่ละคนมีคู่ค้าที่ไม่เหมือนกัน หากเราส่งออกไปที่ใดที่หนึ่งแล้วมีความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นจากการเลือกข้างในระดับชาติ เราควรต้องป้องกันความเสี่ยงโดยการกระจายการค้าไปหลายที่หรือมีความสัมพันธ์ที่ดีเอาไว้ก่อน เพื่อให้เรามีโอกาสมากขึ้น
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาผมมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ เช่น การเปิดโอกาสด้านการท่องเที่ยวด้วยการทำฟรีวีซ่าจาก 93 ประเทศรวมจีนและอินเดีย เพิ่มรายได้ให้กับเศรษฐกิจในประเทศ, การเจรจาเป็นพันธมิตรด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ Digital Economy และเซมิคอนดักเตอร์กับสหรัฐฯ ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีจะทำให้เรามีโอกาสกับการลงทุนต่างประเทศ เช่น Google และ NVIDIA ที่เริ่มมาลงทุนในไทยมากขึ้น หากเราเดินหน้าต่อทางด้าน FTA กับประเทศในยุโรปและสหราชอาณาจักร เราจะแข่งขันเรื่องการส่งออกได้อย่างสูสีกับเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามมากขึ้น ส่งผลให้ GDP ของเราจะสูงขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ
แต่เราจะสร้างโอกาสไม่ได้เลยถ้าเรากับคู่ค้ามีมาตรฐานต่างกัน เพราะแต่ละประเทศไม่ได้มองเพียงแค่สินค้าหรือต้นทุนที่ต่ำกว่า แต่ยังรวมไปถึงความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อม สิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญา และสิทธิมนุษยชน ซึ่งหากเรามีความสัมพันธ์ที่ดี สามารถแสดงให้โลกเห็นได้ว่าเราให้ความสำคัญกับสิ่งนั้นจริงๆ เช่น กรณีการจับตัวประกันชาวไทยของฮามาส ซึ่งเราก็สามารถเจรจาให้ยอมปล่อยตัวประกัน รวมถึงอพยพชาวไทยกลับมาได้โดยความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งได้รับความชื่นชมจากประเทศฝั่งที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก หรือแม้กระทั่งการช่วยเหลือทางด้านมนุษยชนกับชาวเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากสงครามก็เช่นกัน สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดคือตัวอย่างของการสร้างโอกาสการเติบโตร่วมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะในโลกที่เกิดการแบ่งขั้ว เราต้องสร้างดุลยภาพ ไม่พึ่งพาใครมากเกินไป เพราะไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่าใครจะเป็นผู้วาง World Order ของทศวรรษหน้า
ประเด็นสุดท้ายที่ผมขอกล่าวถึงคือผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อไทย ทุกท่านคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าทรัมป์ชนะการเลือกตั้งและจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป
การที่ทรัมป์ 2.0 ขึ้นเป็นประธานาธิบดีจากนโยบาย America First เศรษฐกิจโลกจะเกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ด้วยการแข่งขันทางการค้าระหว่างมหาอำนาจคือสหรัฐฯ และจีน ซึ่งจะทวีความเข้มข้นไปอีก รวมทั้งประเทศที่ค้าขายกับสหรัฐฯ ด้วย ในฐานะที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นอันดับ 1 และได้ดุลการค้า เป็นไปได้ว่าจะถูกตั้งกำแพงภาษีเช่นกัน เราจึงต้องติดตามภาษีของแต่ละประเภทสินค้าของเราให้ดี และพร้อมเจรจาเพื่อคงความได้เปรียบด้านการค้าของไทยในอนาคต
ส่วนการแบ่งขั้วหรือที่เราเรียกกันว่า Decoupling จากสหรัฐฯ ต่อจีน รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะถอดถอนจีนจาก MFN ที่มีการปฏิบัติต่อคู่ค้าอย่างเท่าเทียมกันนั้น อาจเกิดประโยชน์กับไทย เพราะฐานการผลิตและการลงทุนจะย้ายออกจากจีน ซึ่งจะมีหลายอุตสาหกรรมที่มีโอกาส ได้แก่ รถยนต์, คอมพิวเตอร์, อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องดื่ม รวมทั้งภาคเกษตรด้วย
แต่ไม่ได้แปลว่าโอกาสนี้จะเกิดประโยชน์กับเราแน่นอน เพราะนโยบายหลักของทรัมป์มีความเชื่อว่ามี Free Trade ได้จะต้อง Fair Trade ก่อน ทุกประเทศอาจต้องปรับการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ใหม่ทั้งหมด เพราะแนวโน้มการเจรจาจะเปลี่ยนรูปแบบจากพหุภาคีเป็นเลือกเจรจาเป็นคู่และ Mini Trade Agreement แทน เดิมมี IPEF ก็อาจยกเลิก เหมือนที่เคยถอนตัวจาก CPTPP มาก่อนแล้ว ซึ่งจะทำให้ผู้เจรจาการค้าระหว่างประเทศมีความสำคัญอย่างไม่เคยมีมาก่อน เราต้องพร้อมทั้งยุทธศาสตร์และประสิทธิภาพ เพื่อชิงจังหวะของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เพื่อประเทศไทย
มาถึงตรงนี้ผมขอสรุปว่า ในปีที่กำลังจะมาถึงนี้โลกจะยังคงมีความไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พวกเราจะต้องเตรียมพร้อมไว้ทั้งเชิงรับและเชิงรุก การบริหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างมียุทธศาสตร์จะมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ผมมองว่าควรเปิดโอกาสให้ตัวเอง ไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง คุยได้ทุกฝ่าย เข้าได้ทุกชาติ ไม่ว่าจะเกิดสงครามหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าการค้าจะเป็นเช่นไร เราจะต้องเดินต่อไปให้ได้