ในทุกๆ วันพวกเราต่างออกไปทำงานตามหน้าที่ของตัวเอง โดยจุดประสงค์ของแต่ละบุคคลอาจแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นการสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม การทำตามความฝันของตัวเอง การหาเลี้ยงชีพและครอบครัว แต่อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่น่าจะเป็นเป้าหมายของใครหลายคนทั่วโลกคือการนำมาซึ่ง ‘ความเจริญรุ่งเรืองและความมั่งคั่ง’ ของชีวิต อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่เหมือนกันในแต่ละประเทศคือการเข้าถึงโอกาส และความเปิดกว้างเสรีในสิทธิที่คนของประเทศนั้นๆ สามารถเลือกทางเดินชีวิตของตนเองได้
ภาพรวมเสรีภาพทางเศรษฐกิจของโลกกำลังตกต่ำลง เสี่ยงกระทบคุณภาพชีวิต
ทุกปี The Heritage Foundation องค์กรที่ทำการวิจัยจัดทำข้อเสนอแนะและนโยบายต่างๆ ที่เน้นในเรื่องของเศรษฐกิจแบบเสรีให้กับสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศทั่วโลก จะเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำดัชนีชี้วัดเสรีภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Freedom Index) โดยดัชนีใช้ปัจจัยหลัก 4 อย่างคือ
- หลักนิติธรรม (Rule of Law) ประกอบด้วยสิทธิการครอบครองทรัพย์สิน ความสุจริตโปร่งใสของระบบยุติธรรม และความซื่อสัตย์ของภาครัฐ
- ขนาดของรัฐบาล (Government Size) ประกอบด้วยภาระภาษีที่คนในประเทศต้องแบกรับ การใช้จ่ายภาครัฐ และสุขภาพทางการคลัง
- ประสิทธิภาพของกฎหมายและการกำกับดูแล (Regulatory Efficiency) ประกอบด้วยอิสระในการประกอบธุรกิจ เสรีภาพของแรงงาน และเสรีภาพทางการเงินโดยมีสกุลเงินที่มั่นคง
- ความเปิดกว้างทางการค้า (Market Openness) ประกอบด้วยอิสระในการค้าขายทั้งในและต่างประเทศ อิสระในการลงทุน และการเข้าถึงบริการทางการเงินโดยรวม
ซึ่งในแต่ละปัจจัยหลักจะประกอบไปด้วย 3 ปัจจัยย่อยที่รวมกันเป็น 12 เรื่องที่ถูกกระจายน้ำหนักในปริมาณเท่าๆ กัน และนำไปคำนวณเพื่อหาค่าเฉลี่ยออกมาเป็นคะแนนเสรีภาพทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ
โดยดัชนีจะมีช่วงคะแนน 0-100 และแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มหลักตามช่วงคะแนนดังนี้
- 80+ เป็นกลุ่มที่มีเสรีภาพทางเศรษฐกิจสูงสุด (Free economies)
- 70-79.9 เป็นกลุ่มที่มีเสรีภาพทางเศรษฐกิจมาก (Mostly free)
- 60-69.9 มีเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเสรี (Moderately free)
- 50-59.9 มีเศรษฐกิจที่ค่อนข้างไม่เสรี (Mostly unfree)
- 0-49.9 มีเศรษฐกิจที่ถูกกดขี่และควบคุม (Repressed)
ความสำคัญของดัชนีตัวนี้คือ ประเทศที่ได้คะแนนเสรีภาพทางเศรษฐกิจสูงมักจะตามมาด้วยประชากรที่มีความมั่นคงทางการเงิน มีสุขภาพดี ทำให้มีช่วงชีวิตที่ยืนยาวกว่า และยังมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นสถิติจากรายงานยังชี้ว่าประเทศที่ได้คะแนนดัชนีต่ำกว่า 60 มีปัญหาความยากจนของคนในประเทศถึง 31.2% ในขณะที่ถ้าประเทศมีคะแนนตั้งแต่ 60-79.9 อัตราความยากจนนั้นลดต่ำลงไปมากกว่า 3 เท่าที่ 8.1% กล่าวคือ กลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจค่อนข้างเสรีจนถึงมากจะมีอัตราความยากจนแค่ประมาณ 1 ใน 4 ของประเทศที่มีเสรีภาพทางเศรษฐกิจต่ำ
ข้อมูลดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Freedom Index) แสดงให้เห็นว่าช่วงปี 2021-2022 มีการหักหัวลงของคะแนนสำหรับประเทศไทย ทำให้ช่องว่างของความมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยแคบลงและเข้าใกล้กับค่าเฉลี่ยโลกมากขึ้นในปี 2023
ประเทศไทยถือว่าอยู่ในลำดับกลางๆ ของเวทีโลก ที่อันดับ 80 จาก 184 ประเทศที่มีการจัดเก็บข้อมูล จากทั้งหมด 12 ปัจจัยย่อย ไทยยังคงต้องเสริมแกร่งความเชื่อมั่นในหลักนิติธรรม ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ปัจจัยย่อยคือ สิทธิการครอบครองทรัพย์สิน ความสุจริตโปร่งใสของระบบยุติธรรม และความซื่อสัตย์ของภาครัฐ ที่ทั้งสามยังเป็นจุดอ่อนเมื่อเทียบกับโลก ทำให้อิสระในการลงทุนในสายตานักลงทุนต่างประเทศอาจได้รับผลกระทบไปด้วยจากจุดอ่อนตรงนี้
อินไซต์ภาพรวมหลักทั่วโลกจากรายงานประจำปี 2023 คือหลายประเทศในโลกอยู่ในสถานะที่ ‘มีเศรษฐกิจที่ค่อนข้างไม่เสรี’ โดยคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 59.3 ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ ข้อมูลรายงานเผยว่ามีเพียงแค่ 4 ประเทศ/ดินแดน จาก 184 ประเทศในโลกที่สำรวจมีคะแนนอยู่ในสถานะกลุ่มประเทศที่ ‘มีเสรีภาพทางเศรษฐกิจสูงสุด’ ได้แก่ สิงคโปร์ (83.9) สวิตเซอร์แลนด์ (83.8) ไอร์แลนด์ (82.0) และไต้หวัน (80.7) ลดลงจากปีที่แล้วที่มีถึง 7 ประเทศในกลุ่มนี้ แสดงให้เห็นว่าเทรนด์เสรีภาพทางเศรษฐกิจทั่วโลกนั้นต่ำลง
‘หลักนิติธรรม’ 1 ใน 4 ปัจจัยฉุดรั้งคะแนนดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจของไทย
ประเทศไทยเราอยู่ในอันดับที่ 80 จาก 184 ประเทศ โดยได้คะแนนรวมอยู่ที่ 60.6 คะแนน ตกลงมาจากปีที่แล้วถึง 2.6 คะแนน ทำให้ในตอนนี้ถ้าหากไทยเสียคะแนนติดลบไปแค่ 0.7 จะทำให้เราหล่นไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่ ‘มีเศรษฐกิจที่ค่อนข้างไม่เสรี’ อย่างไรก็ตาม ไทยเราก็ยังมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียที่ 58.2 และของโลกที่ 59.3
จากรายงาน Economic Freedom Index 2023 สิ่งที่ประเทศไทยสามารถทำได้ดีพอสมควรหากประเมินจากมุมมองของความมีอิสระเชิงเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับภาพรวมทั่วโลกคือ เรื่องการใช้จ่ายที่รัฐบาลไทยมีสัดส่วนที่น้อยกว่าถึง 8.1% หมายความว่าบทบาทในการแทรกแซงของรัฐบาลยังอยู่ในระดับต่ำในเชิงเปรียบเทียบ ทำให้ภาคเอกชนยังสามารถมีอำนาจการตัดสินใจในธุรกิจมากกว่าบางประเทศ และการเก็บภาษีที่แม้ว่าอัตราภาษีบุคคลจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกไป 6.3% แต่อัตราภาษีธุรกิจของไทยนั้นต่ำกว่า ซึ่งอาจเป็นผลบวกกับภาคธุรกิจรวมไปถึงสภาพทางการคลังที่ยังดีอยู่ เนื่องจากหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวม (Public Debt to GDP) ของไทยคือ 58.4% ในขณะที่โลกอยู่ที่ 67.7%
ในเรื่องของความมีประสิทธิภาพของกฎหมายและการกำกับดูแล ประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่พอๆ กับค่าเฉลี่ยโลก เช่น การทำธุรกิจที่ไม่ต้องมีทุนขั้นต่ำ เป็นหนึ่งในการส่งเสริมและเอื้อให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ง่ายมากขึ้น อีกทั้งในฝั่งการเงินทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้มีการจัดการเงินเฟ้อและเสริมความมั่นคงให้กับสกุลเงินบาทท่ามกลางความปั่นป่วนของเศรษฐกิจโลกได้ค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับบางประเทศ
อีกปัจจัยหลักอย่างความเปิดกว้างทางการค้า ไทยทำได้ค่อนข้างดีกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ในมิติของการเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีประสิทธิภาพมากกว่าหลายประเทศ โดยคะแนนของไทยในเรื่องนี้อยู่ที่ 60 ขณะที่โลกได้คะแนนเพียง 48.8 แต่ยังมีเรื่องความคลุมเครือทางกฎเกณฑ์หรือนโยบายการลงทุนที่อาจทำให้ต่างชาติบางส่วนยังลังเลที่จะลงทุนในไทยอยู่ ถึงแม้เราจะพยายามสนับสนุนการลงทุนดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประเทศไทยยังทำได้ไม่ดีคือหลักนิติธรรม รายงานเผยว่ากระบวนการยุติธรรมโดยรวมของไทยนั้นยังอ่อนแอในทุกมิติ ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ปัจจัยย่อยคือ สิทธิการครอบครองทรัพย์สิน ความสุจริตโปร่งใสของระบบยุติธรรม และความซื่อสัตย์ของภาครัฐ ที่ทั้งหมดเรามีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก ถึงแม้คะแนนทั่วโลกจะต่ำในเรื่องของหลักนิติธรรม แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูงกว่าไทย หมายความว่าปัญหาเรื่องคอร์รัปชันและความโปร่งใสของภาครัฐยังเป็นประเด็นในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย
อ้างอิง: