×

ชัชชาติชี้ เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ต้องมี Trust Economy ด้วยการสร้างความไว้วางใจให้เกิดทุกระดับ

30.05.2020
  • LOADING...

งานเสวนา THE STANDARD ECONOMIC FORUM ในวันที่สอง ในหัวข้อ Trust Economy: เศรษฐกิจของความไว้ใจกับการขับเคลื่อนหลังโควิด-19 โดย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในช่วงเย็นวันนี้

 

​ชัชชาติเริ่มต้นจากการพูดถึงคำว่า New Normal ที่ถูกใช้และพูดถึงกันทั่วไป โดยเสนอว่าเป็นสิ่งที่ตอบหรือคาดเดาได้ยากว่า New Normal จะออกมาเป็นแบบไหน เพราะมีความเป็นไปได้ทางรูปแบบหลายทางเลือก ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกที่จะทำอะไรมากกว่า สิ่งที่เรียกว่า New Normal ไม่นิ่ง เปลี่ยนแปลงได้ และของเก่าก็อาจวนกลับมาได้

 

ชัชชาติมองว่า ​ปัญหาใหญ่ของโควิด-19 คือไปรบกวน Mega Trend 2 เรื่องที่ประเทศไทยพึ่งพาในการเติบโตทางเศรษฐกิจมาตลอดหลายปี 1. โลกาภิวัตน์ (Globalization) ซึ่งเป็นความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการลงทุน และ 2. การขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องการท่องเที่ยวและการบริโภค ทั้งสองอย่างนี้หยุดชะงักลงเพราะการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

 

ขณะที่​หัวใจของความเป็นเมืองคือการเชื่อมโยงและความหนาแน่น ซึ่งโควิด-19 เป็นปฏิปักษ์กับหัวใจของความเป็นเมืองตรงนี้ เพราะมันคือโรคระบาด เมืองสมัยก่อนเน้นเฉพาะการเชื่อมโยงในแง่กายภาพ แต่ในปัจจุบันเน้นทั้งการเชื่อมโยงทางกายภาพและการเชื่อมโยงทางดิจิทัลไปพร้อมๆ กัน แต่เมื่อเกิดโควิด-19 จึงเป็นปัจจัยที่มากระตุ้นให้เร่งการเชื่อมโยงทางดิจิทัลให้เพิ่มขึ้นและเร็วขึ้น เพราะคนกลัวการเชื่อมโยงทางกายภาพ

 

​แต่ไม่ได้แปลว่าการเชื่อมโยงทางดิจิทัลจะชนะจนไม่มีการพัฒนาการเชื่อมโยงทางกายภาพเลย เพราะคนก็ยังต้องออกไปทำงานนอกบ้านอยู่ ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำงานจากที่บ้านได้ อนาคตจึงจะเป็นการแข่งขันของการพัฒนาระหว่างเชื่อมโยงทั้งสองแบบ

 

​ที่น่ากังวลคือ การพัฒนาความเชื่อมโยงนี้อาจสร้างปัญหาให้คนตัวเล็กตัวน้อยบางกลุ่มที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะแต่เดิมเขาก็อาจเข้าไม่ถึงหรือตามไม่ทันการเชื่อมโยงทางกายภาพอยู่แล้ว พอมาเจอการเชื่อมโยงทางดิจิทัลอีก ความเหลื่อมล้ำยิ่งอาจสูงขึ้นกว่าเดิม

 

ชัชชาติกล่าวว่า ​ปัจจุบันโลกเปลี่ยนเร็วมาก การบริหารภาคธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลง โดยเอาผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางในการตัดสินใจ ส่วนการบริหารงานภาครัฐควรเปลี่ยนมาเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางในการตัดสินใจ การตัดสินใจแบบรวมศูนย์เป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้ว เราต้องปรับโครงสร้างและเปลี่ยนวิธีคิดของข้าราชการไทยให้เข้าใกล้ประชาชนมากขึ้น ซึ่ง​ปัจจุบันระบบบริหารภาครัฐไทยมีปัญหา เพราะเราขาดฐานข้อมูลที่ดีที่ลงลึกในระดับเส้นเลือดฝอย ถ้าเรามีฐานข้อมูลที่ดีและลงลึกละเอียด การตัดสินใจจากส่วนกลางจะทำได้ดีขึ้นและตรงจุดมากขึ้น

 

​ส่วนการบริหารภาคเอกชนต้องให้ความสำคัญกับ Stakeholders เพื่อให้รอดไปด้วยกันทั้งหมดในสภาวะวิกฤต ทั้งลูกจ้างพนักงาน ชุมชน และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ใช่แค่ให้บริษัทหรือธุรกิจอยู่รอดอย่างเดียวแต่คนอื่นตายหมด โควิด-19 นี่เป็นโอกาสในการปรับตัวครั้งใหญ่ของภาคเอกชน เพราะมันชี้ให้เราเห็นจุดอ่อนของบริษัทต่างๆ ว่าต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

 

​ที่น่าเป็นห่วงคือ คนตัวเล็กตัวน้อยนับล้านคนที่ไม่มีสวัสดิการหรือโครงข่ายทางสังคมรองรับในช่วงวิกฤต คนกลุ่มนี้คือกลุ่มเปราะบางที่เราต้องลงไปช่วยกันดูในช่วงระหว่างที่มีการปิดเมืองในเฟสแรกนี้ ส่วนในเฟสที่ 2 คนที่เดือดร้อนจะเริ่มเป็นคนชนชั้นกลางที่มีอาชีพเฉพาะบางแบบที่ยังไม่สามารถกลับมาทำงานหรือหางานอื่นทดแทนได้แม้จะเปิดเมืองแล้ว

 

ชัชชาติกล่าวว่า หากตนได้เป็นผู้บริหาร สิ่งที่จะทำเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่คือ ไปขอโอกาส ขอความรู้ และขอเทคโนโลยีจากพวกเขา จะสร้างโครงการที่ดึงคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง จะเข้าไปหาพวกเขา ไม่ใช่รอให้พวกเขามาหาเรา เพราะทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ล้ำหน้าภาครัฐไปไกลแล้ว

 

ชัชชาติมองว่า ​เศรษฐกิจไทยตอนนี้เจอปัญหาเพราะ 3 เรื่องหลัก 1. นักท่องเที่ยวลดลง 2. การหยุดชะงักของสายโซ่อุปทาน และ 3. การปิดเมือง ซึ่งทั้ง 3 ปัญหาเกิดขึ้นจากความไม่ไว้วางใจ ดังนั้นการจะเร่งสร้างเศรษฐกิจไทยทั้งการท่องเที่ยว การลงทุน และธุรกิจให้กลับมาฟื้นตัวได้ หัวใจสำคัญคือการสร้างความไว้วางใจ (Trust) ให้เกิดขึ้น พยายามสร้างให้เกิด Trust Nation ซึ่งการจะสร้าง Trust ได้ต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่าง 1. ค่านิยมร่วม 2. ความประพฤติ 3. ความเก่ง หากมีทั้งหมดนี้ก็จะช่วยเป็นแรงส่งให้ทั้งนักท่องเที่ยว นักลงทุน และกิจการในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง

 

​การจะสร้าง Trust ต้องทำในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศไล่ลงมาจนถึงระดับเล็กสุดคือตัวบุคคล จะทำแค่ระดับใดระดับหนึ่งไม่ได้ คิดว่าเงินที่รัฐบาลกำลังกู้มาก็ควรเอาส่วนหนึ่งไปมุ่งลงทุนเพื่อสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้น ให้คนรู้สึกปลอดภัย ไม่ระแวง ไม่กลัว โดยเฉพาะการลงทุนด้านระบบสาธารณสุขและโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งระบบการตรวจสอบมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทั้งหมด

 

​การจะสร้างสิ่งเหล่านี้ได้รัฐบาลจำเป็นต้องมีทีมงานที่ไว้วางใจได้ในการทำงาน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากภาคส่วนต่างๆ ให้กลับมา ซึ่งนอกจากมีทีมงานที่ไว้ใจได้แล้ว ยังต้องมีข้อมูลและกระบวนการสื่อสารกับประชาชนที่ไว้วางใจได้ด้วยเช่นกัน

 

ชัชชาติกล่าวว่า ​การใช้เวลาสร้าง Trust ในแต่ละระดับอาจใช้เวลาไม่เท่ากัน เช่น ร้านอาหารก็อาจใช้เวลาสั้น ขณะที่ระดับชาติอาจใช้เวลายาวกว่า แต่คิดว่าไม่น่าจะใช้เวลายาวนานมาก เพราะเราไม่ได้หนักหนาสาหัสเท่าอีกหลายประเทศ

 

​การจะสร้าง Trust Nation อาจเริ่มจากระดับทวิภาคีก่อน ค่อยๆ สร้างข้อตกลงกันเป็นเรื่องๆ เป็นส่วนๆ มีหลายประเทศเริ่มลงมือทำกันแล้ว หลังจากนั้นค่อยๆ ขยายผลเป็นความร่วมมือเพื่อสร้างความไว้วางใจในระดับที่ใหญ่ขึ้นต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

 


ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X