ในปาฐกถาเปิดงานเสวนา THE STANDARD ECONOMIC FORUM เซสชันแรกว่าด้วยระเบียบโลกหลังโควิด-19 เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศถอยห่างจากกัน ที่ Thailand E-Sports Arena กรุงเทพฯ วันนี้ (29 พฤษภาคม) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า เดิมภูมิสถาปัตย์ทางการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไปในทุกๆ 2-3 ปี แต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้เกิดกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ขึ้น ขณะเดียวกันก็เกิดการดิสรัปต์ของเทคโนโลยีในยุค 4.0 ซึ่งเดินสวนกระแสการต่อต้านโลกาภิวัตน์ เพราะเทคโนโลยีสามารถขับเคลื่อนที่ไปไหนก็ได้โดยไร้พรมแดน ซึ่งทำให้เกิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนขึ้น
ช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 โลกาภิวัตน์ถูกท้าทายมากอยู่แล้ว และเกิดความถดถอยของความร่วมมือในการแก้ปัญหาผ่านเวทีพหุภาคี ที่เห็นได้ชัดคือนโยบายของสหรัฐฯ ในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เช่น การถอนตัวจากข้อตกลงพหุภาคีหรือความร่วมมือระหว่างประเทศในหลายๆ เรื่องของรัฐบาล ไปจนถึงการใช้มาตรการขึ้นภาษีสินค้าจีน และการยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านเพียงฝ่ายเดียว
แต่สิ่งที่น่าสนใจในช่วงที่ผ่านมาคือหลายประเทศเริ่มส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งก็ยังเป็นระบบพหุนิยมอยู่ โดยไทยได้ผลักดันความร่วมมือผ่านอาเซียนบวกกับประเทศคู่ค้าในกรอบ RCEP 15+1 ประเทศ รวมถึงการปัดฝุ่นข้อตกลง CPTPP ที่เป็นเขตการค้าเสรีข้ามแปซิฟิก
สิ่งที่เราเห็นในช่วงวิกฤตโควิด-19 คือความร่วมมือระหว่างประเทศที่ลดลง แม้ปัญหาโรคระบาดเป็นปัญหาข้ามพรมแดน แต่การแก้ไขปัญหาโรคระบาดกลับจำกัดอยู่เพียงในพรมแดนของตน โดยมีความรักชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง
แต่ ดร.สุรเกียรติ์ มองว่าทางเดียวที่จะรอดจากวิกฤตนี้คือความร่วมมือระหว่างประเทศ เพราะที่ผ่านมาไม่เป็นเช่นนั้น ดังจะเห็นได้จากความร่วมมือกับสหประชาชาติ (UN) หรือองค์การอนามัยโลก (WHO) มีค่อนข้างน้อย บางประเทศมีการปิดพรมแดน มีมาตรการป้องกันที่แตกต่างกันในหลายประเทศ ทั้งที่ควรจะสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน
เมื่อระบบพหุภาคีถูกท้าทายมากขึ้น บวกกับการขยายตัวของกระแสชาตินิยม ทำให้เรามองข้ามระบบพหุภาคี หรือความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้บทบาทขององค์การระหว่างประเทศยิ่งเสื่อมถอยลง ถึงขนาดที่เลขาธิการสหประชาชาติเคยออกมาพูดว่า เวลานี้โลกกำลังขาดผู้นำ
โลกาภิวัตน์ในปัจจุบันจึงมีลักษณะที่เป็นเสี่ยงเสี้ยว โดยสงครามการค้าที่เริ่มมาก่อนโควิด-19 ทำให้หลายประเทศต้องหันมาพึ่งพาตนเอง ขณะที่โลกระบาดเป็นตัวเร่งให้เกิดแนวคิดการแยกเศรษฐกิจหรือห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) ออกจากกัน โดยเน้นการลงทุนในประเทศตนเองมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศ รวมถึงให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงทางสาธารณสุข เพื่อให้ยืนด้วยตัวเองได้อย่างมั่นคง
ดร.สุรเกียรติ์ มองว่าโลกเวลานี้มีผู้นำหลายขั้ว ซึ่งแต่ละประเทศอาจโดดเด่นในแต่ละเรื่อง สหรัฐฯ อาจเป็นผู้นำทางการทหาร แต่ในด้านการเมืองอาจไม่ใช่อีกต่อไป เพราะสหรัฐฯ กำลังหันหลังให้กับระบบพหุนิยมหรือความร่วมมือระดับพหุภาคี ซึ่งอาจส่งผลต่อบทบาทการเป็นผู้นำทางการเมืองในเวทีโลก ส่วนด้านเศรษฐกิจนั้น สหรัฐฯ และจีนก็แข่งขันกันอย่างคู่คี่สูสี โดยมีอาเซียน 10+3 ที่โดดเด่นขึ้นมา เช่นเดียวกับเทคโนโลยี ก็มีจีนขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญของสหรัฐฯ ขณะที่เอเชียก็มีหลายประเทศที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยหลายประเทศก็อาจขึ้นมาเป็นผู้นำด้านสาธารณสุขและความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งอาจไม่ใช่สหรัฐฯ จีน หรือสหภาพยุโรป
แต่ถึงแม้โลกาภิวัตน์และระบบพหุภาคีจะถูกกระทบ แต่ในภาพรวมยังมีความเป็นโลกนิยม (Globalism) อยู่ แต่ความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีนจากการแข่งขันในมิติต่างๆ จะผลักให้โลกก้าวสู่ยุคสงครามเย็น และอาจนำไปสู่สงครามตัวแทนในอนาคตได้
ช่วงท้าย ดร.สุรเกียรติ์ แนะว่า โลกควรให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพมากขึ้น และให้จับตาเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทในการผลิตอาหารที่ปลอดภัย รวมถึงอุปกรณ์การแพทย์ และการส่งเสริมระบบการแพทย์ทางไกล
โควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนไป สิ่งนี้ได้สร้างความท้าทายในด้านการศึกษา รวมถึงบทบาทใหม่ของสถาบันการศึกษาที่เน้นการศึกษาข้ามสาขา เช่นเดียวกับการปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมรูปแบบใหม่
ขณะเดียวกันโควิด-19 จะเร่งให้เกิด Economy of Trust หรือเศรษฐกิจของความเชื่อถือขึ้น จริงๆ แล้วเรื่องนี้พูดกันมา 3 ปีแล้ว แต่เวลานี้มีความสำคัญมากขึ้น เพราะจากนี้ไประบบเศรษฐกิจจะให้ความสำคัญกับการตรวจสอบและติดตามได้ เช่น ตรวจสอบว่ามีคนติดเชื้อแล้วจะต้องตามต่อได้ หรือดูว่าอาหารปลอดภัยจริงไหม ฟื้นฟูร่างกายได้จริงไหม ผู้คนมีความปลอดภัยที่จะเดินทางข้ามประเทศได้จริงหรือไม่ และต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum