×

ไขปมวิกฤตเศรษฐกิจ สปป.ลาว ‘เงินกีบอ่อนค่า น้ำมันขาดแคลน เงินเฟ้อพุ่งหนัก’ สาเหตุจากอะไร?

โดย THE STANDARD TEAM
12.06.2022
  • LOADING...
วิกฤตเศรษฐกิจ

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาว กลายเป็นที่จับตามองในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังประสบภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง ท่ามกลางสกุลเงินกีบที่อ่อนค่าลงอย่างหนัก และเกิดการขาดแคลนน้ำมันขึ้นทั่วประเทศ

 

โดยที่มาที่ไปของปมปัญหานี้เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักเศรษฐศาสตร์ต่างมองว่า วิกฤตเศรษฐกิจของ สปป.ลาวรอบนี้รุนแรงและหยั่งรากลึก และ ‘ไม่ง่าย’ ที่จะแก้ไข 

 

วิกฤตขาดแคลนน้ำมัน

 

ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนทั่ว สปป.ลาวต้องเผชิญปัญหาหนักจากการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง จนปรากฏภาพประชาชนถือถังหรือขวดลิตรไปยืนต่อแถวยาวเพื่อรอซื้อน้ำมันที่ปั๊ม หลายปั๊มถึงขั้นต้องแจกบัตรคิวหรือปิดไปเพราะไม่มีน้ำมันขาย 

 

ที่มาของวิกฤตขาดแคลนน้ำมันนี้ หลักๆ เกิดจากการนำเข้าน้ำมันที่ลดลง ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น และผลกระทบจากการอ่อนค่าของสกุลเงินกีบ

ปัจจุบัน สปป.ลาวมีผู้นำเข้าน้ำมันได้เพียงประมาณ 20 ล้านลิตรต่อเดือน ท่ามกลางความต้องการน้ำมันที่สูงกว่า 120 ล้านลิตร โดยน้ำมันสำเร็จรูปส่วนใหญ่นำเข้าจากไทย และซื้อขายด้วยเงินบาทหรือดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่สกุลเงินกีบอ่อนค่า ซึ่งหมายความว่าต้องใช้เงินในการซื้อน้ำมันที่มากขึ้น

 

ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกก็พุ่งสูงขึ้นจากหลายปัจจัย รวมถึงผลกระทบจากสงครามรัสเซียและยูเครน ซึ่งการเพิ่มขึ้นอย่างมากของราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา และตัวเลขการนำเข้าที่ลดลง ทำให้ราคาขายน้ำมันหน้าปั๊มถีบตัวสูงขึ้น 

 

โดยตัวเลขราคาน้ำมันใน สปป.ลาวช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วกว่า 92.6% 

 

เงินกีบอ่อนค่ารุนแรง

 

ช่วงเดือนกันยายนปี 2021 สกุลเงินกีบมีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ประมาณ 9,400 กีบ ต่อ 1 ดอลลาร์ แต่ ณ ปัจจุบัน ในวันที่ 12 มิถุนายน 2022 เงินกีบอ่อนค่าลงไปกว่า 14,400 กีบต่อ 1 ดอลลาร์ หรือพูดง่ายๆ คืออ่อนค่าลงกว่า 50% 

 

ปัจจัยที่ทำให้สกุลเงินกีบอ่อนค่า หลักๆ มาจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ ภายหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้เงินดอลลาร์มีมูลค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่ และส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็ก โดยเฉพาะประเทศที่มีการขาดดุลทางการเงิน หรือบัญชีเดินสะพัดจำนวนมากอย่าง สปป.ลาว 

 

ซึ่งเม็ดเงินจำนวนมากไหลออกจากเงินกีบไปยังสกุลเงินต่างชาติ ขณะที่ประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ใน สปป.ลาวก็ไม่เชื่อมั่นในสกุลเงินกีบและหันไปถือสกุลเงินต่างประเทศ เช่น บาท หรือดอลลาร์

 

ทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำ หนี้ต่างประเทศสูง 

 

การป้องกันความเสี่ยงต่อการอ่อนค่าของสกุลเงิน ทำให้ธนาคารกลางของหลายประเทศต้องสะสมทุนสำรองระหว่างประเทศไว้เป็นจำนวนมาก เพื่อใช้พยุงค่าเงินในช่วงที่มีความผันผวนสูง 

 

แต่อัตราทุนสำรองระหว่างประเทศของ สปป.ลาว ณ เดือน ธันวาคม ปี 2021 มีอยู่แค่ประมาณ 1.26 พันล้านดอลลาร์ โดยถือเป็นตัวเลขที่ต่ำจนน่ากังวล เนื่องจากสามารถรองรับการนำเข้าสินค้าได้เพียง 2.9 เดือน ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ที่กำหนดให้ประเทศรายได้ต่ำ ควรมีอัตราทุนสำรองระหว่างประเทศครอบคลุมการนำเข้าได้ 4-6 เดือน 

 

อีกทั้ง สปป.ลาวยังมีหนี้ต่างประเทศที่สูงกว่า 1.24 หมื่นล้านดอลลาร์ และหนี้ในประเทศอีกกว่า 900 ล้านดอลลาร์ รวมกว่า 1.33 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 71% ของ GDP ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้จากการกู้ยืม สำหรับโครงการก่อสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่างๆ โดยหลายโครงการเป็นส่วนหนึ่งของแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) รวมถึงโครงการทางรถไฟ สปป.ลาว-จีน มูลค่ากว่า 5.9 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งรัฐบาลลาวรับผิดชอบประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์

ขณะที่มีกำหนดชำระหนี้ประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศทั้งหมด ทำให้เกิดคำถามสำคัญถึงความสามารถในการชำระหนี้ของ สปป.ลาวที่สุ่มเสี่ยงจะไปไม่รอด แม้ว่าธนาคารโลกจะชี้ว่า การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้มีแนวโน้มที่น่าจะประสบผลสำเร็จ และประเมินอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ สปป.ลาวเพิ่มขึ้นจาก 2.5% เมื่อปีที่แล้ว เป็นกว่า 3.8% ในปีนี้

 

เงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบ 18 ปี 

 

ผลจากวิกฤตน้ำมันขาดแคลนและการอ่อนค่าของเงินกีบอย่างรุนแรง ส่งผลให้ตัวเลขเงินเฟ้อของ สปป.ลาวไต่ระดับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ข้อมูลในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาพบว่า อัตราเงินเฟ้อของ สปป.ลาวเพิ่มขึ้นกว่า 12.8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งสูงสุดในรอบ 18 ปี และสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

 

ภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงทำให้ประชาชน สปป.ลาวจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยต้องแบกภาระค่าครองชีพที่มากขึ้น และต้องดิ้นรนอย่างมากเพียงเพื่อซื้อสิ่งของอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐานและสิ่งจำเป็นอื่นๆ 

 

โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติ สปป.ลาวพบว่า ในเดือนพฤษภาคม ค่าใช้จ่ายด้านการสื่อสารและคมนาคมของประชาชนเพิ่มขึ้นกว่า 34.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมัน ตลอดจนราคารถยนต์และอะไหล่รถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้น

 

ส่วนราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วกว่า 20.6% ขณะที่ค่ารักษาพยาบาลและค่ายาเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 13% 

 

ส่วนค่าอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 8.2% ราคาไข่ นม ชีส เพิ่มขึ้น 27.79% ขนมปังและแป้งเพิ่มขึ้น 16.7% ขณะที่ราคาเสื้อผ้าและรองเท้าเพิ่มขึ้นกว่า 11.7%

 

ดุลการค้าและบริการติดลบ และผลกระทบจากโควิด

 

ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา สปป.ลาวเผชิญการขาดดุลทางการค้าและบริการ คิดเป็นมูลค่ารวมกันกว่า 340,000 ล้านบาท ซึ่งผลกระทบจากวิกฤตโควิด ที่ทำให้ต้องปิดประเทศและขาดรายได้สำคัญอย่างการท่องเที่ยว ส่งผลให้เศรษฐกิจ สปป.ลาวยิ่งทรุดหนักลงอีก

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของ สปป.ลาวดูจะดีขึ้นในช่วงต้นของปี รายงานจากเว็บไซต์ Lao Trade Portal พบว่าช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ การค้าของ สปป.ลาวมีตัวเลขเกินดุลรวมกันกว่า 189 ล้านดอลลาร์ ก่อนจะกลับมาติดลบในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม ที่ขาดดุลรวม 156 ล้านดอลลาร์

 

สำหรับการค้าระหว่างไทยและ สปป.ลาวในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า สปป.ลาวขาดดุลการค้าต่อไทยมาตลอด โดยในปี 2018 สปป.ลาวขาดดุลการค้าประมาณ 55,000 ล้านบาท ปี 2019 สปป.ลาวขาดดุลการค้า 46,000 ล้านบาท และปี 2020 สปป.ลาวขาดดุลการค้า 15,000 ล้านบาท 

 

โดยการขาดดุลการค้าต่อเนื่องก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ สปป.ลาวมีสกุลเงินบาทในทุนสำรองระหว่างประเทศลดน้อยลงมาก ซึ่งการที่ทุนสำรองระหว่างประเทศมีน้อย ในขณะที่ความต้องการสกุลเงินต่างประเทศเพื่อนำเข้าสินค้ายังไม่ลดลง ทำให้ส่งผลกระทบต่อสกุลเงินกีบที่อ่อนค่าลงอย่างมาก

 

ทางออกของวิกฤต?

 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีแนวโน้มว่าวิกฤตเศรษฐกิจและสถานการณ์เงินเฟ้อของ สปป.ลาวจะดีขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ แม้ว่ารัฐบาล สปป.ลาวจะพยายามกำหนดมาตรการที่เข้มงวดเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อและการอ่อนค่าของสกุลเงินกีบ ตลอดจนเร่งแก้ปัญหาน้ำมันเชื้อเพลิงขาดแคลน 

 

โดยธนาคารกลาง สปป.ลาว ได้ออกมาตรการเพื่อคุมเข้มการไหลเวียนของเงินทุน เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีเงินหมุนเวียนเพียงพอภายในระบบเศรษฐกิจ สำหรับใช้ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม และเตรียมจับมือกับกระทรวงความมั่นคงสาธารณะและหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาล เพื่อปราบปรามการค้าเงินตราต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการอ่อนค่าของเงินกีบ 

 

ตลอดจนเตรียมปรับปรุงการจัดการสกุลเงินต่างประเทศ และกลไกการจัดหาเงิน เพื่อรองรับการนำเข้าสินค้าจำเป็นจากต่างประเทศ และเพื่อให้มีสกุลเงินต่างประเทศมากพอสำหรับการนำเข้าน้ำมัน ทางรัฐบาล สปป.ลาวจะเดินหน้าจับมือกับหลายธนาคารพาณิชย์เพื่อหาแหล่งเงินทุนใหม่ ตลอดจนปรับปรุงการจัดการแหล่งรายได้จากต่างประเทศด้วย

 

แฟ้มภาพ: Photo by Hoang Dinh Nam / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X