×

5 สัญญาณความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และแนวโน้มการดำเนินธุรกิจในมุมมองของซีอีโอปี 2565

11.02.2022
  • LOADING...
ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ

PwC ได้จัดทำผลสำรวจมุมมองของซีอีโอทั่วโลกประจำปี ครั้งที่ 25 หรือ 25th Annual Global CEO Survey โดยรวบรวมความคิดเห็นและวิสัยทัศน์ของผู้นำต่อการเติบโตขององค์กร กลยุทธ์ และทิศทางธุรกิจภายใต้ความท้าทายใหม่ๆ จำนวนทั้งสิ้น 4,446 ราย ในจำนวนนี้เป็นซีอีโอจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจำนวน 1,618 ราย ส่วนจะเป็นอย่างไรติดตามได้จากบทความนี้

 

การบริหารธุรกิจท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด ยังคงเป็นความท้าทายอันดับที่หนึ่งของผู้บริหารทั่วโลก แม้ว่าวันนี้ภาวะเศรษฐกิจในหลายประเทศจะเริ่มเห็นสัญญาณปรับตัวดีขึ้น โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) คาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2565 จะอยู่ที่ 4.9% ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของการดำเนินธุรกิจในแต่ละตลาดที่ไม่เท่ากัน การเข้าถึงวัคซีนของประชาชน และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น 

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 


 

เช่นเดียวกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่น่าจะเห็นการปรับตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจโดยรวมในปีนี้ เปรียบเทียบกับปีก่อน แต่นโยบายในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธ์ุโอมิครอนในแต่ละประเทศที่แตกต่างกันไป ตลอดจนความท้าทายของการจัดการห่วงโซ่อุปทาน ท่ามกลางการแข่งขันทางธุรกิจที่เข้มข้น และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จะยังคงเป็นบททดสอบศักยภาพของผู้บริหารในการนำองค์กรก้าวข้ามการเปลี่ยนแปลง และกระแสดิสรัปชันต่างๆ เหล่านี้ในปี 2565

 

ล่าสุด PwC ได้จัดทำผลสำรวจมุมมองของซีอีโอทั่วโลกประจำปี ครั้งที่ 25 หรือ 25th Annual Global CEO Survey โดยรวบรวมความคิดเห็นและวิสัยทัศน์ของผู้นำต่อการเติบโตขององค์กร กลยุทธ์ และทิศทางธุรกิจภายใต้ความท้าทายใหม่ๆ จำนวนทั้งสิ้น 4,446 ราย ในจำนวนนี้เป็นซีอีโอจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจำนวน 1,618 ราย ซึ่งวันนี้ผมจะขอนำผลจากการสำรวจที่น่าสนใจบางส่วนมาแบ่งปันให้กับคุณผู้อ่าน เพื่อจะได้นำไปพิจารณาในการกำหนดกลยุทธ์ขับเคลื่อนองค์กรในปีนี้ ดังต่อไปนี้

 

1. ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและรายได้ขององค์กรปรับตัวดีขึ้น

 

ผลสำรวจล่าสุดของ PwC พบว่า ซีอีโอส่วนใหญ่ (76%) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แสดงความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า เปรียบเทียบกับ 77% ของซีอีโอทั่วโลก ในขณะที่ 50% ยังมั่นใจมากด้วยว่า รายได้ของบริษัทของตนจะเติบโตขึ้นจากปีก่อน สอดคล้องกับรายงานฉบับเดิมของ IMF ที่ชี้ว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้จะยังคงมีแนวโน้มเติบโตรวดเร็วที่สุดในโลก โดยได้รับอานิสงส์จากกระแสของการทำดีล (Deal Flow) และการระดมทุนในภูมิภาคที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยผู้บริหารจะดำเนินธุรกิจผ่านกลยุทธ์ต่างๆ เช่น ขยายการลงทุนไปสู่ตลาดใหม่ภายในภูมิภาค ควบคู่ไปกับการพัฒนาสินค้าและบริการให้ดึงดูด และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากกว่าเดิม เป็นต้น

 

2. ซีอีโอต้องการพนักงานที่มีทักษะใหม่ๆ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

 

ผู้บริหารต้องการพนักงานที่มีทักษะใหม่ๆ เพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยผลสำรวจของ PwC พบว่า ซีอีโอในเอเชียแปซิฟิกมีความกังวลว่า ภัยคุกคามด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของรายได้ขององค์กรมากที่สุดเป็นอันดับที่สอง รองจากภัยคุกคามด้านสุขภาพ 

 

นอกจากนี้ ทักษะด้านการประเมิน และการบริหารการกำจัดคาร์บอนจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (Decarbonisation) ยังถือเป็นอีกหนึ่งทักษะใหม่ที่มีความสำคัญต่อผู้บริหาร หลังหลายองค์กรทั่วโลกมีการตั้งปณิธานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) หรือก้าวไปสู่การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เป็นต้น

 

ด้วยเหตุนี้ การยกระดับทักษะของบุคลากรจะกลายมาเป็นภารกิจลำดับต้นๆ ของผู้บริหารที่ต้องเร่งผลักดัน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะที่จำเป็น และต้องเปิดโอกาสให้พนักงานได้เสริมองค์ความรู้ และเพิ่มพูนทักษะใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

 

3. ESG จะส่งผลให้เกิดสมดุลระหว่างผลกำไร และการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร

 

การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social and Governance: ESG) จะยังคงเป็นประเด็นที่ร้อนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งซีอีโอในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่หันมาให้ความสำคัญในการกำหนดกลยุทธ์ด้าน ESG มากขึ้น เพื่อขานรับกระแสเรียกร้องของสังคมโลกในการดำเนินธุรกิจที่ไม่วัดกันที่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ภายใต้การมีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีด้วย 

 

ดังนั้น ผู้นำธุรกิจจะต้องบริหารสมดุลระหว่างผลตอบแทนระยะสั้นและคุณค่าระยะยาวขององค์กร รวมถึงต้องสามารถสื่อสารคุณค่าของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ผ่านการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG (ESG Reporting) ที่ครบถ้วนและเชื่อมโยงกับกลยุทธ์ของการบริหาร ให้ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบ

 

4. ผนวกปัจจัยที่ไม่ใช่ปัจจัยทางการเงินในการสร้างความไว้วางใจกับผู้บริโภค

 

ผลสำรวจของ PwC ยังได้สำรวจความเชื่อมโยงระหว่างดัชนีความไว้วางใจของผู้บริโภค (Consumer Trust Index) และการผนวกปัจจัยที่ไม่ใช่ปัจจัยทางการเงิน เพื่อนำมาพิจารณาการคำนวณผลตอบแทนของผู้บริหารพบว่า องค์กรที่มีดัชนีความไว้วางใจของผู้บริโภคอยู่ในระดับสูงที่สุด (Tier 1) มีการนำปัจจัยที่ไม่ใช่ปัจจัยทางการเงิน เช่น ความพึงพอใจของลูกค้า (65%) ความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร (57%) การขับเคลื่อนองค์กรสู่ดิจิทัล (46%) และเป้าหมายในการลดปริมาณคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (26%) มาพิจารณาในการประเมินผลตอบแทนของผู้บริหาร 

 

การให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ ตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นขององค์กรในการเติบโตทางธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่า และส่งมอบผลลัพธ์อย่างยั่งยืนให้กับสังคมส่วนรวม โดยไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การสร้างผลกำไรเพียงอย่างเดียว ทำให้ผู้บริโภค ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนสังคมเกิดความไว้วางใจต่อองค์กรนั้นๆ มากขึ้น

 

5. ผนึกกำลังเพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว

 

การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตโควิด ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความผันผวนทางเศรษฐกิจ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนกับหน่วยงานภาครัฐในการกำหนดนโยบายของประเทศ รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนที่เดือดร้อน การหาพันธมิตรทางธุรกิจที่อาจนำไปสู่การต่อยอดทางความคิดและธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการผนึกกำลังในด้านอื่นๆ ที่จะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ธุรกิจ และสังคมโดยที่ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน 

 

ในส่วนของภาครัฐ นโยบายที่ส่งเสริมการลงทุนและการค้าย่อมจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษกิจทั้งในระดับประเทศและในระดับภูมิภาค สำหรับองค์กรธุรกิจเอง การเร่งยกระดับทักษะให้กับบุคลากรและประยุกต์ใช้นวัตกรรมจะส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากสินค้าและบริการที่แตกต่างไปจากเดิม

 

การแพร่ระบาดของโรคโควิดจะยังคงสร้างแรงกดดันให้องค์กรต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับโลกธุรกิจที่มีความผันผวนในปีนี้ต่อไป ฉะนั้นผู้นำองค์กรจะต้องไม่ยึดติดกับสูตรสำเร็จเดิมๆ แต่จะต้องโฟกัสไปที่การสร้างความยืดหยุ่น (Agility) ในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และมีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X