×

รู้จัก ‘Ecocide’ การทำลายสิ่งแวดล้อมระดับล้างผลาญที่ เกรตา ธันเบิร์ก ประณามรัสเซียจากเหตุเขื่อนโนวา คาคอฟคาระเบิด

03.07.2023
  • LOADING...
Ecocide

“การทำลายล้างสิ่งแวดล้อมเป็นรูปแบบหนึ่งของการทำสงคราม ซึ่งในจุดนี้ชาวยูเครนต่างรู้ซึ้งดี และรัสเซียเองก็เช่นกัน”

 

นี่คือถ้อยคำสั้นๆ แต่ทรงพลังของ เกรตา ธันเบิร์ก สาวน้อยนักเคลื่อนไหวด้านโลกร้อนชาวสวีเดน โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (29 มิถุนายน) เธอได้เดินทางไปยังกรุงเคียฟด้วยตัวเอง เพื่อร่วมประชุมกับคณะทำงานระหว่างประเทศว่าด้วยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากปฏิบัติการทางทหาร ก่อนที่จะเข้าพบกับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน เพื่อร่วมหารือเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว

 

สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งคือ ธันเบิร์กใช้คำว่า ‘Ecocide’ มาอธิบายภาพของสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายล้างอย่างหนักในยูเครน หากยังคงจำกันได้เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ชาวยูเครนต้องทนทุกข์ทรมานจากภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ เมื่อเขื่อนโนวา คาคอฟคา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเกิดแตกระเบิด ทำให้มวลน้ำไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นกว่า 100 คนด้วยกัน น้ำปริมาณมหาศาลได้กวาดกลืนหมู่บ้าน พื้นที่การเกษตร และเขตอนุรักษ์ธรรมชาติพังเสียหาย อีกทั้งยังนำเอาพวกสารมลพิษต่างๆ ปะปนไปกับน้ำและเข้าไปสู่พื้นที่ชุมชน เช่น น้ำมันหรือสารเคมีที่ใช้ในภาคการเกษตร ก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเลดำ

 

หลังเกิดเหตุดังกล่าวก็มีนักวิเคราะห์และหน่วยงานต่างๆ ออกมาพูดถึงทฤษฎีเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ทำให้เขื่อนโนวา คาคอฟคาแตก บ้างก็ว่ายูเครนนั่นแหละที่เป็นฝ่ายโจมตีเขื่อนนี้เสียเอง บ้างก็ว่ารัสเซียต่างหากที่แอบวางระเบิดจากภายในเขื่อน ขณะที่บางคนมองว่าไม่ใช่ฝีมือของใครทั้งนั้น แต่เขื่อนพังลงมาเองเพราะโครงสร้างที่ไม่แข็งแรง

 

แม้สาเหตุที่แท้จริงไม่มีใครรู้แน่ชัด แต่สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นภัยพิบัติทางระบบนิเวศที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในยุโรปในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา หรือเข้าตำรา Ecocide การทำลายสิ่งแวดล้อมระดับล้างผลาญที่ควรเป็นอาชญากรรมระดับโลก!

 

  • Ecocide คืออะไร

 

Ecocide เป็นคำนามที่เกิดจากการผสมคำกันระหว่างคำว่า Eco- ที่แปลว่า ‘สิ่งแวดล้อม’ บวกกับ -Cide หรือเติมลงไปท้ายคำศัพท์คำใดก็จะแปลได้ว่ามันเกี่ยวข้องกับ ‘การฆ่าหรือทำลาย’ ฉะนั้นเมื่อสองคำนี้รวมกันความหมายของมันจึงเป็น ‘การทำลายล้างสิ่งแวดล้อมในระดับที่รุนแรงสูง’ นั่นเอง

 

ในอดีตโลกเคยเผชิญกับภัยคุกคามทางธรรมชาติระดับ Ecocide อยู่หลายครั้ง ยกตัวอย่างเช่นเหตุการณ์ช็อกโลกเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2010 หลังแท่นขุดเจาะน้ำมัน Deepwater Horizon เกิดระเบิด ส่งผลให้มีน้ำมันดิบใต้ทะเลรั่วไหลออกมากว่า 779 ล้านลิตร และแม้ว่ากาลเวลาจะผ่านมาเป็นสิบปีแล้ว แต่ระบบนิเวศในบริเวณดังกล่าวยังพบร่องรอยของความเสียหายมาจนถึงปัจจุบัน เพราะหลายพื้นที่ชายหาดยังคงเจอคราบน้ำมันตกค้าง

 

อีกหนึ่งกรณีที่เห็นภาพชัดคือปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าแอมะซอนของบราซิลที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้นำจากชนเผ่าต่างๆ รวมถึงกลุ่มสิทธิมนุษยชนในบราซิลได้พยายามเรียกร้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เปิดการสอบสวน ฌาอีร์ โบลโซนาโร อดีตประธานาธิบดีบราซิล ที่ออกนโยบายเอื้อผลประโยชน์ในกลุ่มอุตสาหกรรมของรัฐบาลจนทำให้พื้นที่ป่าขนาดใหญ่ถูกทำลายกลายเป็นพื้นที่แห้งแล้ง และโลกต้องสูญเสียแหล่งเก็บกักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไป

 

  • กฎหมายระหว่างประเทศต้องให้ความยุติธรรมกับ ‘สิ่งแวดล้อม’

 

หลายคนอาจไม่เคยรู้จักกับคำว่า Ecocide มาก่อน แต่จริงๆ แล้วนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมได้พยายามต่อสู้กันมาอย่างยาวนานเพื่อให้การทำลายล้างสิ่งแวดล้อมระดับรุนแรงนี้กลายเป็น ‘อาชญากรรมระหว่างประเทศ’ และเป็นคดีที่สามารถนำไปยื่นฟ้องร้องและมีการพิพากษากันใน ICC เฉกเช่นเดียวกับคดีความสำคัญอื่นๆ เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบทางอาญา

 

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเขื่อนโนวา คาคอฟคานั้น อาจจะต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่โลกจะเข้าใจถึงขอบเขตความเสียหายอย่างเต็มรูปแบบ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและนักสิ่งแวดล้อมเชื่อว่าหายนะที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ จะเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความตระหนักให้ผู้คนได้รับรู้ถึงความน่ากลัวของสิ่งที่เรียกว่า Ecocide

 

อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าการผลักดันให้การทำลายสิ่งแวดล้อมระดับล้างผลาญเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศนั้นมีความพยายามมาหลายทศวรรษแล้ว แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ โลกได้เห็นการต่อสู้ครั้งใหม่ นำโดยหัวหอกคนสำคัญอย่าง พอลลี ฮิกกินส์ (Polly Higgins) ทนายความชาวอังกฤษที่เสียชีวิตไปเมื่อปี 2019 ซึ่งทำให้เราได้เห็นแรงกดดันเกี่ยวกับประเด็นนี้เพิ่มขึ้นมาอีกครั้ง

 

ในปัจจุบัน กฎหมายอาญาระหว่างประเทศจะโฟกัสไปที่อาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับ ‘ผู้คน’ เป็นหลัก แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่ากฎหมายดังกล่าวนั้นมีช่องโหว่ในแง่ของการจัดการกับภัยร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม

 

ด้วยเหตุนี้ ในปี 2021 คณะผู้เชี่ยวชาญจึงได้ร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ฉบับหนึ่ง ซึ่งหากมีการนำไปบังคับใช้เจริง ก็จะทำให้ Ecocide เป็นอาชญากรรมลำดับที่ 5 ที่ ICC สามารถดำเนินคดีได้ ไม่ต่างกับอาชญากรรมร้ายแรงอื่นๆ อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมแห่งการรุกราน โดยพวกเขาให้คำนิยาม Ecocide ว่าเป็น ‘การกระทำที่ป่าเถื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งผู้กระทำทราบดีว่ามีโอกาสสูงที่จะนำมาซึ่งความเสียหายอย่างรุนแรงในวงกว้าง และกินระยะเวลายาวนานต่อสิ่งแวดล้อมจากการกระทำเหล่านั้น’

 

ฟิลิปเป แซนด์ส (Philippe Sands) นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศมากว่า 30 ปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่ร่างกฎหมายดังกล่าว ระบุว่า “กฎหมายสามารถสร้างความแตกต่างได้ด้วยการเปลี่ยนจิตสำนึกของผู้คน” เพราะในขณะที่อาชญากรรมที่ ICC ดำเนินคดีมุ่งเป้าไปที่การคุ้มครองมนุษย์ แต่สิ่งนี้กลับสร้าง ‘ช่องว่าง’ ให้กับการก่ออาชญากรรมต่อสิ่งแวดล้อม

 

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะมุ่งดำเนินคดีกับทุกๆ การกระทำความผิดต่อสิ่งแวดล้อมแม้จะเล็กจะน้อย แต่การดำเนินการดังกล่าวมีจุดหมายในการ ‘กำหนดชื่อ’ และ ‘ทำให้การทำลายล้างสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงนับเป็นการก่ออาชญากรรม’

 

โจโจ เมห์ตา (Jojo Mehta) ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการบริหารองค์กร Stop Ecocide International ระบุว่า การดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมต้องทำควบคู่กันไปทั้งในเชิงปฏิบัติ เชิงกฎหมาย และเชิงสัญลักษณ์ด้วย เธอกล่าวว่า “เมื่อคุณใส่คำว่า Ecocide ไปอยู่ข้างกับคำว่า Genocide (การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์) มันเป็นการสะท้อนว่าจริงๆ แล้วเมื่อเราทำลายระบบนิเวศที่เราพึ่งพาพาอาศัยในการดำรงชีวิต มันเป็นเรื่องที่เลวร้าย ผิด อันตราย และร้ายแรงเท่าๆ กับการฆ่าคน”

 

นอกจากนี้เธอเชื่อว่าเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมาย ก็เท่ากับว่าเป็นการบังคับให้มีผู้ที่ต้องรับผิดชอบ ฉะนั้น การออกตัวบทกฎหมายจึงจะช่วยหยุดการก่ออาชญากรรมต่อสิ่งแวดล้อมได้ตั้งแต่ต้นวงจร พร้อมกดดันให้ผู้บริหารขององค์กรต่างๆ ตลอดจนผู้นำทางการเมืองต้องพิจารณาทบทวนถึงประเด็นความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมก่อนที่พวกเขาจะดำเนินนโยบายใดลงไป

 

“ประเด็นทั้งหมดของการรับผิดทางอาญาไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นการป้องกันมากกว่า” เมห์ตากล่าว “ข้อเท็จจริงในตอนนี้ก็คือ ไม่มีความผิดทางอาญาใดที่บอกว่าคุณไม่ควรทำลายล้างสิ่งแวดล้อมในระดับที่รุนแรงขนาดนี้ หมายความว่ามีการอนุญาตโดยปริยาย… คุณลองจินตนาการดูสิว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากอยู่ๆ เราก็อภัยโทษให้กับฆาตกร”

 

  • หนทางที่ต้องจับตาต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐภาคีสมาชิกของธรรมนูญกรุงโรมฯ รวมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 120 ประเทศ แต่ถึงเช่นนั้นก็มีหลายประเทศที่ยอมรับให้ Ecocide ถือเป็นการก่ออาชญากรรมตามกฎหมายภายในประเทศตนเอง เช่น ยูเครน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังมีบางประเทศที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะดำเนินการในลักษณะเดียวกัน เช่น บราซิล แคนาดา เคนยา มัลดีฟส์ และอังกฤษ

 

ในช่วงเวลาที่โลกพยายามผลักดันให้การทำลายล้างสิ่งแวดล้อมควรได้รับบทลงโทษทางอาญา ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า ในท้ายที่สุดแล้ว ICC จะยอมรับข้อกฎหมายนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ “คำถามในตอนนี้ไม่ใช่ Ecocide จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายอาญาระหว่างประเทศหรือไม่ แต่จะเป็น ‘เมื่อไร’ ต่างหาก” แซนด์สกล่าว

 

แต่ถึงเช่นนั้นเราก็ยังคงต้องจับตาหนทางข้างหน้ากันต่อไป เพราะการบัญญัติกฎหมายใหม่นี้ยังคงมีอุปสรรคขวางกั้นอยู่ตรงที่ว่า กฎหมายเกี่ยวกับ Ecocide ไม่ได้มีผลแค่เพียงช่วยจัดการกับเหตุความขัดแย้งเท่านั้น แต่ในยามสงบมันก็มีบทบาทด้วยเช่นกัน เช่น กฎหมายนี้อาจถูกนำไปใช้ลงดาบกับบริษัทใหญ่ๆ เช่น บริษัทน้ำมัน ที่ธุรกิจของพวกเขาทำลายสิ่งแวดล้อม จุดนี้ทำให้หลายประเทศกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวอาจจะเป็นสิ่งที่ไปจำกัดการทำธุรกิจได้ และด้วยความที่นิยามของขอบเขตคำว่า Ecocide ไม่ชัดเจน จึงทำให้ขาดเสียงสนับสนุนทางการเมืองเพื่อผลักดันให้วาระนี้สามารถไปถึงจุดหมายที่ตั้งเอาไว้

 

ฉะนั้นตอนนี้เราจึงทำได้แต่รอดูกันต่อไปว่า ในท้ายที่สุดแล้ว ความฝันที่โลกจะคืนความยุติธรรมให้กับธรรมชาตินั้นจะไปได้ไกลแค่ไหนกันแน่

 

ภาพ: Andriy Zhyhaylo / Obozrevatel / Global Images Ukraine via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X