×

DAVOS 2021: ECB ห่วงเศรษฐกิจโลกฟื้นช้า ย้ำ ‘ยูโรโซน’ กำลังสู้กับโควิด-19 หลังผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

โดย THE STANDARD TEAM
26.01.2021
  • LOADING...
ECB ห่วงเศรษฐกิจโลกฟื้นช้า ย้ำ ‘ยูโรโซน’ กำลังสู้กับโควิด-19 หลังผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) แสดงความเห็นระหว่างการเข้าร่วมเวทีการประชุม World Economic Forum จากทางไกลที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ว่า ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันอาจทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ไม่ควรที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกสะดุดหยุดชะงักไปแต่อย่างใด โดยเศรษฐกิจโลกกำลังจะข้ามสะพานไปสู่การฟื้นตัวแล้ว และหวังว่าการฟื้นตัวส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายในปี 2021 นี้

ทั้งนี้ในส่วนของภูมิภาคยุโรป โดยเฉพาะยูโรโซน ลาการ์ดประเมินว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ ที่ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม บวกกับความล่าช้าในการแจกจ่ายวัคซีน ส่งผลให้เศรษฐกิจยูโรโซนหดตัว 7% ในปี 2020

ขณะเดียวกันสถานการณ์หดตัวดังกล่าวของยูโรโซนจะต่อเนื่องมาในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทาง ECB ประเมินว่า อัตราการเติบโตของ GDP ยูโรโซนปีนี้จะอยู่ที่ 3.9% ก่อนปรับตัวลดลงเหลือ 2.1% ในปี 2022 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมีสิทธิ์เปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดและความรวดเร็วที่ประชากรในภูมิภาคจะได้รับวัคซีน

โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ECB เพิ่งตัดสินใจคงมาตรการกระตุ้นทางการเงิน โดยจะคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ ผ่านโครงการ Pandemic Emergency Purchase Program ซึ่งจะเข้าซื้อพันธบัตรกว่า 2.25 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐยาวไปจนถึงเดือนมีนาคม 2022

ความเห็นของลาการ์ดมีขึ้นในวันเดียวกันกับที่แผนกเศรษฐกิจและกิจการสังคมแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ออกรายงาน สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและการคาดการณ์ (World Economic Situation and Prospects report) ระบุว่า กลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วเผชิญหน้ากับสภาวะเศรษฐกิจหดตัว 5.6% ในปี 2020 และคาดว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ 4% ในปีนี้ ขณะที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาหดตัว 2.5% ในปีที่แล้ว และจะฟื้นตัวกลับมาเติบโตได้ 5.7% ในปี 2021

ขณะเดียวกันการเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยรวมในปีนี้จะฟื้นตัวขึ้นมาได้ 4.7% หลังจากที่หดตัว 4.3% ในปี 2020 ที่ผ่านมา เพราะวิกฤตการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่าสองเท่าของผลกระทบจากวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ในปี 2009

รายงานฉบับดังกล่าวยังเตือนว่า เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่เศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 20 ประเทศ หรือ G20 จะต้องผลักดันให้กลับมาฟื้นตัวเติบโตให้ได้ เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจโลกที่เหลือเท่านั้น แต่ยังทำให้เศรษฐกิจโลกมีความยืดหยุ่นทนทานมากขึ้นต่อสถานการณ์วิกฤตในอนาคต

นอกจากนี้รายงานยังพบว่า วิกฤตเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้มีประชาชนอีก 131 ล้านคนทั่วโลกตกอยู่ในภาวะยากจนในปี 2020

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising