ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมวันนี้ (2 กุมภาพันธ์) ตามการคาดการณ์ของตลาด การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) ของ ECB ปรับขึ้นสู่ระดับ 2.50% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 14 ปี
นอกจากนี้ ECB ยังส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดยแถลงการณ์ของ ECB มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่าจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่คงที่ต่อไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อคาดการณ์ไม่ให้ปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสามารถตีความได้ว่า ECB ตั้งใจจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุมรอบเดือนมีนาคมที่จะมาถึงนี้
แม้ว่าเงินเฟ้อในเดือนมกราคมของยูโรโซนจะปรับลดลงต่อเนื่องมาเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันแล้ว แต่ตัวเลขก็ยังคงค้างอยู่ในระดับสูงที่ 8.5% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่รวมการคำนวณราคาพลังงานและอาหารในเดือนมกราคมยังคงที่อยู่ที่ 5.2% ส่งผลให้สถานการณ์เงินเฟ้อของยูโรโซนยังต้องจับตามองกันต่อไป
ในวันเดียวกันธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้มีมติประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.0% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้เช่นกัน โดยการปรับขึ้นในครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 10 ของ BOE
อย่างไรก็ดี แถลงการณ์ของ BOE เริ่มส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยระบุว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มผ่านระดับสูงสุดแล้ว แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปก็ยังคงมีความเป็นไปได้ หากเงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวในระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้
ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา BOE ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 0.75% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 33 ปี ก่อนจะลดระดับความแรงลงมาเหลือ 0.50% ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยนักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่า BOE จะชะลอความแรงในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ 0.25% ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ความมั่งคั่งจากหุ้นของชาวอเมริกันหายไปกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์ จากที่เคยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวหลังวิกฤตโควิด
- ตามคาด ‘Fed’ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% พร้อมส่งสัญญาณปรับขึ้นต่อ หวังคุมเงินเฟ้อให้อยู่หมัด
- นักวิเคราะห์ชี้พิษนโยบาย Fed เป็นเหตุทำตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วน
อ้างอิง: