×

ECB ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ดันดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 3.25% สูงสุดในรอบ 22 ปี

16.06.2023
  • LOADING...
ecb ขึ้นดอกเบี้ย

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดี (15 มิถุนายน) โดยเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ นับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 8 ติดต่อกัน พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

 

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากขยับปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ระดับ 4.25% และอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์อยู่ที่ระดับ 4.00%

 

ECB ได้เริ่มวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2022 เพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยล่าสุดอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนอยู่ที่ระดับ 6.1% ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของ ECB ที่ระดับ 2%

 

การตัดสินใจดังกล่าวของ ECB เป็นการแสดงจุดยืนของธนาคารกลางอย่างชัดเจนว่าทาง ECB มีเป้าหมายเพื่อจัดการกับอัตราเงินเฟ้อที่ผลักดันต้นทุนราคาสินค้าทั่วภูมิภาคให้แพงขึ้น กระทบต่อกำลังการบริโภคของประเทศต่างๆ โดยความเคลื่อนไหวของ ECB ยังมีขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากที่ทางธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพิ่งจะตัดสินใจพักการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

 

คริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB กล่าวว่า ECB มีแนวโน้มจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ซึ่งรวมถึงในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 27 กรกฎาคม โดยยอมรับว่าการจัดการควบคุมเงินเฟ้ออาจต้องใช้ระยะเวลานานขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม แม้ว่าที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อจะลดลงจากระดับสูงสุดเป็นเลขสองหลักในช่วงปลายปีที่แล้วก็ตาม 

 

ลาการ์ดระบุระหว่างงานแถลงข่าวว่า ECB ยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้นจึงถือว่า ECB ยังทำงานไม่เสร็จ แถมยังมีงานที่ต้องจัดการให้เสร็จอีกมาก เพราะฉะนั้น  ECB จึงไม่คิดที่จะหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยชั่วคราวตามที่หลายฝ่ายคาดหวัง 

 

การตัดสินใจของ ECB ครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางบรรดาธนาคารกลางทั่วโลกที่กำลังพยายามต่อสู้กับการพุ่งขึ้นของราคา ซึ่งบีบให้ครัวเรือนและธุรกิจต้องมีค่าใช้จ่ายพื้นฐานสูงขึ้น เช่น ค่าอาหารและค่าเช่า แต่บางธนาคารกลาง เช่น Fed ก็เริ่มมีการตัดสินใจที่แตกต่างออกไปเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวจนกลายเป็นอีกปัญหาที่สหรัฐฯ ต้องเผชิญ กระนั้น Fed เองก็ส่งสัญญาณที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งภายในสิ้นปี 2023 เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ 

 

ในส่วนของภูมิภาคยุโรป ลาการ์ด ประธาน ECB ยอมรับว่า อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นกำลังค่อยๆ ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของภูมิภาค พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและการเติบโตนั้นมีความ ‘ไม่แน่นอนสูง’ เนื่องจากมีความเสี่ยง เช่น สงครามของรัสเซียในยูเครน และข้อตกลงการจ่ายเงินที่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อแย่ลง

 

ดังนั้นในมุมมองของ ECB การเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะยังคงอ่อนแอในระยะสั้น แต่จะแข็งแกร่งขึ้นในช่วงระยะยาว เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง และการหยุดชะงักของอุปทานเริ่มคลี่คลาย

 

ทั้งนี้ เป้าหมายของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีขึ้นเพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะไปเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมสินเชื่อรถยนต์ การจำนอง และบัตรเครดิต ลดความต้องการสินค้าที่ผลักดันราคาให้สูงขึ้น กระนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอลง และเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายประเทศในยุโรปค่อนข้างกังวล หลังจากที่เผชิญกับภาวะถดถอยทางเทคนิคสองไตรมาสติดต่อกัน 

 

อย่างไรก็ตาม ตลาดงานของยุโรปยังมีความแข็งแกร่งอยู่มาก โดยอัตราว่างงานต่ำที่สุดนับตั้งแต่สกุลเงินยูโรเปิดตัวในปี 1999 ที่ 6.5% และแทบไม่สอดคล้องกับภาวะถดถอยที่แท้จริง โดยคณะกรรมการ Euro Area Business Cycle Dating Committee ซึ่งใช้การจ้างงานและข้อมูลการเติบโตทางเศรษฐกิจในการพิจารณาว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้นเมื่อใด พบว่าไม่มีภาวะเศรษฐกิจถดถอยในการประเมินครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา 

 

คาร์สเทน เบรสกี หัวหน้าฝ่ายมหภาคระดับโลกของธนาคาร ING กล่าวว่า ECB กำลัง “รับความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจแย่ลง กระนั้น แม้จะมีข้อโต้แย้งที่ดีเกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ECB ก็ไม่อาจยอมถอดใจต่ออัตราเงินเฟ้อได้ โดยธนาคารกลางยุโรปต้องการทำให้แน่ใจว่าจัดการกับเงินเฟ้อได้อย่างอยู่หมัด ก่อนที่จะพิจารณาเปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆ ต่อไป”

 

ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) มาตรวัดเงินเฟ้อเริ่มปรับสูงขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด และสร้างปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน ขณะที่ ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติพุ่งสูงขึ้นเนื่องจากการคุกคามของรัสเซียต่อยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ซึ่งส่งผลให้ราคาอาหารและปุ๋ยพุ่งสูงขึ้น

 

แรงกดดันข้างต้นเริ่มผ่อนคลายลง แต่อัตราเงินเฟ้อที่ปะทุขึ้นในช่วงแรกสะท้อนให้เห็นในความต้องการค่าจ้างและราคาบริการที่สูงขึ้น แม้ว่าราคาพลังงานในยุโรปจะลดลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาก็ตาม ซึ่งทางลาการ์ดชี้ว่า แรงงานและค่าจ้างกำลังมีบทบาทสำคัญในฐานะตัวขับเคลื่อนเงินเฟ้อของยุโรป 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising