×

ประธาน ECB ย้ำความจำเป็นในการนำเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย เตือนโลกเข้าสู่ยุคเงินเฟ้อผันผวน

02.12.2022
  • LOADING...

ธนาคารกลางจากหลายประเทศส่งสัญญาณเตือนว่าเศรษฐกิจโลกอาจกำลังเข้าสู่ยุคแห่งความผันผวนของเงินเฟ้อ โดยปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ อาจทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงนานกว่าที่คาด

 

ในวันนี้ (2 ธันวาคม) ผู้ว่าการธนาคารกลางจากหลากหลายประเทศได้มารวมตัวกันในงาน BOT-BIS Conference ที่จัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) เพื่อพูดคุยถึงความท้าทายของธนาคารกลางภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


โดยในงานดังกล่าว Christine Lagarde ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้พูดถึงความจำเป็นที่ธนาคารกลางจะต้องส่งสัญญาณที่ชัดเจนให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจรับทราบว่า เงินเฟ้อจะถูกดึงกลับสู่กรอบเป้าหมาย เนื่องจากการปล่อยให้คาดการณ์เงินเฟ้อสูงขึ้นต่อไปเป็นสิ่งที่อันตราย และจะนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจากนโยบายการเงินที่ตึงตัว

 

“ภายใต้ความไม่แน่นอนสูงในปัจจุบัน สิ่งที่ธนาคารกลางต้องทำคือดำเนินนโยบายการเงินที่จะช่วยยึดเหนี่ยวคาดการณ์เงินเฟ้อให้กลับสู่หรืออยู่ในกรอบเป้าหมาย” Lagarde กล่าว

 

Lagarde ระบุว่า ธนาคารกลางจำเป็นต้องส่งสัญญาณให้ทุกภาคส่วนเข้าใจตรงกันว่า ในทุกฉากทัศน์ทางเศรษฐกิจเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมายระยะปานกลางในเวลาที่เหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งดีที่สุดที่ธนาคารกลางสามารถทำได้ภายใต้สภาวะในปัจจุบัน

 

ในวันที่ 14-15 ธันวาคมนี้ ECB จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเพื่อกำหนดทิศทางดอกเบี้ย ทำให้ตลาดต่างจับตาท่าทีของ ECB ว่าจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 0.75% ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 หรือจะลดความเร็วมาอยู่ที่ 0.50%

 

Agustín Carstens ผู้จัดการทั่วไป ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) กล่าวเสริมว่า การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อโลกซึ่งเป็นผลมาจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้นพร้อมๆ กันในหลายประเทศในระดับปัจจุบันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 

Philip Lowe ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลีย กล่าวว่า ความผันผวนของเงินเฟ้อจากปัญหาด้านอุปทานที่มีแนวโน้มจะลากยาวถือเป็นบททดสอบแรกที่ธนาคารกลางต่างๆ ต้องเผชิญในโลกยุคปัจจุบัน

 

“เงินเฟ้อที่ผันผวนจะทำให้ความน่าเชื่อถือของนโยบายการเงินมีความสำคัญมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ธนาคารต้องทำให้คนเชื่อและเข้าใจว่าเงินเฟ้อที่หลุดจากเป้าซึ่งอาจเกิดขึ้นบ่อยครั้งหลังจากนี้จะกลับเข้าสู่เป้าหมายได้ในที่สุด” Lowe กล่าว

 

Perry Warjiyo ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยดักไว้ล่วงหน้าเมื่อเห็นว่าเงินเฟ้อมีสัญญาณเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตมีส่วนสำคัญในการดึงคาดการณ์เงินเฟ้อในลดต่ำลงได้ โดยยกตัวอย่างในกรณีของอินโดนีเซียที่เงินเฟ้อในปัจจุบันปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5.5% จากที่เคยอยู่ที่ 7% เมื่อ 4 เดือนก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลาง

 

ด้าน Yi Gang ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน (PBOC) ซึ่งเข้าร่วมการเสวนาแบบออนไลน์ กล่าวถึงสถานการณ์เงินเฟ้อในจีนว่า ปัจจุบันเงินเฟ้อในจีนยังอยู่ที่ระดับ 2% ซึ่งต่ำกว่าในหลายประเทศ ซึ่งคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปีหน้าของจีนก็จะยังอยู่ในระดับปานกลาง

 

Yi ระบุอีกว่า สิ่งที่นโยบายการเงินของจีนให้ความสำคัญในตอนนี้คือการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมาตรการควบคุมโควิดทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 3 ขยายตัวได้ 3.9% ต่ำกว่าคาดการณ์ ซึ่งที่ผ่านมา PBOC ก็ได้ปรับนโยบายให้เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้นไปแล้ว เช่น การปรับลด RRR และลดดอกเบี้ยบางส่วนลง

 

ขณะที่ Raghuram Rajan อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย เตือนว่าความผันผวนของเงินเฟ้ออาจหมายถึงการกลับไปสู่ยุคเงินเฟ้อต่ำ เนื่องจากกระแสการเข้าสู่สังคมสูงวัยของหลายประเทศ การอพยพย้ายถิ่นฐานที่น้อยลง พื้นที่สำหรับนโยบายทางการคลังที่ลดลง และการลดลงของโลกาภิวัตน์ ซึ่งจะฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว 

 

“เราควรเตรียมพร้อมที่จะกลับไปสู่ยุคเงินเฟ้อต่ำ” Rajan กล่าว

 

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้พูดถึงความท้าทาย 3 ประการที่ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ประกอบด้วย ฉากหลังทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปรับเปลี่ยนกรอบแนวคิด หรือ Conceptual Frameworks ที่จำเป็นในการชี้นำนโยบาย และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ 

 

นอกจากนี้ ผู้ว่า ธปท. ยังแสดงความกังวลถึงปัญหาขาดแคลนอุปทานที่อาจจะไม่ได้เป็นภาวะชั่วคราว ซึ่งจะสร้างแรงกดดันให้กับเศรษฐกิจโลกในระยะปานกลาง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X