การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของ มาริโอ ดรากี ในฐานะประธาน ECB ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาด เมื่อ ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0%, อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.50% และคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25%
นอกจากนี้ ECB ยังส่งสัญญาณว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันต่อ หรือพร้อมปรับลดลงต่อเนื่อง จนกว่าจะมีสัญญาณการปรับตัวขึ้นของดัชนีราคา
ขณะเดียวกันทาง ECB ยังย้ำนโยบายฟื้นโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในรูปแบบการเข้าซื้อสินทรัพย์ในตลาดการเงิน (Asset Purchase Program) โดยจะเริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ในวงเงิน 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน (2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งทาง ECB จะดำเนินโครงการ QE เป็นระยะเวลานานเท่าที่มีความจำเป็น และจะยุติโครงการ QE ก่อนที่ ECB จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
โดยในการแถลงข่าวของดรากี เขายังย้ำเตือนว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของยุโรปที่ชะลอลงเป็นความเสี่ยงขาลงที่สำคัญ แม้ว่าอัตราค่าแรงและดัชนีราคาจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ตลาดแรงงานเริ่มแสดงความอ่อนแอลง ซึ่งเป็นสัญญาณของเศรษฐกิจถดถอย
การประชุม ECB รอบล่าสุดไม่มีการเปลี่ยนท่าทีของการดำเนินนโยบายทางการเงิน เนื่องจากเป็นรอบครบวาระของดรากี และจะส่งไม้ต่อให้กับ คริสติน ลาการ์ด อดีตกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ขึ้นนั่งเก้าอี้แม่ทัพยูโรโซนแทนเขา
โดยตลาดคาดการณ์ว่า ECB ภายใต้การกุมบังเหียนของลาการ์ดจะมีทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนคล้ายกับดรากี โดยในเดือนพฤศจิกายน ECB จะมีการใช้เครื่องมือผ่อนคลายทางการเงิน (QE) เพื่อกระตุ้นให้อัตราเงินเฟ้อขยับเข้าสู่ระดับเป้าหมายของธนาคารกลาง
ดังนั้นความเห็นของคณะกรรมการส่วนใหญ่จึงมีความคล้ายคลึงกับการประชุมรอบที่ผ่านมา จนกว่าจะมีข้อมูลใหม่เข้ามาใช้ในการตัดสินใจ โดยดัชนีทางเศรษฐกิจที่น่าจับตาในระยะต่อไป ซึ่งจะมีผลต่อการดำเนินนโยบายทางการเงินของ ECB ได้แก่
- การรายงานตัวเลขอัตราการขยายตัวของสหภาพยุโรป เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสหภาพยุโรป
- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง
- ภาคตลาดแรงงานของยุโรป โดยปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ตึงตัว
โดยภาพรวมทางบริษัทหลักทรัพย์ KTBST คาดว่าการลดดอกเบี้ยและการอัดฉีดของ ECB จะยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2020 สืบเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรปที่อาจต้องการยาขนานที่แรงกว่าเมื่อตอนที่เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากวิกฤตหนี้กรีซ
เราอาจจะได้เห็นความเคลื่อนไหวจาก ECB ที่ชัดเจนขึ้น หลังมีตัวบ่งชี้หรือปัจจัยเร่งจากข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญแล้ว ซึ่งต้องติดตามต่ออย่างใกล้ชิด ขณะที่สัปดาห์หน้า เป็นคิวของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่จะประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ซึ่ง Goldman Sachs คาดว่า Fed อาจตัดสินใจลดดอกเบี้ยอีกครั้งเพื่อพยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้อยู่ในทิศทางการขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพต่อไป
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า