×

ทั่วโลกจับตามอง ‘ธนาคารกลางยุโรป’ คาดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสยบเงินเฟ้อ

25.11.2022
  • LOADING...
ธนาคารกลางยุโรป

ความเคลื่อนไหวในรอบสัปดาห์นี้ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนและนักวิเคราะห์ทั่วโลกก็คือผลลัพธ์การประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ECB จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่สูงอย่างต่อเนื่องท่ามกลางสัญญาณที่หลากหลาย

 

Global Times รายงานว่า ขณะที่สหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง การตัดสินใจของ ECB อาจมีนัยสำคัญต่อราคาสินทรัพย์ทั่วโลก พร้อมย้ำว่าแม้จีนจะเผชิญความเสี่ยงภายนอกอยู่บ้าง แต่จีนก็อยู่ในสถานะที่ดีที่จะรับมือกับความเสี่ยงเหล่านั้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ทั้งนี้ ในสัญญาณล่าสุด Mário Centeno ผู้กำหนดนโยบายของ ECB กล่าวกับ Reuters ว่า ECB ควรชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนธันวาคม และส่งข้อความที่ชัดเจนว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% จุดนั้นไม่ใช่บรรทัดฐาน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะพุ่งแตะระดับสูงสุดในไตรมาสนี้

 

“เราใกล้จะถึงระดับที่เราพิจารณาแล้วว่าสอดคล้องกับเสถียรภาพของเงินเฟ้อในระยะกลาง ซึ่งหมายความว่าแนวคิดที่ว่าการปรับขึ้น 0.75% นั้นไม่สามารถเป็นบรรทัดฐาน (อย่างเป็นรูปธรรม) ได้” Centeno กล่าว

 

ขณะเดียวกัน รายงานอีกฉบับของ Reuters ซึ่งอ้างถึงผลการสำรวจของบรรดานักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่า ทาง ECB จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอีก 0.50 % ในการประชุมวันที่ 15 ธันวาคมนี้ 

 

ทั้งนี้ ทาง ECB ได้ดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.75% และนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ECB ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากรวมกันแล้ว 2.00% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ECB ในขณะนี้ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1.5% จากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 

 

โดยเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา ทาง ECB ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกส่วนใหญ่ที่มองว่าการขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% เป็นการตอบสนองที่เหมาะสมต่อทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่มีสัญญาณว่าจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะยาว 

 

Tian Yun นักเศรษฐศาสตร์จีน กล่าวต่อ Global Times ว่า ที่ผ่านมา การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ECB เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ก่อนตั้งข้อสังเกตว่า วิกฤตยูเครนได้เพิ่มอัตราเงินเฟ้อในประเทศต่างๆ ในยุโรป และอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำก่อนหน้านี้อาจนำไปสู่การไหลออกของเงินทุนอย่างรุนแรงจากยุโรป

 

จากการสำรวจของ Reuters ในเดือนพฤศจิกายน พบว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ECB ยังสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุมเดือนธันวาคม หลังจากเพิ่มขึ้น 0.75% สี่ครั้งติดต่อกัน 

 

หลายฝ่ายคาดว่า Fed น่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยของรัฐอีก 0.50% ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นมาอยู่ที่ 4.25-4.50% หลังการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินในเดือนธันวาคม หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ หนึ่งในตัวชี้วัด อัตราเงินเฟ้อ ลดลงต่ำกว่า 8% เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สร้างความคาดหวังของตลาดว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสัดส่วนที่น้อยลงในอนาคต

 

ด้าน Tian กล่าวว่า เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินยูโรเป็น 2 สกุลเงินซื้อขายและสำรองที่สำคัญที่สุดในโลก ดังนั้น สภาพคล่องที่ตึงตัวในเวลาเดียวกันจะส่งผลกระทบต่อราคาของสินทรัพย์ทั่วโลก กระนั้นในมุมมองของ Tian เห็นว่า ทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ECB ในอนาคตอาจส่งผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ในตลาดทุนโลกมากกว่าของ Fed เนื่องจาก ECB มีพื้นที่ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้มากกว่า Fed

 

ขณะที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งระบุว่า แม้อัตราที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ทั่วโลก รวมถึงราคาในประเทศจีน แต่ทุนสำรองเงินตราที่เพียงพอของจีนบวกกับการเกินดุลการค้าที่ดีจะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ 

 

ข้อมูลที่เผยแพร่โดย State Administration of Foreign Exchange (SAFE) เปิดเผยว่าทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนอยู่ที่ 3.052 ล้านล้านดอลลาร์ในเดือนตุลาคม เพิ่มขึ้น 2.35 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 0.77% จากเดือนกันยายน

 

ในขณะที่เศรษฐกิจโลกตกต่ำและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงมีอยู่ แถมหลายประเทศพัฒนาแล้วหลักๆ ยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้ SAFE ต้องเน้นย้ำเพื่อสร้างความมั่นใจว่าเศรษฐกิจของจีนมีความยืดหยุ่นและมีศักยภาพในการเติบโตสูง

 

นอกจากนี้ SAFE กล่าวว่า ยังมีช่องว่างอีกมากสำหรับกาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และปัจจัยพื้นฐานเชิงบวกในระยะยาวยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง พร้อมระบุว่าฝ่ายบริหารจะยังคงสนับสนุนเสถียรภาพโดยรวมของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของประเทศ

 

คาด Black Friday ปีนี้กลับมาคึกคัก 

ขณะเดียวกัน ข้ามฟากมายังสหรัฐฯ ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่การฉลองเทศกาลปลายปีอย่างวันขอบคุณพระเจ้ากลับมาคึกคักสดใสอีกครั้ง ซึ่งรวมถึงมหกรรมละลายทรัพย์ครั้งใหญ่อย่าง Black Friday ที่การจับจ่ายมีบรรยากาศสดใส วุ่นวาย และพลุกพล่านในแบบที่คุ้นเคย

 

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว AP ได้รวบรวมความเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญที่ระบุว่า แม้สถานการณ์โดยรวมจะกลับมาคึกคัก แต่เนื่องจากยังมีปัจจัยไม่แน่นอนอยู่อีกมาก โดยเฉพาะเงินเฟ้อ ดังนั้น รูปแบบการใช้จ่ายจึงถูกเกิดขึ้นภายใต้ความกังวล 

 

รายงานระบุว่า ตลาดงานในสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง การใช้จ่ายของผู้บริโภคมีความยืดหยุ่น และอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง แต่ราคาอาหาร ค่าเช่า ค่าน้ำมัน และค่าใช้จ่ายในครัวเรือนอื่นๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อผู้ซื้อ ดังนั้น หลายคนจึงลังเลที่จะใช้จ่ายเว้นแต่จะมีการลดราคาครั้งใหญ่ หรือเป็นสินค้าที่กำลังจะเลือกซื้อพอดีมากขึ้น และอีกหลายกรณียอมซื้อสินค้าราคาถูกจากร้านค้าที่ราคาย่อมเยาแม้ว่าคุณสมบัติจะด้อยกว่าที่ตั้งไว้ก็ตาม 

 

เหล่าขาช้อปทั้งหลายในอเมริกายังหันมาใช้เงินออมมากขึ้น โดยหันไปใช้บริการ ‘ซื้อเลย จ่ายทีหลัง’ (Buy Now, Pay Later) มากขึ้น เช่น Afterpay ที่อนุญาตให้ผู้ใช้ชำระค่าสินค้าเป็นงวด รวมถึงใช้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) กำลังขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ลดระดับความร้อนแรง ช่วยฉุดให้เงินเฟ้อลดลงตาม 

 

ภายใต้สภาวะการเงินที่ค่อนข้างจำกัดทำให้นักช้อปตัดสินใจได้ไม่ยากเย็นที่จะยึดปัจจัยด้านราคาเป็นบรรทัดฐาน กล่าวคือซื้อของในราคาที่ถูกที่สุด ขณะที่ชาวอเมริกันอีกหลายคนให้สัมภาษณ์ยอมรับว่ากำลังมองหาตัวช่วย อย่างการได้รับส่วนลด การโละล้างสต๊อก รวมถึงรอเวลาซื้อสินค้า คือจะไม่ซื้อจนกว่าทางร้านค้าจะลดระดับลงแตะระดับต่ำสุด

 

ทั้งนี้ แนวโน้มในปีนี้แตกต่างจากปีที่แล้วที่ผู้บริโภคเร่งซื้อก่อนมากักตุนไว้ เพราะเกรงว่าปัญหาคอขวดในระบบซัพพลายเชนจะทำให้มีการขาดแคลนสินค้า ส่งผลให้ร้านค้าไม่ต้องลดราคาสินค้าที่นำเข้ามา

 

ด้านบรรดาร้านค้าปลีกอย่าง Walmart และ Target หันไปใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถจองสินค้าล่วงหน้า ลดความแออัดของการไปช้อปที่ร้าน   

 

ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้ National Retail Federation ซึ่งเป็นกลุ่มการค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ออกมาคาดว่าการเติบโตของยอดขายช่วงวันหยุดจะชะลอตัวลงเหลือช่วง 6-8% จากการเติบโต 13.5% ในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเหล่านี้ซึ่งรวมถึงการใช้จ่ายออนไลน์จะไม่ได้รับการปรับตามอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้น การใช้จ่ายจริงอาจลดลงจากปีที่แล้ว

 

ด้าน Adobe Analytics คาดว่ายอดขายออนไลน์จะเพิ่มขึ้น 2.5% ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน – 31 ธันวาคม โดยจะชะลอตัวลงจาก 8.6% ของปีที่แล้ว เนื่องจากผู้ซื้อไม่แน่ใจเกี่ยวกับการกลับไปจับจ่ายใช้สอยที่หน้าร้านจริงๆ

 

บรรดานักวิเคราะห์มองว่าช่วงสุดสัปดาห์ Black Friday เป็นเวลา 5 วัน ซึ่งรวมถึง Cyber Monday ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรวัดความเต็มใจที่จะใช้จ่ายของนักช้อป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ ซึ่งช่วงเวลา 2 เดือนระหว่างวันขอบคุณพระเจ้าจนถึงวันคริสต์มาสคิดเป็นประมาณ 20% ของยอดขายของอุตสาหกรรมค้าปลีกตลอดทั้งปี 

 

ขณะเดียวกัน แม้ว่า Black Friday จะยังคงแข็งแกร่งในหมู่นักช้อปชาวอเมริกัน แต่ก็ลดระดับลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากร้านค้าเริ่มปิดหันมาปิดให้บริการในวันขอบคุณพระเจ้าและเปลี่ยนมาให้บริการทางออนไลน์แทน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายด้านกำลังคน ขณะที่ Amazon และผู้ค้าปลีกออนไลน์อื่นๆ ร้านค้าได้ลดสถานะความสำคัญของวัน Black Friday ด้วยการขยายระยะเวลาจัดโปรโมชัน Black Friday ตลอดทั้งเดือน ทำให้ผู้บริโภคมีเวลาซื้อ หรือซื้อสินค้าล่วงหน้า 

 

กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า Black Friday จะเป็นวันช้อปปิ้งที่คึกคักที่สุดอีกครั้งในปีนี้ จากข้อมูลของ Sensormatic ซึ่งติดตามการเข้าชมของลูกค้า พบว่า ผู้บริโภคกลับไปจับจ่ายที่ร้านค้าจริงเช่นกัน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับโควิดที่ผ่อนคลายลง ท่ามกลางร้านค้าที่กลับมาเปิดให้บริการมากขึ้น 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising