สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 9 ติดต่อกันในวันพฤหัสบดีนี้ (27 กรกฎาคม) พร้อมส่งสัญญาณเปิดกว้างต่อความเป็นไปได้ทุกรูปแบบเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงอย่างดื้อดึง ท่ามกลางความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณชะลออย่างชัดเจน จนทำให้หลายฝ่ายเริ่มไม่เห็นด้วยหาก ECB จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป
รายงานระบุว่า เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ECB ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องจนพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 22 ปีเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คือที่ 3.5% โดยการคาดการณ์ว่าจะขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมเดือนกรกฎาคม เป็นไปตามสัญญาณที่บอกไว้ก่อนหน้าว่าภาวะเงินเฟ้อที่ยังสูงอยู่ทำให้ต้องมีการพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปอีก 0.25% ในการประชุมครั้งต่อไป หรือก็คือเดือนกรกฎาคมนี้นั่นเอง
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นอกจากการประกาศการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ECB ยังยืนยันว่า จะยุติโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ลงเหลือมาจากยุควิกฤตเศรษฐกิจ พร้อมระบุว่าจะปรับขึ้นคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอีกครั้งด้วย
อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารกลางของ 20 ประเทศที่ใช้เงินยูโรมีแนวโน้มจะเลิกปฏิบัติในการส่งสัญญาณการเคลื่อนไหวครั้งต่อไป โดยให้คำมั่นสัญญาแทนว่าจะใช้แนวทาง ‘ขึ้นอยู่กับข้อมูล’ แทน ทำให้นักลงทุนต้องคาดเดากันเองว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนกันยายนหรือว่าเดือนกรกฎาคมนี้ จะถือเป็นจุดสิ้นสุดของความตึงเครียดของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ทำสถิติปรับขึ้นอย่างเร็วที่สุดเท่าที่เคยมีมาของ ECB
กระนั้น สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนที่พอจะกล่าวได้ในเวลานี้ก็คือ จุดสิ้นสุดของการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยกำลังใกล้เข้ามาอย่างรวดเร็ว โดยหลายฝ่ายคาดว่า ECB น่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเล็กน้อยอีกครั้งก่อนที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะหยุดลงตามที่พิจารณาไว้นานแล้ว
รายงานระบุว่า ปัญหาของ ECB ขณะนี้ คืออัตราเงินเฟ้อกำลังลดลงช้าเกินไปและอาจใช้เวลานาน หรือจนกว่าปี 2025 ที่อัตราเงินเฟ้อจะลดลงเหลือ 2% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ราคาพลังงานขยับขึ้นและแทรกซึมสู่เศรษฐกิจในวงกว้าง จนทำให้ราคาสินค้าและบริการขยับขึ้นตามจำนวนมาก
ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อโดยรวมตอนนี้อยู่ในระดับครึ่งหนึ่งของระดับเงินเฟ้อสูงสุดในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว แต่การขยับขึ้นของราคาสินค้าและบริการกลับอยู่ใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แถมมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอีก ทำให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่า ECB น่าจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป และจะหยุดก็ต่อเมื่อตัวเลขค่าจ้างในฤดูใบไม้ร่วงลดความร้อนแรง
Piet Haines Christiansen นักเศรษฐศาสตร์ Danske Bank กล่าวว่า ตัวบ่งชี้ตามช่วงเวลา อย่าง Indeed Wage Tracker ซึ่งติดตามค่าจ้างที่ระบุในประกาศรับสมัครงานได้แสดงให้เห็นการอ่อนตัวลงบางส่วนในช่วงปี 2023 แต่แรงกระตุ้นของตลาดแรงงานต่ออัตราเงินเฟ้อยังคงแข็งแกร่งเกินไปสำหรับมาตรการค่าจ้างแบบกว้างๆ ดังนั้น ECB อาจจะต้องคงความเข้มงวดของนโยบายการเงิน ซึ่งรวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป
ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับท่าทีของสมาชิกคณะกรรมการ ECB หลายคน ซึ่งรวมถึง Isabel Schnabel ที่ออกมากล่าวก่อนหน้านี้ แม้จะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมากเกินไป แต่ราคาที่ต้องจ่ายจากผลกระทบที่เกิดขึ้นยังมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าการที่ ECB ดำเนินการจัดการเงินเฟ้อไม่เพียงพอหรือน้อยเกินไป
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังมองเห็นโอกาสที่ ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวันนี้ (27 กรกฎาคม) เพิ่มขึ้น หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อวันพุธ (26 กรกฎาคม) ที่ผ่านมา พร้อมส่งสัญญาณพร้อมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ หากว่าเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างดื้อดึงต่อไป
อ้างอิง: