วันนี้ (20 ธันวาคม) จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายละเอียดความชัดเจนของโครงการ Easy e-Receipt ซึ่งเป็นมาตรการลดหย่อนภาษีที่มาแทนโครงการช้อปดีมีคืนก่อนหน้านี้ โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจถึง 7 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะกระตุ้น GDP ได้อีก 0.18% เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีมาตรการ ส่วนผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้คาดว่าจะอยู่ที่หลักพันล้านบาท
นอกจากนี้ จุลพันธ์ยังระบุว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่ร้านค้า, ทำให้ใบรับและใบกำกับภาษีมีความถูกต้องมากขึ้น, ลดภาระการจัดเก็บเอกสารและการแสดงรายการภาษีต่อกรมสรรพากร เพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษี โดยเฉพาะระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจัดเก็บภาษีในระยะยาว
จุลพันธ์ยังกล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบการเก็บภาษีอิเล็กทรอนิกส์กว่า 4,000 ราย และมีช่องทางจัดจำหน่าย (Outlets) ราว 1.16 แสนจุดทั่วประเทศ
เปิดรายละเอียด Easy e-Receipt
สำหรับโครงการ Easy e-Receipt กำหนดให้ผู้มีเงินได้ ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
โดยสามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือผู้ประกอบการทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท
สำหรับผู้ต้องการใช้สิทธิ์จะต้องได้รับใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Tax Invoice (กรณีบริษัทจด VAT) และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Receipt (กรณีบริษัทไม่จด VAT) ใบกำกับภาษีรูปแบบกระดาษไม่สามารถใช้ได้
สำหรับรายชื่อสินค้าและบริการที่ใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี ‘ไม่ได้’ ได้แก่ ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์ ยาสูบ ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ น้ำมันและก๊าซ ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นๆ จะเป็นไปตามที่กรมสรรพากรกำหนด