×

บลจ. อีสท์สปริง จับตา 2 ปมร้อน ภาษีทรัมป์-การเมือง ตัวแปรชี้ชะตาเศรษฐกิจ – ตลาดหุ้นไทยปี 2568

22.07.2025
  • LOADING...
บลจ. อีสท์สปริง ประเทศไทย

เศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้นในปี 2568 ต้องยอมรับว่ากำลังอยู่บนความเสี่ยงครั้งใหญ่ เพราะต้องรอคำตอบและความชัดเจนจากผลสรุปการเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ ว่าไทยจะถูกเรียกเก็บในอัตราเท่าไหร่ และยังต้องรอลุ้นคดีความทางการเมืองที่เป็นปัจจัยกำหนดชะตาของรัฐบาล ว่าจะได้ไปต่อหรือไม่

 

บดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ. อีสท์สปริง (ประเทศไทย) กล่าวในงานแถลงข่าวภาพรวมและกลยุทธ์ครึ่งปี 2568 ของ บลจ. อีสท์สปริง (ประเทศไทย) ระบุว่า ประเมินภาพของเศรษฐกิจในปี 2568 ขึ้นกับ 2 ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลกระทบคือ การเจรจาภาษีการค้ากับสหรัฐฯ หรือ Trade Deal และการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีของรัฐบาลไทย โดยได้ประเมินแบ่งออกเป็น 3 กรณี (Scenario) ดังนี้

 

  1. Best Case สหรัฐฯ เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากไทยอัตรา 10-18% ซึ่งประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่น้อยมาก เพราะปกติแล้วอัตราภาษีที่ต่ำเช่นนี้สหรัฐฯ จะให้เฉพาะกับประเทศที่ตนเองเกินดุลการค้า โดยกรณีนี้จะกระทบให้จีดีพีของไทยให้หายไป

 

หากได้อัตราภาษีที่ 18% คาดการส่งออกของไทยจะชะลอตัวน้อยมาก และความเชื่อมั่นนักลงทุนดีขึ้น

 

กรณีนี้หากภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัว และ Fund Flow ไหลกลับมาในตลาดหุ้นไทย คาดว่า SET Index มีโอกาสบวกขึ้นแตะ 1,200-1,250 จุด

 

  1. Base Case สหรัฐฯ คิดอัตราจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากไทย 18-20% GDP น่าจะเติบโตตามคาดการณ์ที่ 1.8% เบิกจ่ายงบประมาณได้ แม้ Fund Flow ยังไหลออก กรณีนี้คาดว่า SET Index จะอยู่ที่ 1,040 – 1,200 จุด

 

  1. Worst Case หากไทยโดนภาษีในอัตราสูงถึง 36% จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อศักยภาพการส่งออก ทำให้ไทยเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ซึ่งอาจทำให้ GDP เติบโตต่ำกว่า 1% และส่งผลให้การส่งออกซึ่งเป็นพระเอกของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ และงบประมาณล่าช้า กรณีนี้คาดว่า SET Index มีความเสี่ยงจะหลุดต่ำกว่าระดับ 1,000 จุด หรือแกว่งในช่วง 940 – 1,040 จุด

 

อย่างไรก็ดี โมเมนตัมปัจจุบันของตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมีแนวโน้มที่เป็นบวกปัจจุบัน หลังได้ปรับตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วเกือบ 100 จุด จากปัจจัยบวกความคาดหวังเรื่อง Trade Deal และการคาดการณ์เกี่ยวกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ โดยเฉพาะในระยะสั้น การปรับขึ้นนี้อาจเกิดจากความคาดหวังมากกว่าปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง

 

ขณะที่ในประเด็น Trade Deal ของแต่ละประเทศจะมีความซับซ้อนและยังยากที่จะคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากรายละเอียดของ Trade Deal สำหรับแต่ละประเทศในอาเซียนมีความแตกต่างกัน อีกทั้งข้อสังเกตที่สำคัญที่ต้องติดตาม คือ รูปแบบ Transshipment Tariff สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะใช้เงื่อนไขเกี่ยวกับภาษี Transshipment กับไทยอย่างแน่นอน แต่รูปแบบอาจต่างกันไปตามโมเดลของเวียดนามหรืออินโดนีเซีย

 

  • กรณีเวียดนามโดนภาษี 20% และหากเป็นสินค้า Transshipment จากจีนจะโดนเพิ่มอีก 20% เป็น 40%
  • กรณีอินโดนีเซียโดนภาษี 19% แต่หากเป็นสินค้า Transshipment จากจีน อัตราภาษีจะบวกเพิ่มจากอัตราภาษีที่จีนโดนภาษี Floating Rate เช่น จีนโดน 30% อินโดฯ จะโดน 30% บวกอีก 19% รวมเป็น 49%

 

โดยไทยมีการนำเข้าสินค้าจากจีนและส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ ประมาณ 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งถือว่าสูงพอสมควร หากไทยถูกใช้โมเดล Transshipment ที่อิงกับอัตราภาษีของจีนที่สูงมาก อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ผลิตและการส่งออกของไทย อย่างไรก็ตาม หากไทยได้รับอัตราภาษีที่ใกล้เคียงกับประเทศอื่น เช่น 18-20% ผลกระทบอาจน้อยกว่าเมื่อเทียบกับอัตราภาษีที่จีนต้องเผชิญ

 

ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องภาษีการค้า ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการแข่งขันระดับประเทศ บดินทร์ชี้ว่า หากประเทศไทยต้องเผชิญกับอัตราภาษีที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม การรักษาส่วนต่างกำไรของผู้ผลิตก็จะทำได้ยากขึ้น

 

“Cost จะกดได้มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐด้วย ว่าเขาจะมีการ Subsidize หรือมีมาตรการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศให้เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มกำไร หรือแม้กระทั่งเป็น Tax Incentive ให้กับ FDI เข้ามา” บดินทร์กล่าว

 

แม้ประเทศไทยจะมีข้อได้เปรียบด้าน Infrastructure ที่ดีกว่าเวียดนาม แต่เราอาจเสียเปรียบเรื่อง Labor Cost และความล่าช้าในการเร่งทำ FTA ซึ่งเวียดนามกำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อกระจายความเสี่ยงสินค้าส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากสหรัฐฯ

 

“ภาษีเป็นตัวหนึ่งที่อาจจะ Win หรือ Loss ในช่วงสั้นๆ แต่สุดท้ายมีมาตรการทางภาครัฐรวมถึงการลดความเสี่ยงในระยะยาว คือการกระจายตลาดไปภูมิภาคอื่น หรือประเทศอื่นนอกเหนือจากสหรัฐฯ ที่เราต้องเร่งทำ FTA ให้ทันเวียดนาม” บดินทร์กล่าว

 

หวั่นปัจจัยการเมืองไม่แน่นอน มีผลกระทบต่อตลาดหุ้น

 

นอกจากนี้ สถานการณ์ปัจจุบัน มีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองหลายเรื่อง เช่น คดีของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร และคดีของแพทองธาร ชินวัตร ซึ่งจะมีความชัดเจนภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้

 

รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณ หากสถานการณ์การเมืองไม่มีเหตุการณ์พลิกผันรุนแรงที่นำไปสู่การยุบสภาก่อนเดือนสิงหาคมนี้ การโหวตร่างงบประมาณ วาระ 2 กลางเดือนสิงหาคม และ สว. รับร่างปลายเดือนสิงหาคม ก็น่าจะผ่านไปได้ด้วยดี ซึ่งจะทำให้ประเด็นการเบิกจ่ายงบประมาณไม่เป็นที่น่ากังวล

 

ภาพ: บรรยากาศการแถลงข่าวภาพรวมและกลยุทธ์ครึ่งปี 2568 ของ บลจ. อีสท์สปริง (ประเทศไทย)

 

ชี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีจุดในการสร้างนวัตกรรม

 

ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีความแตกต่างจากตลาดหุ้นไทยอย่างชัดเจน โดยส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่อิงกับเทคโนโลยีและ Megatrend ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากนัก ตรงกันข้ามกับหุ้นไทยที่มักเป็นหุ้นวัฏจักร เช่น พลังงาน ธนาคาร และค้าปลีก ซึ่งอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจมากกว่า

 

บดินทร์ อธิบายต่อถึงว่าปรากฏการณ์ The Winner Take All ซึ่งหมายถึงบริษัทขนาดใหญ่ที่ยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่น Apple, Microsoft และ Nvidia บริษัทเหล่านี้เติบโตต่อเนื่องด้วย 2 ปัจจัยหลัก

 

  1. มี Innovation โดยบริษัทสหรัฐฯ มีขีดความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
  2. มีความสามารถในการสร้าง Cash Flow และ Resource ที่ดีทำให้สามารถลงทุนในการพัฒนาและขยายธุรกิจได้

 

นอกจากนี้ การที่บริษัทเหล่านี้ในสหรัฐฯ เน้นกลยุทธ์เข้าซื้อกิจการบริษัทเล็กๆ ที่มีศักยภาพสูง แม้จะจ่ายแพงกว่า Fair Value ถึง 2-3 เท่า ก็เป็นกลยุทธ์สำคัญ เพราะเป็นการได้มาซึ่ง Know-how และช่วยตัดคู่แข่ง, ได้ Resource และที่สำคัญคือได้ฐานลูกค้าเพิ่มของบริษัทนั้นๆ มาด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลที่หุ้นเทคขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ แพงแล้วยังสามารถแพงต่อไปได้

 

หุ้นสหรัฐฯ ทำ All Time High เฉลี่ยปีละ 20 ครั้ง

 

ข้อมูลสถิติระบุว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉลี่ยแล้วทำ All Time High ถึงปีละ 20 ครั้ง หากไม่นับรวมช่วงวิกฤตเศรษฐกิจอย่างปี 2000 และ 2008 ที่ตลาดปรับฐานลงรุนแรง แต่เมื่อตลาดฟื้นตัวก็จะทำ All Time High อย่างต่อเนื่อง

 

“ถ้าไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ หุ้นสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ทำ All Time High แล้วไปต่อได้” บดินทร์ย้ำ พร้อมเสริมว่า หากยังเชื่อมั่นในกระแส Megatrend อย่างเทคโนโลยีและ AI ที่เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของโลก หุ้นสหรัฐฯ ก็ยังคงมีศักยภาพไปต่อ

 

แนะนำวิธีการคัดเลือกหุ้นสหรัฐฯ เน้นหุ้น Large Cap ที่มีคุณภาพ

 

บดินทร์ให้ข้อควรระวังว่าการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ควรเน้นหุ้นที่เป็น Large Cap ที่มี Growth และ Quality เนื่องจากหุ้นเหล่านี้มีกระแสเงินสดที่ดี ทนทานต่อสภาวะเศรษฐกิจผันผวน และมีกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี ตัวอย่างเช่นหุ้น TSMC ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สะท้อนถึงภาพรวมของบริษัทเทคยักษ์ใหญ่อย่าง Nvidia, Microsoft และ Apple

 

คาด Fed ทยอยลดดอกเบี้ย หากตัวเลขว่างงานเพิ่มขึ้น

 

ด้านยิ่งยง เจียรวุฑฒิ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายจัดการลงทุน บลจ. อีสท์สปริง กล่าวว่าสำหรับแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลัง บลจ. อีสท์สปริงยังคงมุมมองเชิงบวกอย่างระมัดระวัง โดยคาดว่าในส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลง เหลือประมาณ 1.4% ในปี 2025 และ 1.6% ในปี 2026 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อน่าจะยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) คาดว่าจะเริ่มทยอยลดดอกเบี้ย เมื่อเห็นอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น

 

ในฝั่งของจีน จากการที่สหรัฐฯ มีการลดภาษีนำเข้าสินค้าจีนและมีการผ่อนผันระยะเวลาออกไป 90 วัน ทำให้อัตราภาษีเฉลี่ยลดลงเหลือราว 35% แต่ยังถือเป็นแรงกดดันต่อ GDP ประมาณ 1% ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม อีสท์สปริงยังคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตได้ราว 4.5% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายการคลังและมาตรการกระตุ้นเฉพาะด้าน และคาดว่าจะมีมาตรการเพิ่มเติมในช่วงต้นไตรมาส 4/2025 ขณะที่ราคาหุ้นที่ยังอยู่ในระดับน่าสนใจ ช่วยเปิดโอกาสสำหรับนักลงทุนสำหรับการเติบโตในระยะยาว

 

ด้านอินเดีย กลายเป็นผู้รับผลประโยชน์สูงสุดในภูมิภาคเอเชีย จากโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจอินเดียจะเติบโตที่ 6.4% ในปีนี้ และ 6.6% ในปีหน้า ทั้งนี้ หากสามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐฯ ได้เพิ่มเติม จะช่วยให้อินเดียเพิ่มเสน่ห์ในฐานะศูนย์กลางการผลิตของโลก แม้หุ้นอินเดียจะมีมูลค่าที่แพงกว่าตลาดหุ้นเอเชีย แต่ก็ยังคงมีเสถียรภาพจากนโยบายการเงินที่เอื้ออำนวย รวมถึงได้รับอานิสงฆ์จากการย้ายฐานการผลิต (Reshoring)

 

แนะ 5 ธีมรับมือการลงทุนในสภาพแวดล้อเปราะบาง

 

บดินทร์ กล่าวว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2025 นักลงทุนทั่วโลกยังเผชิญกับความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้า การเติบโตที่ชะลอตัวลงในเศรษฐกิจหลัก และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทิศทางดอกเบี้ยขาลง เราเชื่อว่ากลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลาย และสอดรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างพอร์ตการลงทุนที่แข็งแกร่งในระยะยาว โดยบลจ. อีสท์สปริง จึงแนะนำกรอบการลงทุน 5 ธีมหลัก เพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมมหภาคที่เปราะบาง ดังนี้

 

1. D = Diversify Globally: กองทุนเปิดอีสท์สปริง Global Core (ES-GCORE) กองทุนหลักเน้นการกระจายความเสี่ยงทั่วโลก โดยลงทุนในหุ้นคุณภาพสูงจากตลาดพัฒนาแล้ว ด้วยพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่ง ผสมผสานการใช้ Big Data และโมเดลเชิงปริมาณเพื่อหาโอกาสจากการลงและเสริมความเสถียรของพอร์ต

 

2. R = Resilient US Leaders: กองทุนเปิดอีสท์สปริง US Blue Chip Equity (ES-USBLUECHIP) กองทุนหลักเน้นลงทุนในบริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ที่มีความแข็งแกร่งทางการเงิน และศักยภาพการเติบโตระยะยาว ท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัว ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีความมั่นคงทางการเงินมากกว่าบริษัทขนาดเล็ก และสามารถรับมือกับวัฏจักรเศรษฐกิจได้ดีกว่า

 

3. I = Income from Innovation: กองทุนเปิดอีสท์สปริง Nasdaq Equity Premium Income (ES-NDQPIN) กองทุนหลักมีการใช้กลยุทธ์ Covered Call ซึ่งเป็นการขายออปชั่นบนหุ้น NASDAQ-100 เพื่อสร้างกระแสรายได้อย่างสม่ำเสมอ พร้อมรักษาการลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยี เหมาะสำหรับผู้ต้องการผลตอบแทนสม่ำเสมอในภาวะตลาดผันผวน

 

4. V = Value from Asia: กองทุนเปิดอีสท์สปริง Asian Low Volatility Equity (ES-ALOVE) กองทุนหลักเอเชียยังเป็นภูมิภาคที่น่าสนใจในระยะยาว ด้วยศักยภาพด้านการผลิต โครงสร้างประชากร และนวัตกรรม กองทุนนี้คัดเลือกหุ้นพื้นฐานดีที่มีความผันผวนต่ำจากทั่วเอเชีย เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ

 

5. E = Enhanced Bond Income: กองทุนเปิดอีสท์สปริง Global Income (ES-GINCOME) เมื่อธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงิน ตลาดตราสารหนี้กลับมาเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอีกครั้ง กองทุนหลักนี้ลงทุนเชิงรุกในพันธบัตรหลากหลายประเภททั่วโลก และหลายประเภทตราสารเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างรายได้และกระจายความเสี่ยงในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising