×

คปภ. ยืนยัน ทุกบริษัทประกันพร้อมชดเชยความเสียหายจากแผ่นดินไหว แนะทุกคนเช็กสิทธิ 6 ประกันพื้นฐาน

30.03.2025
  • LOADING...
เลขาธิการ คปภ. ชูฉัตร ประมูลผล แถลงข่าวมาตรการช่วยเหลือด้านประกันภัยแผ่นดินไหว พร้อมนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย

คปภ. ยืนยัน ทุกบริษัทประกันภัยพร้อมชดเชยความเสียหาย ด้านสมาคมประกันวินาศภัยคาดมูลค่าชดเชยรวมต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท ส่วนกรณีอาคารสำนักงาน สตง. ถล่มยังต้องรอการตรวจสอบ

 

วันนี้ (30 มีนาคม) จากงานแถลงข่าวมาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาด้านประกันภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ขนาดใหญ่ 8.4 ใกล้เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า ห่างจากอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประมาณ 320 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนสามารถรับรู้ได้ในประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพมหานคร จนส่งผลให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง อาทิ อาคารสำนักงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างถล่มลงมา รวมทั้งความเสียหายต่ออาคารหลายแห่ง โดยเฉพาะอาคารสูง

 

ชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายโดยภาพรวมได้ เนื่องจากหลายอาคารหลายแห่งยังไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ทั้งหมด แต่หลังจากนี้ความเสียหายจะค่อยๆ ปรากฏมากขึ้น 

 

อย่างไรก็ดี ดัชนีความมั่นคงของบริษัทประกันภัย (CAR Ratio) ของไทยยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงราว 300% ทำให้ทุกบริษัทพร้อมที่จะชดเชยกับความเสียหายที่เกิดขึ้น 

 

ทั้งนี้ ความเสียหายหลักจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ มาจากโครงการสำนักงาน สตง. ที่ถล่มลงมา วงเงินประมาณ 2,136 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการทำประกันในส่วนอื่นเพิ่มเติม เช่น 

 

ทั้งนี้ การชดเชยความเสียหายสำหรับบุคคลทั่วไปจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน หลังจากที่ตกลงค่าสินไหมกันได้แล้ว 

 

แนะทุกคนเช็กสิทธิประกัน

 

ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย คาดว่ามูลค่าการชดเชยความเสียหายของบริษัทประกันภัยต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้น่าจะต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าโควิดที่ราว 150,000 ล้านบาท 

 

ทุกบริษัทประกันภัยจะร่วมกันรับเรื่องราวและประสานงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทั้งนี้อยากให้ทุกคนตรวจสอบประกันภัยของตัวเองเพื่อใช้สิทธิตามกรมธรรม์ โดยประกันภัยพื้นฐาน ได้แก่ 

 

  1. ประกันภัยความเสี่ยงทรัพย์สิน (Industrial All Risks-IAR) สำหรับนิติบุคคล เช่น ความเสียหายต่อตัวอาคารส่วนกลาง ปัจจุบันทุนประกันส่วนนี้ทั่วประเทศรวมกันกว่า 200,000 ล้านบาท 

 

  1. ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย คุ้มครองจากภัยแผ่นดินไหว ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี ซึ่งในส่วนนี้สามารถซื้อประกันเพิ่มเติมได้

 

  1. ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก เช่น ความสูญเสียรายได้ ทางการค้า

 

  1. ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง สำหรับผู้ว่าจ้างหรือผู้รับเหมาก่อสร้าง ใน 3 ส่วนหลัก คือ 1) งานก่อสร้างและงานวิศวกรรมโยธา 2) การติดตั้งเครื่องจักร 3) ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก

 

  1. ประกันภัยรถยนต์ ประเภท 1 คุ้มครองอยู่แล้ว ส่วนประเภท 2 ประเภท 3 และประเภท 5 (2+ และ 3+) ขึ้นอยู่กับว่าได้ซื้อความคุ้มครองความเสียหายจากแผ่นดินไหวเพิ่มหรือไม่

 

  1. ประกันภัยอุบัติเหตุ สามารถใช้สิทธิได้หากได้รับการบาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 

ชดเชยตึก สตง. 2,000 ล้านบาท ยังต้องรอตรวจสอบ

 

ดร.สมพร กล่าวถึงกรณีการชดเชยความเสียหายอาคารสำนักงาน สตง. ถล่ม มีบริษัทที่รับประกันภัยทั้งหมด 4 แห่ง คือ ทิพยประกันภัย 40% กรุงเทพประกันภัย 25% อินทรประกันภัย 25% และวิริยะประกันภัย 10% โดยทั้ง 4 บริษัทรับประกันในส่วนของมูลค่าโครงการ 2,136 ล้านบาท 

 

นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังมีการทำประกันอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ประกันทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนหน้า (existing property) ทุนประกัน 5 ล้านบาท และประกันบุคคลภายนอก (third party) ทุนประกัน 100 ล้านบาท 

 

สำหรับประกันมูลค่าโครงการยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารและสาเหตุของความเสียหาย 

 

“ที่ผ่านมาบริษัทประกันมีการทำ stress test โดยตลอด และทุกบริษัทสามารถรองรับความเสียหายได้ นอกจากนี้ การรับประกันอาคารสำนักงาน สตง. ทุกบริษัทที่รับประกันทั้ง 4 แห่ง มีการทำประกันภัยต่อไปยังบริษัทรับประกันภัยต่อต่างประเทศ ซึ่งกรณีของทิพยประกันภัยส่งต่อไป 95% และเก็บไว้เพียง 5% เท่านั้น” 

 

ส่วนกรณีกระแสข่าวที่ว่าหากโครงการสำนักงาน สตง. ก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานจะส่งผลกระทบต่อการรับประกันนั้น ในทางทฤษฎี ดร.สมพร กล่าวว่า หากโครงการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน เช่น วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน บริษัทประกันภัยจะไม่คุ้มครอง แต่การจะบอกว่าไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งข้อยกเว้นต่างๆ บริษัทประกันภัยไม่สามารถวินิจฉัยได้เอง ต้องใช้การประเมินจากสภาวิชาชีพต่างๆ และหน่วยงานภาครัฐ 

 

บทเรียนของอุตสาหกรรมประกันภัย

 

ดร.สมพร กล่าวต่อว่า แม้ความเสียหายครั้งนี้จะไม่กระทบต่อความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมประกันภัย แต่เหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นบทเรียนต่ออุตสาหกรรมประกันภัย เพราะที่ผ่านมาการรับประกันมักจะอิงจากสถิติในอดีตเป็นหลัก อย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวเคยเกิดขึ้นตั้งแต่ 110 ปีก่อน ทำให้ยุคปัจจุบันไม่ได้ตระหนักถึงความเสี่ยงนี้อย่างจริงจัง

 

หลังจากนี้ ธุรกิจประกันภัยต้องปรับวิธีคิด เพราะความเสี่ยงที่ไม่เคยเกิดหรือไม่เคยคิดว่าจะเกิด ไม่ได้หมายความเสี่ยงไม่มีความเสี่ยง ทำให้ธุรกิจประกันภัยต้องคิดทบทวนใหม่หลายด้าน เช่น การบริหารความเสี่ยง การปรับค่าเบี้ยประกัน เป็นต้น 

 

“หลายโครงการเราให้ความคุ้มครองแผ่นดินไหวเต็ม 100% ถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จะเป็นความเสี่ยงมหาศาล และแต่ละบริษัทอาจซื้อบริษัทประกันภัยต่อมากขึ้น” ดร.สมพร กล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising