วันนี้ (1 เมษายน) จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ส่วนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว โดยระบุว่า ในส่วนของกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลางจะสำรองเงิน เพิ่มให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็น 200 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน จะมีมาตรการทางการเงินของรัฐออกมาช่วยเหลือเรื่องของการลดต้นลดดอกจำนวนมาก ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ก็ได้สั่งการให้ติดตามเรื่องอาคารที่ได้รับผลกระทบ และชีวิตประชาชน ที่มีการประกันไว้ ให้บริษัทประกันภัยที่อยู่ในกำกับทั้งหมด ไปเร่งตรวจสอบดำเนินการ อย่าให้ล่าช้า ซึ่งต้องยอมรับว่าเราไม่เคยเจอเหตุแผ่นดินไหว ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ดังนั้นการเยียวยา การช่วยเหลือ ต้องไปดูประวัติการเยียวยาในอดีตทั้งหมด เช่น กรณีเหตุสึนามิและน้ำท่วม โดยจะแบ่งเป็นสองประเภทคืออาคารบ้านพักและชีวิตประชาชน ซึ่งเรื่องนี้ก็จะให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
ส่วนการประกันภัยตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบแล้วพบว่าประกันภัยอยู่ 4 บริษัท ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง เราก็มีหน้าที่ในการกำกับเร่งรัด ให้กระบวนการเป็นไปอย่างรวดเร็ว
จุลพันธ์ยอมรับว่า กรณีนั้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะสั้น แต่ระยะกลางและระยะยาวยังไม่มีผลมากนัก ซึ่งจะมีในส่วนของความมั่นใจของประชาชน ที่จะตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ แต่ยังไม่พบผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญที่กระทบถึง GDP 3% ที่ตั้งไว้ แต่หากมีผลก็สามารถดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ งบประมาณที่มีอยู่ 150,000 ล้านบาท เชื่อว่าจะสามารถประคับประคอง และยืนยันว่ายังตั้งเป้า GDP อยู่ที่ 3% เหมือนเดิม