×

6 หน่วยงานร่วมแถลงข้อมูลเศรษฐกิจ-ระบบการเงินจากเหตุแผ่นดินไหว ระบุไม่กระทบภาคธุรกิจ ตลาดเงิน ตลาดทุนยังเดินหน้าทำงานได้ปกติ

01.04.2025
  • LOADING...

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทยเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 28 มีนาคม 2568 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้สาธารณชนมีความกังวลต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อภาคเศรษฐกิจและระบบทางการเงินของไทย ส่งผลให้ 6 หน่วยงานต้องออกมาแถลงร่วมกันให้ข้อมูล

 

ศ. ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า สาเหตุที่มีการตัดสินใจร่วมกันในการปิดการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และตลาดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในช่วงครึ่งวันช่วงภาคบ่ายของวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากมีการคำนึงความปลอดภัยของบุคลากร รวมถึงความไม่แน่นอนของข้อมูลข่าวสารที่อาจมีผลกระทบต่อการซื้อขาย โดยยืนยันว่าระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่มีผลกระทบยังสามารถทำได้ตามปกติ

 

สำหรับผลกระทบในด้านของตัวราคาหุ้นกับความเชื่อมั่น เป็นปัจจัยระยะสั้นที่ไม่สามารถคาดเดาได้ แต่ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลมีมุมมองว่าข้อมูลข่าวสารถือว่ามีความสำคัญมาก ดังนั้นจึงพยายามรวบรวมแยกแยะข้อเท็จจริงให้นักลงทุนได้รับทราบ อีกทั้งมีแผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (Business Continuity Plan: BCP) ในภาคของตลาดทุน

 

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความเสี่ยงที่ทุกตลาดหุ้นเผชิญอยู่ ตลาดทุนมีมาตรการที่ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการคลัง, ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงาน ก.ล.ต. มารองรับ อย่างเช่นมาตรการชะลอแรงขายกองทุน LTF ที่ได้มีการออกกองทุน ThaiESGX ที่คาดว่าจะเริ่มเปิดขายในวันที่ 1 พฤษภาคม รวมถึงจะช่วยดึงเม็ดเงินใหม่เข้ามาลงทุน 

 

ตลท. เตรียมทำแผนรับมือภัยพิบัติ

 

ด้าน อัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ภาพรวมปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยยังคงแข็งแกร่ง ภาคธุรกิจสามารถรับมือกับสถานการณ์และดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ไม่กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทจดทะเบียนไทย

 

ขณะที่ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมาตรการหยุดการซื้อขายชั่วคราว (Circuit Breaker) ที่สามารถรองรับดูแลการซื้อขาย โดยยังไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติม

 

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงการตรวจภายในบริหารความเสี่ยง เพื่อรองรับความเสี่ยงกรณีเกิดภัยพิบัติว่าจะมีการกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ในการสั่งปิดการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยด้วยเงื่อนไขอย่างไรบ้าง เทียบเคียงคล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม ที่มีเหตุแผ่นดินไหวในรอบประมาณ 100 ปีในประเทศไทย ส่งผลประชาชนต้องอพยพออกมาตามท้องถนนเป็นจำนวนมาก เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 2/68 นี้

 

ส.อ.ท. ชี้ ภาคอุตสาหกรรมเดินเครื่องผลิตได้ปกติ

 

ขณะที่ เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นไหวในเมียนมาถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีความร้ายแรง ซึ่งในภาคการผลิตของโรงงานในหลายอุตสาหกรรมจะมีระบบ Safety โดยหากเกิดแรงสั่นสะเทือนถึงระดับหนึ่งระบบเครื่องจักรจะหยุดการทำงานโดยอัตโนมัติ

 

อีกทั้งในกลุ่มขนาดกลางและขนาดใหญ่จะมีวิศวกรประจำโรงงานเข้าไปตรวจสอบระบบของเครื่องจักร, ระบบไฟฟ้า, ความปลอดภัย ของโรงงาน โดยหลังการตรวจสอบแล้วบางโรงงานสามารถกลับมาเริ่มผลิตได้ตั้งแต่หลังเวลา 17.00 น.ของวันที่ 28 มีนาคม

 

อีกทั้งปัจจุบันส่วนใหญ่สามารถกลับมาทำการผลิตได้ปกติแล้วตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา และกลับมาเป็นปกติตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโรงงานขนาดเล็ก ส.อ.ท. จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยตรวจสอบถาม เพื่อให้ความช่วยเหลือโดยขณะนี้ไม่พบปัญหา

 

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าก่อนหน้านี้มีประเด็นที่ ส.อ.ท. มีความกังวลในช่วงแรกในประเด็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่วางอยู่ใต้ดินเข้าสู่โรงงานขนาดใหญ่เมื่อตรวจสอบแล้วก็ไม่พบปัญหายังอยู่ในสภาวะปกติ

 

เกรียงไกรกล่าวต่อว่า อีกประเด็นที่มีความสำคัญคือ ระบบการขนส่งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ซึ่งมีความสำคัญในกระบวนการผลิตสินค้าก็สามารถดำเนินการได้เป็นปกติเช่นกัน รวมทั้งระบบขนส่งทางอากาศและทางรางก็ทำได้ปกติ

 

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นบทเรียนกับพวกเราว่าโอกาสในการเกิดแผ่นดินไหวก็มี ทำให้ภาคอุตสาหกรรมหรือก่อสร้างจำเป็นต้องคำนึง Factor ในความเสี่ยงเหล่านี้เข้าไปเพิ่มขึ้นในการทำธุรกิจเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับสบายใจมากขึ้นในโอกาสต่อไป”

 

ส่วนกรณีความเสียหายในเมียนมาจากการสำรวจพบว่ามีผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอกชนของไทยที่เข้าไปลงทุนไม่มาก เนื่องจากก่อนหน้านี้ที่เมียนมามีปัญหาภายในส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยมีการผลิตสินค้าที่น้อยอยู่แล้ว อีกทั้งส่วนใหญ่โรงงานของผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ไม่ในเขตเมืองมัณฑะเลย์ที่มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวทำให้มีผลกระทบที่ลดลง

 

สำหรับการผลิตเพื่อส่งออกของไทย รวมทั้งการค้าตามแนวชายแดนเมียนมายังเป็นไปตามปกติ อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะมีความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอุปโภคและบริโภคจำนวนมากจากฝั่งของไทย โดยเฉพาะหลังจากนี้คาดว่ามีโอกาสที่มีความต้องการสินค้าที่ใช้สำหรับการซ่อมแซมความเสียหายในกลุ่มอุปกรณ์วัสดุก่อสร้าง รวมทั้งปูนซีเมนต์จากไทยนำเข้าไปใช้ในเมียนมามากขึ้น

 

แบงก์ชาติคาด มีลูกหนี้แผ่นดินไหวกระทบน้อยกว่าช่วงโควิด

 

ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินในวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ไม่มีผลกระทบระบบโครงสร้างพื้นฐานในการชำระเงินและบริการที่ให้กับประชาชน แต่อาจมีความติดขัดบ้างทางกายภาพในการเข้าไปทำธุรกรรมที่สาขาของธนาคาร

 

อย่างไรก็ดี ธปท. ได้มีการยืดหยุ่นขยายเวลาในการทำธุรกรรมระบบการชำระเงิน (Settlements) ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวก อีกทั้งได้ติดตามความพร้อมของธนาคารพาณิชย์ในการให้บริการประชาชนพบว่ายังสามารถใช้งานได้เป็นปกติ ทั้งบริการโอนเงินในประเทศผ่านระบบบาทเนต (BAHTNET), พร้อมเพย์ (PromptPay), Mobile Banking  

 

อีกทั้งสาขาของธนาคารพาณิชย์สามารถกลับมาเปิดให้บริการตามปกติในวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาพรวมของระบบการชำระเงินของสถาบันปัจจุบันกลับมาใช้งานได้เป็นปกติ ขณะที่การเบิกจ่ายของภาครัฐผ่านธุรกรรมการเคลื่อนไหวของบัญชีเงินคงคลังก็ยังเป็นปกติ



“เหตุการณ์นี้เป็น Stress Test ของภาคสถาบันการเงินไทยซึ่งเราก็ดีใจมากที่เราผ่านมาได้ เพราะประชาชนยังสามารถใช้งานระบบชำระเงินได้” ดร.รุ่งกล่าว

 

สำหรับผลกระทบต่อระบบเสถียรภาพการเงินของไทยคงต้องรอติดตามข้อมูลอีกครั้ง แต่ประเมินว่าจะมีลูกหนี้ที่มีผลกระทบจากกรณีแผ่นดินไหวจำนวนไม่มากและน่าจะเป็นช็อกในระยะสั้น เมื่อเปรียบเทียบกับผลกระทบจากเหตุการณ์แพร่ระบาดของโควิดที่มีผลกระทบในวงกว้างและยาวนาน

 

นอกจากนี้ ธปท. ยังได้กำชับธนาคารพาณิชย์ให้มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ถูกกระทบ ซึ่งปัจจุบันทมีเกณฑ์รองรับในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารในกรณีที่เกิดภัยพิบัติสามารถให้ธนาคารไทยพาณิชย์ให้ความช่วยเหลือลูกค้าได้ทั้งมาตรการลดค่างวดขั้นต่ำบัตรเครดิต,ให้วงเงินกู้ฉุกเฉิน และการปรับโครงสร้างหนี้

 

คปภ. ย้ำ ภาคประกันภัยแข็งแกร่ง เงินกองทุนฯ สูงกว่า 3 เท่าจาก กม. กำหนด

 

ชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. จะดูแลการเบิกจ่ายสินไหมให้รวดเร็วและเป็นธรรมซึ่งในกรมธรรม์จะมีการคุ้มครองภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวอยู่แล้ว และได้จัดตั้งศูนย์เพื่อช่วยเหลือด้านการประกันภัยเชิงรุก ประชาชนในส่วนของความเสียหายจากการถล่มของอาคาร ทราบว่าบริษัทประกันภัยต่างๆ ได้มีการประกันภัยต่อ (Reinsure) ออกไปเป็นส่วนใหญ่กับบริษัทประกันภัยต่อต่างประเทศ

 

โดยปัจจุบันภาพรวมอุตสาหกรรมบริษัทประกันวินาศภัยของไทยของไทยมีอัตราส่วนเงินกองทุนที่ต้องดำรงไว้ปัจจุบันเฉลี่ยมากกว่าอยู่ที่ประมาณ 3 เท่าของที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้นภาพรวมของจึงมีความแข็งแกร่งอยู่ในระดับที่มีความมั่นคงสูง มีสภาพที่เพียงพอรองรับเศรษฐกิจของประเทศได้

 

สำหรับจากกรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างได้พังถล่มลงมาจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีทุนประกันทั้งสิ้น 2,136 ล้านบาท โดยได้ทำประกันกับ 4 บริษัทนั้นได้มีการทำประกันภัยต่อกับบริษัทต่างประเทศทั้งสิ้น โดยการจ่ายค่าสินไหมจะมีการจ่ายตามที่เกิดขึ้นจริงตามที่สร้างเสร็จจริง ดังนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่กระทบทางการเงินต่อทั้ง 4 บริษัทแต่อย่างใด นอกจากนี้ คปภ. กำลังติดตามผู้สูญหายในซากอาคารดังกล่าว ได้ขอให้ผู้รับเหมาส่งรายชื่อคนงานที่ทำประกันให้กับ คปภ. เพื่อให้ติดต่อบริษัทประกันภัยช่วยเหลือเรื่องค่ารักษาพยาบาลและความคุ้มครอง

 

นายกสภาวิศวกรเผย มีอาคาร 2 แห่งมีความเสี่ยงสีแดง

 

ผศ. ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าระบบโครงสร้างพื้นฐานของอาคารที่ร้องขอให้ไปตรวจสอบ ทั้งการลงพื้นที่กับดูจากภาพถ่ายทั้งหมด 13,000 แห่ง ตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว 10,000 แห่ง เหลือ 2,000 กว่าแห่งกำลังเร่งตรวจสอบ โดยพบว่ามีเพียง 2 แห่งที่มีความเสี่ยงสีแดง

 

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าระบบโครงสร้างพื้นฐานของอาคารที่ร้องขอให้ไปตรวจสอบไม่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวอย่างมีนัยสำคัญ อาคารต่างๆ ได้มีการออกแบบตามมาตรฐานวิศวกรรม ในปัจจุบันสามารถรองรับแผ่นดินไหวได้ ทั้งนี้ ประเมินจากโครงสร้างหลักของอาคารไม่ได้รับความเสียหาย การเข้าใช้ประโยชน์ในอาคารสามารถทำได้กับอาคารที่ได้รับการตรวจและประเมินผลเป็นสีเขียว ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่าอาคารได้รับการประเมินเป็นสีเขียวจำนวนมาก

 

จากการสำรวจภาคการผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในครั้งนี้ โครงสร้างพื้นฐานสำคัญต่างๆ ในการผลิตยังเปิดใช้งานได้ตามปกติ 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising