ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ให้ไม่เสียความสามารถในการแข่งขันและไม่ตกขบวนห่วงโซ่การผลิต
จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ธนาคารกสิกรไทยจัดงาน EARTH JUMP 2024: The Edge of Action ในรูปแบบ Carbon Neutral Event เพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจให้ทันโลก ร่วมผลักดันประเทศไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนร่วมกัน
ทำไมประเด็นนี้จึงสำคัญ? เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาเปิดงาน ถึงความสำคัญและความจำเป็นของพลังงานสะอาด โดยยกตัวอย่างประเทศต่างๆ ที่ใช้พลังงานสะอาดว่ามีความเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปมากน้อยแค่ไหน และไทยจะต้องก้าวเข้าสู่เป้าหมายนี้อย่างมั่นคง
นอกจากนี้ ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย มองว่า นอกเหนือจากนโยบายรัฐ และการดำเนินกิจการภายใต้กติกากลางเรื่องภาษี การเงิน การลงทุน อีกสิ่งสำคัญคือการร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่ลงมือทำไปแล้ว สร้างแนวคิดและแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้กับผู้คนและผู้ประกอบการจำนวนมากที่มีความสนใจทำธุรกิจควบคู่กับการรักษ์โลก
THE STANDARD ได้มีส่วนร่วมในเวทีใหญ่ Vision to Action ร่วมเปิดวิสัยทัศน์ แบ่งปันประสบการณ์ เจาะลึกทุกองค์ประกอบกับหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ เพื่อวางกลยุทธ์และแนวทางการปรับตัวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
NDC Target & A Way to Win: อุปสรรคและความท้าทาย เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายในเวทีโลก
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แบ่งปันข้อมูลว่า ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวหลายอย่าง ทั้งเรื่องของ Digital Disruption ภูมิรัฐศาสตร์ และกติกาใหม่จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ไม่ได้มองแค่เรื่องการผลิตตามออร์เดอร์ คุณภาพ กำไร เป็นหลักอย่างเดียว แต่ต้องทำคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ต้องรู้ว่ากระบวนการผลิตสินค้าแต่ละชิ้นสร้างคาร์บอนเท่าไร ซึ่งสภาอุตสาหกรรมฯ ก็ได้ก่อตั้งสถาบันเพื่อดูแลและให้ความรู้เรื่องนี้โดยเฉพาะ
มุมมองของผู้ประกอบการ SMEs เป็นอย่างไร? ยุทธนา เจียมตระการ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและสิ่งแวดล้อม หอการค้าไทย ให้ข้อมูลว่า ตอนนี้มี SMEs กว่า 140,000 รายเป็นสมาชิกหอการค้าไทย ซึ่งต้องปรับตัวรับความท้าทายหลายอย่าง ทั้งข้อจำกัดด้านบุคลากร ทรัพยากร เทคโนโลยี การคำนวณคาร์บอนเครดิต หรือการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม ที่ส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนต่ำ ดังนั้นจึงต้องได้รับคำแนะนำ ทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดต่างๆ ให้เหมาะสมกับขนาดธุรกิจ สามารถแข่งขันกับตัวเอง สภาพเศรษฐกิจ และคู่แข่งในตลาด ได้อย่างมั่นคง
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แบ่งปันประสบการณ์ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนที่ทำมาต่อเนื่องหลายปีว่า ปตท. มอง 3 สิ่งหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่จะต้องเดินไปพร้อมกันทั้งหมด นอกจากนี้ยังวางเป้าหมายไว้เร็วกว่าคนอื่น ขณะเดียวกันตัวเองก็จะต้องเติบโตในระดับโลกตามที่ตั้งเป้าไว้ให้ได้
ทางด้านของภาคธนาคาร พิพิธ เอนกนิธิ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย แสดงความคิดเห็นว่า ด้วยบริบททางสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ทำให้บทบาทการทำงานของธนาคารเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากหลายสิบปีก่อนจะเน้นความสำคัญเรื่องความมั่งคั่งทางการเงินมากกว่าความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม แต่ยุคนี้วิธีคิดเปลี่ยน ธนาคารจึงต้องเริ่มสนับสนุนทางการเงินด้าน Green Finance มากขึ้น
Carbon Tax – The Critical Path for Thailand Decarbonization: รับมือ Carbon Tax เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตลาดไทยและโลก
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) วิเคราะห์ว่า ไทยควรเริ่มมองการออกกฎหมายภาษีคาร์บอนอย่างจริงจัง ทั้งการตั้งภาษีคาร์บอนสำหรับสินค้าส่งออกบางประเภท รวมถึงการเก็บภาษีคาร์บอนในประเทศ และได้ยกตัวอย่างประเทศต่างๆ บนโลกว่ามีการเก็บภาษีและ ETS ในอัตราเท่าใดบ้าง เพื่อทำให้การจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนสามารถเกิดขึ้นจริงในไทย
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุว่า เห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องภาษีของ TDRI และได้เตรียมการเรื่องนี้เอาไว้แล้ว ตอนนี้ไทยมีระบบคาร์บอนเครดิตแบบภาคสมัครใจ แต่มาตรการที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการกำหนดสิทธิ์และปริมาณในการปล่อยคาร์บอน ที่ใช้เวลาทำนานแต่ได้ผลดี ถ้าอยากให้ไทยสะอาดขึ้น ก็ต้องกำหนดกลไกราคา แก้กฎกระทรวง ระยะแรกกำหนดอัตราภาษีชัดเจนแบบไม่กระทบประชาชน ระยะสองขยายสโคป และระยะสามค่อยปรับขึ้นราคา ที่จะใช้เวลาหลายสิบปี
ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก แสดงความคิดเห็นในมุมมองผู้ประกอบการว่า หลายองค์กรทราบดีถึงสถานการณ์โลกร้อน ไม่ว่าจะช้าหรือเร็วภาษีคาร์บอนจะต้องเกิดขึ้นในไทย ส่งผลให้ผู้ประกอบการเผชิญกับราคาต้นทุนสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายมากขึ้น แต่ละองค์กรต้องวางแผน มองหาทางเลือกใหม่ๆ ต่อการบริหารจัดการต้นทุนและกระบวนการทำงาน ในขณะเดียวกันไทยก็ไม่สามารถดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมเพียงตัวคนเดียวได้ จึงจำเป็นต้องร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับภูมิภาคอื่น
ดร.ชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารความยั่งยืน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ถ้ารัฐมีนโยบายชัดเจนในการจะเดินไปถึงจุดมุ่งหมายในปี 2030 ผู้ประกอบการก็จะเดินง่ายขึ้น เน้นการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งผลต่อผู้บริโภคในตลาดนั้นๆ และจะต้องก้าวออกไปข้างนอก เชื่อมโยงกับผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน
Reforming Thai Electricity Towards Free Power Market: ซื้อขายไฟฟ้าเสรี มีโอกาสเป็นจริงหรือไม่?
เวที ‘ซื้อขายไฟฟ้าเสรี มีโอกาสเป็นจริงหรือไม่?’ เปิดประเด็นน่าสนใจว่า ไทยจะมีพลังงานพอใช้ในราคาที่เหมาะสม และเป็นพลังงานสะอาดได้เมื่อไร เราจะใช้พลังงานดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ และจะก้าวไปสู่จุดหมายด้วยวิธีไหน ผ่านการแสดงความคิดเห็นเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) มองว่า สิ่งที่ต้องทำในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อคือการทำให้คนจำนวนมากตระหนักถึงสิ่งเดียวกัน เพื่อจะได้ขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ไปพร้อมกันได้อย่างราบรื่น ดังนั้นการวางนโยบายทั้งระดับประเทศไปจนถึงระดับองค์กรคือหัวใจสำคัญ เพื่อให้ไทยมีไฟจากพลังงานสะอาด ราคาถูก และดึงดูดนักลงทุน เกิดขึ้นจริงในไทย
ทางด้านของ นพเดช กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) จะเริ่มตั้งแต่การตั้งโจทย์ว่าต้องการอะไร จะปรับตัวอย่างไร แล้วถอดบทเรียนเรื่องราคาจากญี่ปุ่นและเยอรมนี เพื่อดูว่าไทยจะมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบเรื่องราคาซื้อขายอย่างไร ก่อนร่วมมือกับนักวิชาการหลายหน่วยงานเพื่อทำข้อเสนอยื่นต่อรัฐบาล เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น
พิพิธกล่าวย้ำอีกครั้งถึงความสำคัญของการริเริ่มลงมือทำ ในปาฐกถาปิดท้ายของงาน EARTH JUMP 2024 ว่า วัตถุประสงค์แรกของการจัดงานนี้คืออยากสร้างแรงบันดาลใจ สร้างแรงกระเพื่อม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับพลวัตโลก อยากให้ทุกคนกลายเป็นผู้ชนะในเกม Low Carbon Economy
และนอกจากการฟังเวทีทั้งหมด เมื่อเดินไปยังบูธต่างๆ ที่อยู่ในงาน ก็พบว่าหลายคนเริ่มคิดว่าหลังจากนี้จะเริ่มต้นอย่างไร แม้การติดกระดุมเม็ดแรกอาจจะยาก แต่ถ้าเริ่มแล้ว เม็ดต่อๆ ไปจะง่ายขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งทุกภาคส่วนจะต้องลงมือทำอย่างเป็นระบบ ทำด้วยความเร็ว และร่วมมือกัน เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับไทย