×

ชมงานที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของหอศิลปฯ Early Years Project #4 Praxis Makes Perfect

11.05.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • โครงการ ‘Early Years Project’ ที่จัดขึ้นเพื่อเฟ้นหา บ่มเพาะ และสร้างเครือข่ายให้กับศิลปินรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาฝีมือและปูทางสู่อาชีพการเป็นศิลปินต่อไป โครงการนี้ยังเป็นหนึ่งในงานใหญ่ที่สุดแห่งปีของหอศิลปฯ และจัดติดต่อกันเป็นปีที่ 4
  • ชมผลงานและแนวคิดเบื้องหลังของศิลปินที่คัดเลือกมาทั้ง 8 คน ที่จัดแสดง ณ ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
  • ‘Part’ ซึ่งเกิดแนวคิดจากการจากไปของคุณป้าของเธอ ที่ทำให้นัทธมนตั้งคำถาม และทราบถึงเรื่องราวของเหยื่อคนถูกอุ้มหายอันเกิดจากบทบาททางการเมืองหรือสังคม ทำให้เธอถ่ายทอดความเป็นตัวตน บวกกับความทรงจำที่เธอมองว่า ถูกฉกฉวยไปอย่างไร้ความสมยอม
  • ‘Find Me a House, 2019’ เรื่องราวของการเป็นคนไทย-จีนรุ่นที่ 3 ที่ไม่คุ้นเคยกับรากเหง้า และสิ่งเดียวที่สามารถค้นหาความเป็นตัวตนนี้ได้ที่เธอค้นพบก็คือ การดูหนังจีน กอปรกับพูดคุยกับอาม่า ถือเป็นการออกเดินทางสำรวจความทรงจำของอาม่าที่ฟังมาจากรุ่นบรรพบุรุษรุ่นก่อนหน้า

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเพิ่งเปิดตัวโครงการ ‘Early Years Project’ ที่จัดขึ้นเพื่อเฟ้นหา บ่มเพาะ และสร้างเครือข่ายให้กับศิลปินรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาฝีมือและปูทางสู่อาชีพการเป็นศิลปินต่อไป โครงการนี้ยังเป็นหนึ่งในงานใหญ่ที่สุดแห่งปีของหอศิลปฯ และจัดติดต่อกัน 4 ปีแล้ว

 

 

งานนี้คืออะไร

หลังเปิดรับและคัดเลือกผลงานของผู้ที่สนใจ ไม่ว่าจะศิลปะแขนงใดก็ตามที่สมัครเข้ามาตามเกณฑ์ที่กำหนด ทางคณะกรรมการจะคัดจนเหลือเพียง 8 ศิลปินเข้าร่วมโครงการ ซึ่งทางหอศิลปฯ จะดำเนินการคัดเลือกจนเหลือ 1 คนสุดท้ายที่จะได้รับทุนสนับสนุนการเดินทางของศิลปิน (Mobility Funding) เพื่อไปดูงานศิลปะในประเทศต่างๆ และทุนในการเป็นศิลปินพำนัก (Residency Funding) สำหรับจัดแสดงงานภายในหอศิลปฯ ด้วย

 

 

 

ธีม Praxis Makes Perfect ของปีนี้

และในที่สุดปีนี้ก็เปิดตัว 8 ศิลปินที่คัดมาแล้ว พร้อมกับการเดินทางในเฟสแรก โดยปีที่ 4 นี้มาพร้อมกับหัวข้อ ‘Praxis Makes Perfect’ หรือ ‘ความสำเร็จเกิดจากการฝึกฝน’ อันเป็นคติที่คนที่เริ่มต้นทำงานมักทราบกันดี พร้อมกับความหวังว่า ยิ่งฝึกจะยิ่งดีขึ้น และเข้าใกล้ความสมบูรณ์แบบมากขึ้น แต่อาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะถ้าเราตีความสมบูรณ์แบบในอีกมุมมองหนึ่งว่า ไม่ใช่ไฟนอลเดสติเนชันที่จบตรงนั้น แต่เป็นเพียงการขยับเพื่อไปสู่อีกที่หนึ่งเท่านั้นล่ะ? ศิลปินทั้งแปดจึงออกแบบผลงานในวิถีแบบ ‘แพรกซิส’ ลองปฏิบัติและเรียนรู้ว่า พวกเขาได้อะไรจากการทำงานครั้งนี้ออกมา

 

 

มีอะไรน่าชมบ้าง

ผลงานเฟสแรกของศิลปินทั้ง 8 บอกเล่าเรื่องราวที่แตกต่างกันไป ซึ่งแต่ละเดือนที่คุณได้เห็นอาจพบว่า เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่เหมือนกัน ซึ่งจะต่อยอดไปจนสำเร็จ อาทิ กรธนัท พิพัฒน์ ชายหนุ่มจากกรุงเทพฯ ที่นำเสนอผลงาน ‘Capital Memorial’ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของเมืองที่พัฒนาขึ้น โดยเขาหยิบนำประเด็นต่างๆ อาทิ เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง มาพูดถึง ผ่านการเฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯ ซึ่งเขาตั้งใจถ่ายทอดแนวคิดผ่านภาพถ่ายที่เป็นเหมือนการบันทึกช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงของเมืองทุกวันนี้ ผลงานของเขาอีก 2 ชิ้น จะกระจายอยู่แถวๆ สยามให้ตามหากันได้ เขาคนนี้ยังเคยได้รับรางวัลดีเด่นจากโครงการ Young Thai Artists Award 2018 By SCG มาแล้ว

 

 

วิรดา บรรเจิดรุ่งขจร ศิลปินหญิงจากกรุงเทพฯ กับงาน ‘Find Me a House, 2019’ เธอนำเรื่องราวของการเป็นคนไทย-จีนรุ่นที่ 3 ที่ไม่คุ้นเคยกับรากเหง้า และสิ่งเดียวที่สามารถค้นหาความเป็นตัวตนนี้ได้ที่เธอค้นพบก็คือ การดูหนังจีน กอปรกับพูดคุยกับอาม่า ถือเป็นการออกเดินทางสำรวจความทรงจำของอาม่าที่ฟังมาจากรุ่นบรรพบุรุษรุ่นก่อนหน้าอีกเช่นกัน เธอถ่ายทอด Second Hand Memories เพื่อที่จะเรียนรู้ถึงการลื่นไหลระดับของความจริงที่ต่อยอดไปสู่อะไรบางอย่าง

 

 

วรวุฒิ ช้างทอง ศิลปินจากสมุทรปราการ กับ ‘Day Barber Shop’ ที่นำเสนอถึง ‘การตัดผม’ ถามหาถึงความคลุมเครือและเส้นแบ่งระหว่างพื้นฐานของสถาบันศิลปะและความเป็นกรรมาชีพ เขายังรับตัดผมฟรี ให้ผู้ใช้บริการได้ร่วมวงสนทนาถึงช่วงเวลาของการตัดผม ต่อยอดถึงสิ่งที่รับรู้จากประสบการณ์ ที่อาจส่งต่อไปประเด็นและความเป็นไปได้อื่นๆ อีกด้วย

 

 

ปานวัตร เมืองมูล จากนครปฐม กับผลงาน ‘Identity 2019’ ที่เกิดขึ้นจากความสนใจในพุทธปรัชญา โดยเขาทบทวน รื้อ และสร้างความหมายของคำว่า ‘พุทธศิลป์’ ขึ้นมาใหม่ในนิยามที่ว่า ‘สุนทรียศาสตร์แห่งการรู้ในสัจจะ (ธรรม)’ เขาจึงสำรวจตัวตนทั้งทางรูปธรรม (กาย) และนามธรรม (ใจ) เป็นการสำรวจผ่านกระบวนการที่ใช้แนวทางการปฏิบัติภาวนาคือ ปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐาน นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจตนเองจากคำถามว่า ตัวเราคืออะไร ภาวะไม่มีตัวตนมีอยู่จริงหรือไม่ แล้วตัวเราจะได้อะไรจากการค้นหานี้?

 

 

จัน เพ็ญจันทร์ ลาซูส ศิลปินหญิงที่เกิดในกรุงเทพฯ แต่ไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส กับผลงาน ‘Eye Your Ears’ ที่ทดลองหาความเป็นไปได้ทางกวีของอวัจนภาษา (Non-Verbal Language) เล่นกับความหมายคลุมเครือของภาษาที่นำเสนอผ่านด้วยท่าทาง ซึ่งภาษาที่โครงการนี้จะสำรวจเป็นหลักคือภาษามือไทย (Thai Sign Language: TSL) โดยเธอร่วมงานกับคนหูหนวกและหูตึงที่ใช้ภาษามือไทยเป็นหลัก และจะขยายสู่อวัจนภาษาท่าทางอื่นๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันผ่านวิดีโอขาวดำสองชุด

 

 

ขณะที่ศิลปินจากชัยภูมิ เดชา ดีวิเศษ สนใจความเป็นวิถีชีวิตของบ้านเกิด ผลงานของเขา ‘DE CHA’ จึงเล่าวิถีชีวิตและกิจกรรมของคนในชุมชนทั้งอดีตจนถึงปัจจุบันผ่าน Video Performance เขาต้องการสื่อถึงตัวตนและรากเหง้า โดยทำผ่านการสัมภาษณ์คนรอบตัวบ้าง และผ่านการสังเกตเรื่องต่างๆ รอบบ้าน สื่อถือวิถีของคนธรรมดาๆ ที่ชุมชน และเล่าถึงความลำเค็ญของคนสมัยก่อน การใช้ ‘น้ำ’ แทนความหมายของคนในชุมชนสมัยก่อน ที่ต้องหาบน้ำจากบ่อน้ำ เพื่อใช้สอยในครัวเรือน และต้องพึ่งพาน้ำในการทำนา

 

 

ทิวไพร บัวลอย จากสุราษฎร์ธานี กับผลงาน I Will Always Think of You Fondly’ ที่เกิดจากการค้นพบว่า ภาพและวิดีโอที่ถ่ายเล่นไว้ในช่วงวัยมัธยมจนถึงช่วงมหาวิทยาลัยอันตรธานหายไปจากทุกระบบการบันทึกข้อมูล และไม่สามารถย้อนคืนมาได้ โดยเขามองว่า กลายเป็นเรื่องตลกของยุค 4.0 เพราะทุกวันนี้มนุษย์เราหันมาเก็บแบบดิจิทัลก็ด้วยความเชื่อว่าจะคงทนและยาวนานกว่า แต่กลับเป็นจริงไม่ ทั้งยังมีความเปราะบางและหายไปแบบกู่ไม่กลับอีกด้วย ร่างกายดิจิทัลได้จากไปเสียแล้ว

 

 

ส่วน นัทธมน เปรมสำราญ จากสมุทรสาคร นำเสนอผลงาน ‘Part’ ซึ่งเกิดแนวคิดจากการจากไปของคุณป้าของเธอ ที่ทำให้นัทธมนตั้งคำถามและทราบถึงเรื่องราวของเหยื่อคนถูกอุ้มหายอันเกิดจากบทบาททางการเมืองหรือสังคม ทำให้เธอถ่ายทอดความเป็นตัวตน บวกกับความทรงจำที่เธอมองว่า ถูกฉกฉวยไปอย่างไร้ความสมยอม และการรับมือและเยียวยาของคนที่ยังอยู่ เธอถ่ายทอดเฟสแรกออกมาผ่านบทสนทนา (Dialogue) ที่ถูกบังคับให้กลายเป็นบทพูดเดี่ยว (Monologue) อย่างฉับพลัน และนำเสนอในรูปแบบวิดีโอ

 

 

จัดแสดงถึงเมื่อไร

ใครที่อยากไปชมผลงานของศิลปินหน้าใหม่ไฟแรง และร่วมค้นหาว่า การปฏิบัติจะนำไปสู่อะไรต่อไป? และใครจะเป็นที่หนึ่งที่ได้รางวัลใหญ่ต่อยอดเส้นทางศิลปินที่น่าจับตามองในอนาคต? สามารถไปชมงาน Early Years Project #4 Praxis Makes Perfect กันได้ โดยจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึง 28 กรกฎาคม 2562 ห้องนิทรรศการหลักชั้น 7 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

ภาพ: Courtesy of BACC

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising