×

‘EA’ จับมือสองยักษ์ใหญ่จีน หวังดันไทยเป็นฮับด้านแบตเตอรี่ของอาเซียน คาดรายได้จากธุรกิจ EV ปีนี้แตะ 40-50%

31.07.2023
  • LOADING...

เมื่อปลายปี 2564 บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เริ่มเดินเครื่องการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ภายใต้บริษัทย่อยอย่าง บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ผ่านมาเกือบ 2 ปี โรงงานผลิตแบตเตอรี่ของ EA กำลังเดินหน้าเข้าสู่ระยะที่ 2 ท่ามกลางการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรม EV 

 

“จะพูดเช่นนั้นก็ได้ว่าเรากำลังเข้าสู่เฟส 2 ของธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ หลังจากที่เริ่มเห็นแล้วว่าตลาด EV เติบโตได้แน่ ส่วนหนึ่งจากประเด็นสิ่งแวดล้อม ผลักดันให้หลายบริษัทมีนโยบายที่จะเปลี่ยนมาใช้รถ EV มากขึ้น” อมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH

 

เมื่อตลาดกำลังขยายตัวทำให้บริษัทต้องเร่งขยายเพื่อรองรับความต้องการ และคว้าโอกาสที่กำลังเข้ามา จึงเป็นที่มาของการหาพันธมิตรที่ช่วยให้บริษัทแข็งแรงมากขึ้น ซึ่งก็คือสองบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ของโลกจากจีนอย่าง EVE Energy Co., Ltd. (EVE) ดำเนินธุรกิจด้านการให้บริการเทคโนโลยีด้านแบตเตอรี่ Lithium-ion อันดับ 3 ของจีน มีกำลังการผลิตแบตเตอรี่ไม่น้อยกว่า 360 กิกะวัตต์ ให้บริการแก่แบรนด์รถยนต์ชั้นนำระดับโลก เช่น BMW, Daimler, Hyundai และ Jaguar Land Rover 

 

ส่วนอีกรายหนึ่งคือ Sunwoda Mobility Energy Technology Co., Ltd. (Sunwoda) เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ Lithium-ion สำหรับ EV อันดับ 5 ในประเทศจีน และอันดับ 9 ในตลาดโลก มีกำลังการผลิตแบตเตอรี่ต่อปีมากกว่า 100 กิกะวัตต์ และจะเพิ่มเป็น 138 กิกะวัตต์ ภายในปี 2568 

 

อมรกล่าวต่อว่า “แบตเตอรี่ไม่ใช่เพียงแค่สินค้าระดับประเทศ แต่เป็นสินค้าที่มีความต้องการทั่วโลก และ EA สามารถใช้โอกาสจากข้อตกลง ASEAN Free Trade Area (AFTA) ที่มีอยู่แล้ว เพื่อส่งออกแบตเตอรี่ไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียนโดยไม่มีภาษีการนำเข้าและส่งออก และด้วยโลเคชันที่ดีซึ่งไทยอยู่ตรงกลาง ทำให้เรามีโอกาสจะก้าวไปเป็นฮับด้านแบตเตอรี่ของภูมิภาคได้ก่อนประเทศอื่น” 

 

แต่การจะเป็นศูนย์กลาง (Hub) ได้นั้น เราต้องมีความต้องการในประเทศมากพอด้วย เพื่อแข่งขันกับประเทศอย่างอินโดนีเซียและเวียดนามที่กำลังมุ่งไปสู่จุดนั้นเช่นกัน สำหรับแผนการขยายการผลิตแบตเตอรี่ของ EA ปัจจุบันจะเพิ่มจาก 1 กิกะวัตต์ เป็น 4 กิกะวัตต์ ในช่วงต้นปี 2567 เมื่อรวมกับการจับมือกับสองบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนอีก 6 กิกะวัตต์ ซึ่งจะเริ่มการผลิตได้ในปี 2568 จะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตรวมเพิ่มเป็น 10 กิกะวัตต์ 

 

การขยายตัวของอุตสาหกรรม EV ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนรายได้จากธุรกิจ EV ทั้งหมดของ EA “น่าจะมีสัดส่วนราว 40-50% ของรายได้ในปีนี้ ด้วยราคาขายรถไฟฟ้าต่อหน่วยที่ค่อนข้างสูงราว 4-7 ล้านบาท ทำให้ยอดขายจากธุรกิจ EV เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากปีก่อนที่มีสัดส่วนราว 10-20%” อมรกล่าว

 

ในปีนี้ตลาด EV ขยายตัวค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะรถขนาดใหญ่ หลังจากที่ความกังวลเรื่องเทคโนโลยีลดลง ราคาลดลง และจากแรงหนุนของปัจจัยอื่น เช่น สิ่งแวดล้อม

 

ทั้งนี้ การได้พันธมิตรรายใหญ่จากจีนเข้ามาเสริม ทำให้ EA จะขยายตลาดไปยังรถโดยสารส่วนบุคคลมากขึ้น นอกเหนือจากตลาดรถยนต์เชิงพาณิชย์ เช่น รถบรรทุก รถบัส ที่บริษัทมีความถนัดอยู่ก่อนแล้ว 

 

“สิ่งที่พูดได้ชัดเจนในเวลานี้คือ อุตสาหกรรมแบตเตอรี่เกิดอย่างแน่นอน และมีแนวโน้มเติบโตต่อได้ หลังจากทุกแบรนด์พยายามเร่งขยายการผลิต EV รวมทั้งพยายามคว้าโอกาสและสร้างอำนาจต่อรอง ส่วนการที่ไทยจะก้าวไปเป็นฮับของอาเซียนได้หรือไม่นั้น คงต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน”

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X