บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA รุกสร้าง New S-Curve ครั้งใหญ่ ล่าสุดเริ่มเดินเครื่องโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และระบบกักเก็บพลังงานแบบครบวงจรที่ทันสมัย และมีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยเป็นโรงงานแบตเตอรี่แห่งแรกที่มีกำลังการผลิตสูงถึง 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ในเขตโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเตรียมแผนขยายกำลังการผลิตสู่ 50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีตามแผนในอนาคต หนุน EA ขึ้นแท่นผู้นำด้านนวัตกรรมแบตเตอรี่รายใหญ่ที่สุดของไทยและอาเซียน
ทั้งนี้ โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบสำรองไฟฟ้าแห่งนี้ ดำเนินการโดย บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ EA มีกำลังการผลิตเริ่มต้น 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งระยะแรกนี้มีความพร้อมที่จะขยายกำลังการผลิตได้สูงสุดถึง 4 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีในทันที
โรงงานอมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) มีพื้นที่การผลิตในโรงงานรวมกว่า 80,000 ตารางเมตร เป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนชนิด Pouch Cell และระบบสำรองไฟฟ้าแบบครบวงจรที่ใช้ระบบอัจฉริยะ และระบบการผลิตอัตโนมัติที่ทันสมัยเพื่อให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพสูงสุดและต้นทุนไม่สูง
โรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ในเขต EEC มีขนาดพื้นที่กว่า 90 ไร่ ที่พร้อมรองรับการขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีก 10 เท่า หรือคิดเป็นกำลังการผลิตสูงสุดของภูมิภาคอาเซียนที่ 50 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ตลอดจนอยู่ในพื้นที่ที่มีความพร้อมรองรับการลงทุนของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างระบบนิเวศของ New S-Curve ที่สมบูรณ์
โดยได้ออกแบบให้โรงงานแห่งนี้ใช้ระบบที่ทันสมัย เพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังสามารถปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการผลิตต่างๆ ได้ง่ายเพื่อตอบโจทย์เทคโนโลยีต่างๆ ในอนาคต อีกทั้งโรงงานยังเน้นแนวคิดที่ใช้พลังงานในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ลดของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต โดยมุ่งเน้นการรีไซเคิลในกระบวนการผลิตให้มากที่สุด
ด้านสายการผลิตได้รับความร่วมมือจากบริษัท อมิตา เทคโนโลยี อิงค์ (ไต้หวัน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในไต้หวันมากว่า 20 ปี ที่กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์เข้าไปร่วมทุน ถ่ายทอดประสบการณ์และเทคโนโลยีในการสร้างโรงงานจนเป็นผลสำเร็จ ผ่านบริษัทย่อยชื่อ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่มากขึ้นในระดับ World Class เพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนชนิด Pouch Cell ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ และวัสดุที่มีความปลอดภัยสูงในการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ให้สามารถจุพลังงานได้สูง มีน้ำหนักเบา มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ไม่มีส่วนประกอบของสารที่เป็นอันตราย เช่น กรด หรือตะกั่ว และใช้เทคนิคพิเศษในการผลิตเซลล์ เพื่อให้สามารถคัดแยกแผ่นขั้วบวกและขั้วลบได้ง่ายในขั้นตอนของการรีไซเคิลเมื่อแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งาน จึงทำให้เป็นแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
จุดเด่นของแบตเตอรี่ของอมิตา คือได้รับการออกแบบให้เข้ากับเทคโนโลยีแบบ Ultra-Fast Charge ที่รองรับการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้ภายในเวลาเพียง 15 นาที พร้อมรองรับการชาร์จได้สูงถึง 3,000 รอบ เหมาะสำหรับรองรับการใช้งานของยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจัยเรื่องเวลาเป็นสิ่งสำคัญในการใช้งานอย่างคุ้มค่าที่สุด
แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ผลิตได้สามารถนำไปใช้กับยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า และเรือโดยสารไฟฟ้า เพื่อช่วยในการลดการปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อมที่เกิดจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน โดยแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ผลิตได้ในระยะเริ่มต้น ขนาด 1 กิกะวัตต์ หรือ 1,000,000 กิโลวัตต์ สามารถนำมาใช้ในรถโดยสารไฟฟ้าขนาด 11 เมตร ซึ่งขับเคลื่อนได้ระยะทางสูงสุด 240 กิโลเมตร ได้ถึง 4,160 คันต่อปี และการใช้รถโดยสารไฟฟ้า จำนวน 4,160 คัน สามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (GHG Emission Reduction) ประมาณ 91,709 ตันต่อปี และลดปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลได้กว่า 97,066,667 ลิตรต่อปี เมื่อเทียบกับรถโดยสารที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันดีเซล
สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA กล่าวว่า โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบกักเก็บพลังงาน จะเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) และการนำพลังงานหมุนเวียนที่มีเสถียรภาพเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ความสำเร็จของโรงงานแบตเตอรี่จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย และช่วยสร้าง Product Champion ใหม่ให้กับประเทศ รวมถึงเป็นจุดดึงดูดให้ผู้ผลิตรถยนต์จากต่างประเทศเลือกที่จะปักฐานกำลังการผลิตหลักไว้ที่ประเทศไทย
โดยขณะนี้ EA อยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้าที่แสดงความสนใจ หากเจรจาแล้วเสร็จบริษัทก็จะพิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 2 กิกะวัตต์ ซึ่งน่าจะใช้เวลาลงทุนและติดตั้งเครื่องจักรประมาณ 6-12 เดือนหลังจากเจรจาแล้วเสร็จ ส่วนเป้าหมายกำลังการผลิต 50 กิกะวัตต์ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์นั้น เชื่อว่าจะถึงเป้าหมายเร็วขึ้นหากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ
“นอกเหนือจากศักยภาพในการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ได้เองแล้ว EA ยังคิดไกลแบบก้าวกระโดด ด้วยการขยาย Supply Chain ให้กว้างขึ้น เพื่อช่วยลดต้นทุน ลดขยะและลดการพึ่งพาจากภายนอก โดยมีการสร้างหอกลั่นสาร Solvent ที่ใช้ในกระบวนการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ เพื่อทำให้บริสุทธิ์จนสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทำให้มีของเสียน้อยลง และลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ อีกทั้งยังได้สร้างโรงงานผลิตสาร Electrolyte ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่สำคัญที่เป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพของเซลล์แบตเตอรี่ใช้เองเป็นรายแรกในภูมิภาคอาเซียน ประกอบกับมีทีม In House R&D ทำให้สามารถนำสาร Electrolyte ที่ผลิตเสร็จ มาทดสอบในเซลล์แบตเตอรี่เพื่อวัด Performance ได้ทันที และสามารถคิดค้นพัฒนาสูตรเองให้ดียิ่งขึ้นตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีการนำระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ที่บริษัทผลิตได้เองมาใช้เป็นแหล่งจ่ายไฟฟ้าสำรองให้กับเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีความสำคัญและต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีโรงรีไซเคิลเพื่อลดขยะที่เป็นพิษ เป็นการคิดและออกแบบกระบวนการผลิตแบบครบวงจร ซึ่งเป็นจุดแข็งที่โดดเด่น สามารถเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็น New S-Curve ตามยุทธศาสตร์ของประเทศ ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และสนับสนุนด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดมลพิษและภาวะโลกร้อนให้บรรลุเป้าหมายอย่างแท้จริง” สมโภชน์กล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่สามารถประเมินสัดส่วนรายได้จากธุรกิจ New S-Curve (รถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่) ได้อย่างชัดเจน แต่เป็นแนวโน้มขาขึ้นอย่างแน่นอน ขณะที่ธุรกิจโรงไฟฟ้าจะเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ (Recurring Income) ให้กับบริษัท
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP