ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในงาน Bangkok FinTech Fair 2019 ว่า แบงก์ชาติให้ความสำคัญเรื่องเทคโนโลยีทางการเงิน หรือฟินเทค มาอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นว่าฟินเทคจะช่วยเพิ่มผลิตภาพของภาคการเงินได้ ทำให้ต้นทุนถูกลง ทำให้ระบบเศรษฐกิจดีขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยฟินเทคจะช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง และมีส่วนช่วยในการลดความเสี่ยงทางการเงินได้
ประเทศไทยถือว่ามีพัฒนาการด้านฟินเทคที่ค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ระบบพร้อมเพย์ที่ใช้กันในปัจจุบันเป็นระบบที่ให้บริการประชาชนเป็นระบบแรกของอาเซียน ตั้งแต่เปิดให้บริการมาจนถึงปัจจุบันราว 2 ปีเศษ มีผู้ใช้บริการประมาณ 50 ล้านบัญชี ด้วยการทำธุรกรรมเฉลี่ยวันละ 6 ล้านรายการ ประชาชนได้รับความสะดวกมากขึ้น ต้นทุนการทำธุรกรรมถูกลง ดร.วิรไทกล่าวว่า ประเทศไทยมีต้นทุนการใช้บริการทางการเงินที่ถูกที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจแบบดิจิทัลในอนาคต
เรื่องสำคัญที่ต้องสานต่อคือ การสร้างระบบนิเวศของระบบการเงินดิจิทัล ซึ่งจำเป็นต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ผู้ให้บริการทั้งรายเก่าและรายใหม่สามารถเข้ามาใช้ได้ เช่น ระบบพร้อมเพย์ และระบบกลางในการยืนยันตัวตนดิจิทัลของชาติ (National Digital ID: NDID) ควรมีมาตรฐานกลางเพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกันได้อย่าง Standard QR Code เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เหมาะสม ทั้งจากฝั่งผู้ใช้และผู้ให้บริการ โดยที่ผู้กำกับดูแลเองก็ต้องปรับตัวและปรับกฎเกณฑ์ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง
สำหรับระบบการยืนยันตัวตนดิจิทัล เป็นกลไกพื้นฐานที่สำคัญที่จะช่วยทำให้การทำธุรกรรมเร็วขึ้น ลดต้นทุนของประชาชนและมีความปลอดภัย ระบบการยืนยันตัวตนดิจิทัลจึงเป็นกลไกพื้นฐานที่สำคัญที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาของฟินเทค สร้างระบบนิเวศใหม่ให้ระบบการเงินดิจิทัล โดยคาดว่าการยืนยันตัวตนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-KYC ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างทดลองในแซนด์บ็อกซ์จะได้นำออกมาใช้จริงสิ้นปี 2562 นี้
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- ธนาคารแห่งประเทศไทย