×

รู้หรือไม่ โลกนี้มีหลายประเทศให้สิทธิลางาน เพราะเหตุจากปวดประจำเดือนได้

25.09.2023
  • LOADING...
ปวดประจำเดือน ลางาน

โดยทั่วไประยะเวลาเฉลี่ยของประจำเดือนประมาณ 5-7 วัน อาการปวดประจำเดือนของผู้มีประจำเดือน (Dysmenorrhoea) อาจจะเริ่มปวดเมื่อใกล้ๆ จะมีประจำเดือน หรือปวดขณะมี ซึ่งความรู้สึกปวดมากน้อยก็แล้วแต่คน ซึ่งบางคนอาจรู้สึกเล็กน้อย อดทนได้ บางคนอาจปวดทรมานจนวันนั้นไม่สามารถทำอะไรได้

 

จากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2020 ระบุว่า อาการปวดประจำเดือนอาจ ‘เลวร้ายพอๆ กับอาการหัวใจวาย’ 

 

อย่างไรก็ตาม อาการที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือนนั้นถูกประเมินต่ำไปอย่างมาก หรือถูกมองข้าม แล้วมองว่าเป็นเงื่อนไขส่วนบุคคล ทำให้ความเจ็บปวดจากการมีประจำเดือนไม่ถูกให้ความสลักสำคัญใดๆ ในระดับสวัสดิการ ขณะที่ความเจ็บไข้ได้ป่วยไม่ว่าจากโรคระบาดหรืออุบัติเหตุได้รับการคุ้มครองโดยภาครัฐและเอกชนมากกว่า

 

จากการสำรวจผู้หญิงชาวดัตช์ 32,748 คน อายุระหว่าง 15-45 ปี ในปี 2019 ลงตีพิมพ์ในวารสาร British Medical Journal พบว่า 14% หยุดงานหรือเรียนในช่วงเวลาที่พวกเธอมีประจำเดือน ส่วนใหญ่โทรศัพท์มาแจ้งว่า ‘ลาป่วย’ มีเพียง 20% เท่านั้นที่ให้เหตุผลที่แท้จริง ร้อยละ 3.4 กล่าวว่าพวกเธอต้องหยุดงานเกือบทุกรอบเดือน ร้อยละ 81 ยอมรับว่าทำงานในขณะที่ปวดประจำเดือน ในช่วงเวลาของพวกเขา และรายงานว่าประสิทธิภาพการทำงานลดลง

 

จากการสำรวจ ประมาณ 68% ต้องการมีตัวเลือกในการทำงาน หรือชั่วโมงเรียนที่ยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อผู้หญิง เพราะการทำงานหรือเรียนหนังสือในช่วงมีประจำเดือน ทำให้ประสิทธิภาพของเธอลดลง

 

แม้การมีประจำเดือนจะให้ความรู้สึกปวด แต่ไม่ใช่ความป่วยไข้ และไม่ใช่ความอ่อนแอของเพศที่มีประจำเดือนก็ตาม การที่ต้องหยุดเรียน หยุดงานในช่วงมีประจำเดือน ซึ่งนำไปสู่การขาดรายได้ หรือเสียโควตาลาป่วย ก็เป็นเรื่องที่ไม่เท่าเทียมกันตั้งแต่แรกของคนที่มีประจำเดือนกับคนไม่มีประจำเดือน

 

สิทธิลางานเพราะปวดท้องประจำเดือนถูกนำเสนอครั้งแรกในรัสเซียในช่วงปี 1880-1927 ด้วยสำนึกที่จะปกป้องหน้าที่การสืบพันธุ์ของแรงงานหญิงในช่วงเวลาของประเทศที่กำลังมี Industrialization อย่างรวดเร็ว ซึ่งออกเป็นกฎหมายในบางสาขาอาชีพ การทำงานหนักในช่วงมีประจำเดือน ถูกมองว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะเจริญพันธุ์ระดับชาติ และด้วยบริบทของการปฏิวัติรัสเซีย การสูญเสียประชากรที่เกิดขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามกลางเมืองที่ตามมาภายหลัง ทำให้รัฐบาลส่งเสริมอนามัยเจริญพันธุ์ และการคลอดบุตร

 

ประเทศตัวอย่าง

 

การลาปวดท้องประจำเดือนถือว่าเป็นสิทธิหนึ่ง เป็นนโยบายเอกชนและกฎหมายแรงงานในหลายแห่ง โดยเฉพาะในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อินเดีย, ไต้หวัน และอินโดนีเซีย

 

ญี่ปุ่น มีกฎหมายนี้ตั้งแต่ปี 1947 ในฐานะสิทธิแรงงาน หลังพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 และประสบปัญหาการสูญเสียประชากรจำนวนมาก มีกฎหมายที่อนุญาตให้แรงงานหญิงลางานเพราะความเจ็บปวดจากการมีประจำเดือนได้ เรียกว่า ‘Seirikyuuka-Physiological Leave’ แรงงานจะต้องขอลากับนายจ้างโดยตรง หากแต่การพูดถึงประจำเดือนยังเป็นเรื่องต้องห้าม ละเอียดอ่อน และเป็นเรื่องส่วนตัวของวัฒนธรรม อีกทั้งนายจ้างผู้จัดการส่วนใหญ่ก็ดันเป็นผู้ชาย แรงงานหญิงจึงไม่ต้องการที่จะบอกกับหัวหน้าของเธอโดยตรง และมีหลายคนไม่รู้ถึงนโยบายนี้ เพราะไม่มีการให้ข้อมูล และไม่มีข้อกำหนดให้บริษัทหรือนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างในช่วงที่แรงงานหยุด จากการสำรวจในปี 2017 จึงพบว่ามีเพียง 0.9% เท่านั้นที่ขอลาเพราะปวดประจำเดือน

 

เกาหลีใต้ ตามกฎหมายแรงงาน Article 71 of the Labour Standards Law เริ่มมีนโยบายนี้ตั้งแต่ปี 2001 จากการสำรวจในปี 2013 แรงงานหญิงเคยลาเพราะความปวดประจำเดือน 23.6% ในปี 2017 พบว่า 19.7%. ออกกฎหมายเพื่อแรงงานหญิง หากแรงงานหญิงไม่ลาจะได้ค่าจ้างเพิ่มในเดือนนั้น

 

ไต้หวัน แรงงานหญิงสามารถหยุดงานได้ 3 วันต่อปี นอกเหนือจาก 30 วันของแรงงานลาป่วย ที่ได้รับค่าจ้างเพียงครึ่งเดียว

 

อินโดนีเซีย แรงงานหญิงได้รับการอนุญาตให้ลาปวดประจำเดือนได้ เดือนละ 2 วัน ตามมาตรา 81 ของกฎหมายแรงงาน No. 13/2003 และ Labour Act (No. 12/1948)

 

อินเดีย กฎหมายชื่อว่า The Menstruation Benefit Bill, 2017 ถูกนำเสนอในสภาล่าง ด้วยข้อคำนึงว่าเด็กและผู้หญิงเป็นกลุ่มเปราะบางต่อการถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในทางปฏิบัติและแนวคิดทฤษฎีสตรีนิยม อย่างไรก็ตามก็มีหลายบริษัทเอกชนได้ออกกฎในบริษัทที่อนุญาตให้แรงงานหญิงลาปวดท้องประจำเดือนแล้ว เช่น บริษัทไรเดอร์หญิง Swiggy ที่ให้แรงงานลาได้ 2 วันต่อเดือนโดยไม่หักค่าแรง ตั้งแต่ปี 2021, ในปี 2017 บริษัทสื่อดิจิทัล Culture Machine ให้แรงงานหยุดงานได้ในวันแรกของวันที่มีประจำเดือน, ในปีเดียวกันนิตยสารออนไลน์ Magzter ที่ให้ลูกจ้างลาปวดประจำเดือนได้วันที่ 1-2 ของรอบเดือน, บริษัทไรเดอร์ Zomato ให้ลูกจ้างลาได้ 10 วัน ตั้งแต่ปี 2020, IndustryARC บริษัทวิจัยการตลาดและการให้คำปรึกษาเชิงกลยุทธ์สำหรับ Start-up

 

ในแอฟริกา รัฐบาลแซมเบีย ประกาศกฎหมายในปี 2015 ให้แรงงานหญิงมีสิทธิได้รับวันหยุดในแต่ละเดือนจากการมีประจำเดือน ซึ่งใช้คำว่า ‘วันแม่’ (Mother’s Day) และมีบทการดำเนินคดีและลงโทษสำหรับนายจ้างที่ปฏิเสธลูกจ้างหญิงลา ซึ่งบังคับใช้กับผู้หญิงทำงานทุกคนอย่างถูกกฎหมาย ไม่ว่าพวกเขาจะมีลูกหรือไม่ก็ตาม ด้วยมายาคติที่ว่า การได้พักผ่อนในช่วงมีประจำเดือนช่วยส่งเสริมการเจริญพันธุ์ อันเป็นชุดอธิบายทางการแพทย์ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ดังจะเห็นได้จากนโยบายของรัสเซียและญี่ปุ่น

 

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเคลื่อนไหวสตรีนิยม Victorian Women’s Trust ที่ก่อตั้งตั้งแต่ปี 1985 ในรัฐวิกตอเรีย ออสเตรเลีย เริ่มเคลื่อนไหวในปี 2013 เพื่อให้รัฐบาลออกกฎหมายอนุญาตให้แรงงานหญิงที่มีประจำเดือนสามารถทำงานจากที่บ้าน หรือให้วันลาเมื่อมีประจำเดือน โดยได้รับค่าจ้างสูงสุด 12 วันในแต่ละปี 

 

ขณะที่ทางฝั่งยุโรป รัฐสภาอิตาลี เสนอนโยบายนี้ในปี 2017 ที่ร่างกฎหมายกำหนดให้บริษัทต่างๆ กำหนดวันลางาน 3 วันต่อเดือนโดยได้รับค่าจ้าง สำหรับผู้หญิงที่ปวดท้องประจำเดือนอย่างรุนแรง จนกลายเป็นที่ถกเถียงและยังไม่ได้ประกาศใช้ กระทั่งในปี 2023 รัฐบาลสเปนผ่านกฎหมายให้แรงงานหญิงมีสิทธิลาปวดประจำเดือน 3-5 วันต่อเดือน ระหว่างมีประจำเดือน โดยยังได้รับค่าจ้าง หากแต่ยังต้องมีใบรับรองแพทย์

 

ข้อโต้แย้ง

 

แม้นโยบายและกฎหมายแรงงานลาปวดประจำเดือน จะเป็นการสร้างสวัสดิการที่คำนึงถึงแรงงานที่หลากหลาย หากแต่กลับถูกมองว่าเป็นความเพ้อฝัน มีบางกลุ่มที่โต้แย้งว่า สิทธิลาป่วยก็ได้ครอบคลุมถึงปัญหาสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีสิทธิลาหยุดเพราะปวดประจำเดือน แต่ข้อโต้แย้งนี้จะเท่ากับว่าผู้หญิงมีวันลาเนื่องด้วยสุขภาพน้อยกว่าผู้ชาย เหตุเพราะผู้ชายไม่มีประจำเดือน และเป็นการตระหนักถึงประจำเดือนในฐานะความป่วยไข้มากกว่าเป็นเรื่องเงื่อนไขทางร่างกาย

 

นอกจากนี้ยังมีข้อโต้แย้งอีกว่า สิทธิลาปวดประจำเดือนเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศในสถานที่ทำงาน ที่กำหนดระดับทางชีวภาพทางเพศว่ามีผลต่อศักยภาพในการทำงานและการผลิตงาน ทำให้ถูกมองว่าผู้หญิงมีศักยภาพในการทำงานน้อยกว่าผู้ชาย ผลิตงานได้น้อยกว่า มีความอ่อนแอโดยธรรมชาติ รวมไปถึงต้นทุนการจ้างที่สูงกว่าแรงงานชายเมื่อเทียบกับระยะเวลาการทำงาน นำไปสู่การไม่จ้างผู้หญิงทำงาน เพราะนายจ้างต้องการแรงงานที่สามารถผลิตงาน และทำงานได้เต็มที่ตามความต้องการ เช่นเดียวกับกรณีการลาคลอด

 

นอกจากนี้ยังทำให้ถูกมองว่า ประจำเดือนคือโรคภัยไข้เจ็บชนิดหนึ่งมากกว่าเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ในวัยเจริญพันธุ์ ในบางวัฒนธรรมที่รังเกียจเลือดประจำเดือน และมักกีดกันผู้หญิงที่มีประจำเดือนเข้าสังคมหรือสัมผัสเครื่องอุปโภคบริโภคด้วยความเชื่อก่อนสมัยใหม่ ว่าจะนำความอัปมงคลมาสู่ชุมชนและคนใกล้ชิด ยิ่งตอกย้ำว่าประจำเดือนสกปรกจนไม่ควรให้ผู้หญิงในช่วงมีประจำเดือนผลิตงาน สัมผัสอุปกรณ์ในการทำงาน หรือปรุงอาหาร ในกรณีอาชีพแม่ครัวในอินเดียและแอฟริกา

 

สรุป

 

อย่างไรก็ตาม ในกระแสทุนนิยมโลก การออกแบบการทำงานและการผลิตของประเทศ ได้กำหนดพื้นที่การผลิตนอกบ้านเป็นบทบาทของผู้ชาย การผลิตภายในบ้านเป็นบทบาทของผู้หญิง พื้นที่และโครงสร้างการทำงานนอกบ้านที่ผ่านมาจึงออกแบบเพื่อผู้ชายเท่านั้น ไม่ได้เพื่อผู้หญิง และเมื่อบริบทสังคมมีวิวัฒนาการ สถานภาพ สิทธิ และเสรีภาพของผู้หญิงได้รับการยกระดับ และเข้ามาเป็นแรงงานหนึ่งของการผลิตทุนนิยม และอุตสาหกรรม หากแต่โครงสร้างและพื้นที่ทำงานยังไม่ได้รับการพัฒนาตามบริบทสังคมเท่าที่ควร การมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานหญิงในเรื่องลาปวดประจำเดือนจึงเป็นการพัฒนาโครงสร้างการผลิตที่สอดคล้องกับเพศสภาพ และเพศสรีระที่หลากหลายของแรงงาน 

 

มากไปกว่านั้น สวัสดิการจำเป็นต้องมีความหลากหลาย และคำนึงทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม การมีสิทธิแรงงานลางานเนื่องจากความเจ็บปวดจากการมีประจำเดือน ถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญของความเท่าเทียมทางเพศในสถานที่ทำงาน และเป็นการสร้างอำนาจในการเพิ่มสิทธิในการเลือกตัดสินใจ และการกำหนดเงื่อนไขทางชีวภาพได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าแรงงานหญิงจะใช้สิทธินั้นหรือไม่ก็ตาม แต่สถานที่ทำงานควรได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงความเหมาะสม และความสะดวกสบายต่อร่างกายมนุษย์ และตัวตนที่หลากหลายของแรงงาน เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการผลิตงาน และเป็นการสนับสนุนการทำงานนอกบ้านของผู้หญิง ซึ่งการทำงานนอกบ้านของผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงมีรายได้ด้วยตัวเอง มีอำนาจในการจับจ่าย ตอบสนองความต้องการและบริโภคของตนเอง ตัดสินใจในการเลือกเพื่อตัวเธอเอง ไม่อยู่ในภาวะพึ่งพิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ชาย

 

อ้างอิงและอ่านเพิ่มเติม:

  • Jincy Thomas and Ansa Augustin. (2018). A Study on the Perception of Men and Women on Availing Menstrual Leave at Work Place. Int.J.Curr.Res.Aca.Rev. Special Issue 5. P. 70-79 
  • Priya Bhalerao And Aayush Shah. (2020). Menstrual Leave – Regressive or Progressive? International Journal of Law Management & Humanities. Volume 3 Issue 5. p. 827-835.
  • Sally King. Menstrual Leave: Good Intention, Poor Solution. Juliet Hassard  and Luis D. Torres (Editors). Aligning Perspectives on Health, Safety and Well-Being. Springer: Switzerland, 2021.
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising